News

รมช.คมนาคม เปิดท่าเทียบเรือวุฒากาศ ศูนย์กลางเชื่อมต่อล้อรางเรือรองรับวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

“กรมเจ้าท่า”ได้ฤกษ์เปิดท่าเทียบเรือวุฒากาศ ยกระดับมาตรฐานโครงสรางพื้นฐานคมนาคมทางน้ำ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ เรือโดยสาร – รถประจำทาง – รถไฟฟ้า รองรับการสัญจรทางน้ำที่ขยายตัวต่อเนื่อง

กรุงเทพฯ –มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเทียบเรือวุฒากาศ เพื่อยกระดับมาตรฐานของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางน้ำ และการให้บริการด้านคมนาคมทางน้ำในการเปลี่ยนผ่านระบบขนส่งสาธารณะระหว่างล้อ ราง เรือ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมกิจ ในการพัฒนาท่าเทียบเรือทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมเมืองและการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่มีความเร่งรีบในการเดินทาง

มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า ดำเนินการพัฒนาท่าเรือเป็นสถานี       เรือโดยสารอัจฉริยะ โดยโฉพาะโครงการพัฒนาระบบขนส่งโดยสารทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสำคัญ ที่ใช้ในการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะการคมนาคมทางน้ำและการให้บริการของกรมเจ้าท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด      เพื่อรองรับกับการสัญจรทางน้ำที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

กริชเพชร ชัยช่วย  อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือวุฒากาศ เป็นหนึ่งของโครงการก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือในคลองบางขุนเทียนเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม(สายสีลม)  เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยสามารถเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างเรือโดยสาร รถโดยประจำทาง และรถไฟฟ้า ช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ

“ปัจจุบันพื้นที่บริเวณใต้สะพานสถานีรถไฟฟ้าวุฒากาศ ริมคลองบางขุนเทียน ยังไม่มีท่าเรือหรือโป๊ะเทียบเรือที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมองว่าโครงการนี้จะรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเชื่อมโยงระบบล้อ ราง เรือ ซึ่งจะช่วยลดทั้งเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อีกด้วย”  กริชเพชร กล่าว

สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือวุฒากาศ ตั้งอยู่บริเวณใต้สะพานสถานีรถไฟฟ้าวุฒากาศ ริมคลองบางขุนเทียน เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ประกอบด้วย การก่อสร้างชานพักสำหรับเป็นทางขึ้น-ลง ขนาด 2.40 X 3.20 เมตร จำนวน 1 ชุด การก่อสร้างโป๊ะ ขนาด 3.00 x 6.00 x 1.20 เมตร จำนวน 1 โป๊ะ และการก่อสร้างสะพานปรับระดับ 1.20 x 8.00 เมตร จำนวน 1 สะพาน ภายใต้งบประมาณการก่อสร้าง จำนวน 1,750,000 บาท ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 150 วัน  มีบริษัท สกาย มารีน จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโดยมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุรับมอบงานงวดสุดท้ายไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567