ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง สมุทรปราการ และ ต.บางแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พ.ศ. ….
การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ครม.มีมติ อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ ต.สำโรงเหนือ อ.เมืองสมุทรปราการ และต.บางแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พ.ศ. ….ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ และตำบลบางแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้ คค. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
3. ให้กรมทางหลวงชนบทถือปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฯ ฉบับใหม่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวัน ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาจะสิ้นผลใช้บังคับตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 โดยเคร่งครัด ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ และตำบลบางแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขยายทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3344 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการขยายทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3344 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บนทางหลวงชนบท สป. 4002 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3344 ปัจจุบันเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ซึ่งเชื่อมโยงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3344 กับถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ มีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดความคับคั่งไม่สะดวกในการเดินทาง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้ใช้เส้นทาง อีกทั้งยังเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเพิ่มจำนวนช่องจราจรและเพื่อรองรับปริมาณการจราจรในอนาคต
2. ได้มีประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ และตำบลบางแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2558 เพื่อขยายทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3344 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 63 ก ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 มีกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับ 4 ปี โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 และสิ้นสุดระยะเวลาใช้บังคับวันที่ 14 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน โดยมีผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดจำนวน 572 ราย มีผู้ถูกเวนคืนมาตกลงทำสัญญาซื้อขายจำนวน 433 ราย และยังไม่มาตกลงทำสัญญาซื้อขายจำนวน 139 ราย แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าว กรมทางหลวงชนบทอยู่ระหว่างดำเนินการทำสัญญาและการจ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ และยังมีผู้ถูกเวนคืนหลายรายที่ยังไม่มาตกลงทำสัญญาซื้อขายกับกรมทางหลวงชนบท ส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้กับผู้ถูกเวนคืนที่ยังไม่มาตกลงทำสัญญาได้ทันภายในระยะเวลาใช้บังคับของพระราชกฤษฎีกา ประกอบกับยังทำการสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนยังไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกา
3. กรมทางหลวงชนบทพิจารณาเห็นว่าการขยายทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3344 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 ยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการสำรวจข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการขยายทางหลวงชนบทสายดังกล่าว เพื่อให้การขยายทางหลวงชนบทตามโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งทางบกอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค และเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด
4. กรมทางหลวงชนบทได้ศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจในการดำเนินโครงการ พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) มีค่า 662.49 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ (EIRR) มีค่า 14.48% อัตราผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) มีค่า 3.68 ซึ่งถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ
5. ลักษณะของโครงการ เป็นการขยายถนน ขนาด 4 ช่องจราจรชนิดผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่องจราจรกว้าง 3.25 – 3.50 เมตร เกาะกลางกว้าง 2 – 4.20 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 2.50 เมตร เขตทางกว้าง 24- 27.20 เมตร รวมระยะทางประมาณ 8.192 กิโลเมตร มีที่ดินที่ถูกเวนคืนประมาณ 32 ไร่ 1 งาน 55.70 ตารางวา มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 754 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 1,387.2989 ล้านบาท
6. กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นโดยรวมมีผู้เห็นด้วยกับโครงการ ร้อยละ 94.12
7. สำนักงบประมาณพิจารณาแล้ว เห็นควรที่กรมทางหลวงชนบทจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจะต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ทางราชการและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ