ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ชี้ปี’68 เป็นปีแห่งความท้าทายของตลาดอสังหาฯเน้นสภาพคล่อง ชูกลยุทธ์ Survivor แข่งเพื่อความอยู่รอดในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนรุนแรง
ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มองเศรษฐกิจไทยปี 2568 เป็นปีแห่งโอกาสสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยเฉพาะกลุ่ม Real Demand ที่ยังมีความต้องการที่แข็งแกร่ง ประกอบกับปัจจัยบวกจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การเพิ่มขึ้นของการลงทุนของภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ขยายตัว และอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับลดลง เตรียมเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่ 6-8 โครงการ มูลค่ารวม 4,000 – 5,000 ล้านบาท พร้อมปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดผ่าน Digital Transformation, Big Data และ CRM เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่คล่องตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “National Property Company” และแนวทาง ESG ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ

ไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ LALIN เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตจาก 2.7% เป็น 2.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาถึง 40 ล้านคน การเพิ่มขึ้นของการลงทุนของภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ขยายตัวมีการลงทุนใหม่ ๆ และอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงจับตามองปัจจัยเสี่ยง เช่น สงครามการค้า (Trade War) ที่กลับมารุนแรง ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ความเสี่ยงจากแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าคาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แนวโน้มการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจจีน และภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง

“ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นคุณภาพและความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “National Property Company” โดยมุ่งเน้นการบริหารงานตามหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปี 2568 ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “Year of Competitive Survival with Quality, Lean and Innovation for Resilience & Sustainable Growth”
เพื่อนำพาองค์กรเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป เราพร้อมปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจ ทั้งด้านการตลาดแบบ Lifestyle & Experience Marketing, การใช้ Big Data
เพื่อเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค และการพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ เราเชื่อว่าปี 2568 จะเป็นปีแห่งโอกาสสำคัญของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ไชยยันต์ กล่าว

ในปี 2568 ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มีแผนเปิดโครงการใหม่ 6-8 โครงการ มูลค่ารวม 4,000-5,000 ล้านบาท เน้นทำเลเดิมที่บริษัทฯ เคยมีโครงการเป็น Priority แรก และ2. เลือกทำเลที่เป็น Land Bank ได้แก่ ทำเลย่านสมุทรปราการ นนทบุรี และเพชรเกษม โดยตั้งเป้ายอดขาย 5,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่ 10% ขณะที่คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 นี้ เติบโต 3-4% และรับรู้รายได้ 4,050 ล้านบาท มี Backlog 800-900 บาท ปัจจุบันมี Land Bank 80% ที่เหลือ 20% ใช้งบซื้อที่ดิน 500-800 ล้านบาท
“ปีนี้เป็นปีแห่งความท้าทาย มีการคาดการณ์ตัวเลขGDP ปี 2568 ที่2.5% ดูจากจำนวนนักท่องเที่ยว 38-39 ล้านคน คิดเป็น 1.8% แล้ว ที่เหลือ 0.7% เป็นเค้กที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องแบ่งกัน ดังนั้นสภาพคล่องจึงสำคัญที่สุด เป็นกลยุทธ์ Survivor แข่งเพื่อความอยู่รอดในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนรุนแรง หลายบริษัท Lean องค์กรและลดคนไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง โดยภาพใหญ่ของบริษัทฯ สิ้นปี 2568 จะมี Cash inflow มากกว่า Cash outflow” ไชยยันต์ กล่าว

ด้านชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ที่ 3.1% ส่งผลให้ภาพรวม GDP ทั้งปี 2567 อยู่ที่ 2.5% โดยในปี 2568 นี้บริษัทฯมีการบริหารงานเน้น ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยผู้ซื้อในกลุ่ม Real Demand ต้องการบ้านที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ยืดหยุ่นขึ้น เช่น การมีพื้นที่ Work from Home พื้นที่สีเขียว และบ้านแนวคิด Green Living Standard ซึ่งเป็นแนวทางที่ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ให้ความสำคัญและนำมาใช้ในการพัฒนาโครงการใหม่ๆมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ปรับกลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้นด้วย Lifestyle & Experience Marketing และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า โดยได้นำ Digital Marketing, Brand Collaboration, CRM และ Big Data รวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการออกแบบบ้าน และวางแผนทางด้านการตลาด เพื่อเกิดไอเดียใหม่ๆในการทำงาน ซึ่งจะเป็นแนวทางและองค์ประกอบสำคัญในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจและเข้าถึงลูกค้าได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
แนวคิดที่ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ นำมาใช้ในปีนี้ คือการปรับองค์กรให้เป็น Agile Organization ผ่านกระบวนการ Digital Transformation ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น (Flexible) คล่องตัว (Agile) และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็ว
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงานทำให้ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ สามารถพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น โดยมุ่งเน้นใน 2 ด้านหลัก คือ Design & Innovation ออกแบบบ้านที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ ทั้งด้านความสวยงาม ฟังก์ชันการใช้งาน และการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า ใช้วัสดุและเทคโนโลยีก่อสร้างที่มีนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อให้บ้านมีความทนทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมออกแบบพื้นที่ให้เหมาะกับการใช้ชีวิตยุคดิจิทัล เช่น มีพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตแบบ ฟังก์ชันที่ฉลาดและยืดหยุ่น (Hybrid Smart & Flexible Function ) สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยได้ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยพื้นที่ในบ้านสามารถรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์ หรือการพักผ่อนอย่างเป็นส่วนตัว
“แนวคิดนี้สามารถพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างแท้จริง ทั้งยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลายกระดับมาตรฐานของโครงการ ตอบสนองต่อ เทรนด์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า และทำให้โครงการของ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มีความโดดเด่นในตลาด ทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่ง” ชูรัชฏ์ กล่าว
สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 คือ ต้องการให้ภาครัฐนำมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เป็น 0.01% และปรับลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ที่เพิ่งหมดไปเมื่อ 31 ธันวาคม 2567 ปรับมาใช้อีก รวมทั้งกระตุ้นให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากในปี 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อมาก ขณะที่ลลิลมีลูกค้าที่ต้องกู้เงินผ่านธนาคาร 70-80%