กทม.หารือ สกสว.วางศิลปะบนฝาท่อ หมุดหมายทางวัฒนธรรมย่านเยาวราช-เจริญกรุง
กรุงเทพมหานคร (กทม.) จับมือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และนักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร หารือการวางศิลปะบนฝาท่อให้เป็นหมุดหมายทางวัฒนธรรมย่านเยาวราช–เจริญกรุง ในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ที่มีอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ยาวนาน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะ พร้อมด้วย รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล นักวิจัยจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อหารือเรื่องการขยายผลงานวิจัย โดยนำเทคโนโลยีและศิลปะมาพัฒนาเมืองผ่านประติมากรรม ซึ่งมีขอบเขตพื้นที่ที่ศึกษา คือ เยาวราช-เจริญกรุง และสำเพ็ง โดยใช้แผนที่ทางวัฒนธรรม โดยมีศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล นักวิจัยจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมด้วย ณ ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร
สำหรับแผนงานวิจัยดังกล่าวได้ดึงนักวิจัยชั้นนำของมหาวิทยาลัยศิลปากรจากหลายสาขามาร่วมดำเนินการเก็บข้อมูลภาคสนามจนได้ข้อมูลที่กทม.สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มเติมจากข้อมูลของยูเนสโกเกี่ยวกับอาคารเก่าทรงคุณค่าและโบราณสถาน การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัตถุดิบอาหาร และเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของอัตลักษณ์ของย่านเยาวราช-เจริญกรุง ที่จะดึงมาใช้เพื่อสื่อสารผ่านศิลปะได้มี 4 ประเภท คือ 1.สถานที่สำคัญของย่านในอดีต เช่น น้ำพุวงเวียนโอเดียน ประตูสามยอด ห้างขายยา เป็นต้น 2. สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น ลวดลายจีน อักษรที่เป็นมงคล หน้ากากงิ้ว เป็นต้น 3. กิจกรรมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น รถเข็นจีน รถราง เป็นต้น 4. อาชีพและสินค้าที่เป็นที่นิยมและสร้างสรรค์ในย่าน เช่น ผลไม้จีน เครื่องยาจีน โคมไฟจีน ย่านทำตะเกียง อัญมณี เป็นต้น โดยประติมากรรมผ่านฝาท่อดังกล่าวจะต้องรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของเยาวราชควบคู่กับการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน พร้อมกับข้อมูลในรูปแบบคิวอาร์โค้ดซึ่งสามารถสื่อสารได้ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถศึกษาข้อมูลผ่านคิวอาร์โค้ดบนฝาท่อ นอกจากนี้ยังจัดการฐานข้อมูลและพัฒนาให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานในเว็บไซต์และแผนที่ทางวัฒนธรรม (Cultural Map) ได้
รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล นักวิจัยจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เสนอว่าระยะต่อไปเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองน่าจะมีมากกว่าสตรีทอาร์ต ตลอดจนการเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อประเมินคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม สุนทรียศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม วิทยาการและการศึกษา ซึ่งคณะวิจัยพร้อมที่จะมอบข้อมูลในคิวอาร์โค้ดและเว็บไซต์ให้กทม.เป็นผู้ดูแลต่อไป
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ข้อเสนอแนะว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างมูลค่าให้กับประติมากรรมดังกล่าว ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้าใจลึกซึ้งถึงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้มีความน่าสนใจและเสพข้อมูลได้ง่าย เช่น ทำข้อมูลติดไว้ในบริเวณพื้นที่ติดตั้งฝาท่อ หรือทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ดังกล่าวได้
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ต้องการให้มีการสนับสนุนคนท้องถิ่นดั้งเดิมในชุมชนย่านนั้นให้รวมตัวกันเพื่อร่วมให้ข้อมูลของชุมชน รวมถึงร่วมดูแลและสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนร่วมกันด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านฐานข้อมูลที่สำคัญและเป็นการร่วมอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ย่านดังกล่าวให้คงอยู่ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครและนักวิจัยจะร่วมกันสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในย่านเยาวราช-เจริญกรุง เพื่อร่วมการจัดทำออกแบบฝาท่อและจุดพื้นที่วางประติมากรรมดังกล่าวอย่างเหมาะสมต่อไป