Wednesday, December 4, 2024
Latest:
News

ส่องไอเดีย 3 สถาปนิกไทยสร้างสรรค์ผลงานออกแบบยอดเยี่ยมคว้า 3 รางวัล การประกวด TOSTEM Asia Design award 2024 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ทอสเท็ม พาส่องไอเดียสร้างสรรค์ และร่วมยินดีกับ 3ผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวไทย คว้ารางวัลในงานTOSTEM Asia Design Award (TADA) 2024ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2กับงานประกวด ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยทั่วภูมิภาคเอเชีย เพื่อร่วมยกย่องเหล่าสถาปนิกที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับความสะดวกสบายและคุณภาพการอยู่อาศัยมีผลงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ผ่านการออกแบบที่สร้างสรรค์มีนวัตกรรม และมุ่งเน้นการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

นายวิชา วรสายัณห์ ลีดเดอร์ กลุ่มธุรกิจเฮาส์ซิ่งเทคโนโลยี บริษัท แอล เอช ที เอเซีย เซลส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมสำเร็จรูป แบรนด์ ทอสเท็ม (TOSTEM) เปิดเผยว่า กิจกรรมการประกวด TOSTEM Asia Design Award (TADA) 2024 เป็นการประกวดสถาปัตยกรรมระดับเอเชีย ครั้งที่ 2 โดยรวบรวมผลงานของสถาปนิกทั่วเอเชีย ทั้งอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไต้หวัน และ ไทย ร่วมส่งผลงานการออกแบบ ของสถาปนิกที่มีประสบการณ์ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ TOSTEM ซึ่งผลงานเหล่านั้นควรสะท้อนถึง ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ หรือแสดงการออกแบบในรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมที่พิถีพิถัน คำนึงถึงบริบททางสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ลึกซึ้ง และทุกผลงานที่ส่งเข้าร่วมต้องแสดงถึงศักยภาพของการออกแบบที่ใช้ผลิตภัณฑ์ TOSTEM ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ แสดงการผสานผลิตภัณฑ์ให้เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น พร้อมในการสนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า

โดยในปีนี้ทาง TOSTEM มีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ชนะจากการประกวด TADA 2023 มาร่วมคัดเลือกผลงานของสถาปนิกที่ชนะรางวัลในปีนี้ด้วย พร้อมรางวัลในปีนี้ที่แบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ รางวัล Building of the Year และ Special Mention for Sustainable Living ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวไทย สามารถสร้างชื่อเสียงคว้ารางวัลมาได้ถึง 3 ผลงานด้วยกัน จากผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 10 รางวัล ประกอบไปด้วยผลงานดังนี้

รางวัล Building of the Year
ชื่อผลงานโปรเจกต์ “Dog/Human” จาก EKAR – Architects
สถาปนิกผู้ออกแบบ นายเอกภาพ ดวงแก้ว

ผลงานที่สร้างความประทับใจจากแนวคิดการออกแบบบ้านที่ผสานมนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติอย่างลงตัว การออกแบบสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงทัศนวิสัยและการสื่อสารระหว่างมนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยโจทย์ของการออกแบบในโปรเจกต์นี้มาจากลูกค้ามีความตั้งใจที่จะสร้างบ้านไม่ใช่แค่เพื่อมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุนัขของเขาและสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของคนอื่นๆ ด้วย บ้านหลังนี้จึงถูกออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัยของสุนัขด้วย โดยพื้นที่หลักซึ่งรวมถึงพื้นที่รับรองทางเข้าหลัก และที่อยู่อาศัยของลูกค้า ตั้งอยู่ใต้หลังคาทรงสามเหลี่ยม ความลาดเอียงของหลังคาบ่งบอกถึงความสูงที่เหมาะสมสำหรับทั้งมนุษย์และสุนัข เพื่อสร้างพื้นที่ที่สะดวกสบายที่สุด

ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองให้เห็นกิจกรรมเฉพาะบางอย่าง กระเบื้องมุงหลังคาแบบบิทูเมน ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความนุ่มนวลเมื่อสัมผัส ถูกเลือกใช้แทนแผ่นเหล็กธรรมดา เพื่อให้รู้สึกสบายในการสัมผัสสำหรับผู้ใช้งาน ฐานเสาถูกออกแบบเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการสร้างอาณาเขตของสุนัข โดยปราศจากการป้องกันใดๆ เพื่อให้สุนัขรู้สึกสบายที่สุดในการใช้ชีวิตทุกที่ บันไดสระว่ายน้ำถูกออกแบบให้เหมาะสมกับขนาดของสุนัข เพื่อให้สามารถลงสระน้ำได้อย่างสะดวก มีการใช้กระจกใสและกรอบบานอลูมิเนียมประตูและหน้าต่างของแบรนด์ TOSTEM ที่เชื่อมต่อ ภายในและภายนอกได้อย่างไร้รอยต่อ ไม่บดบังทัศนียภาพ ไม่ขัดขวางการสัมผัสกับธรรมชาติ และยังมี ประสิทธิภาพในการป้องกันแมลงได้ดี การเปิดประตูบานเลื่อนกระจก (TOSTEM) เพื่อชมสัตว์เลี้ยงโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ส่งเสริมการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด การออกแบบดังกล่าวไม่เพียงแต่เสริมสร้างการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้อย่างลงตัว

รางวัล Special Mention for Sustainable Living
ชื่อผลงานโปรเจกต์ “TNOP HOUSE” จาก IS Architects
สถาปนิกผู้ออกแบบ นายปวิณ ทารัตน์ใจ

ผลงานการออกแบบบ้านพักตากอากาศในจังหวัดเชียงราย ท่ามกลางธรรมชาติ ที่สอดรับกับบริบทพื้นที่ และเสน่ห์วิถีชนบท พร้อมตอบโจทย์ความเป็นพื้นที่เติมความสงบสุขส่วนตัวของเจ้าของบ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นนักออกแบบที่ชอบปลูกต้นไม้ ชอบวาดภาพ และชอบงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้คือที่มาของการออกแบบงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้งาน และด้านสุนทรียศาสตร์ ที่เน้นความสงบ เงียบ และผ่อนคลายมากที่สุด ด้วยลักษณะพื้นที่มีความลาดเอียดทาง IS Architects จึงออกแบบโดยวางแนวแกนอาคารให้ขนานกับเส้นระดับของความลาดชัน โดยบ้านฝั่งที่ติดกับถนนหลักออกแบบให้เป็นผนังปิดทึบเพื่อป้องกันทั้งมุมมองสายตา รวมไปถึงมลพิษต่าง ๆ

แต่ในอีกด้านก็เน้นเปิดรับกับธรรมชาติให้มากที่สุด โดยเน้นเปิดช่องเปิดในฝั่งที่หันหน้าสู่ทิวทัศน์ทุ่งหญ้า ถ่ายทอดงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ผสานกับความเป็นพื้นถิ่น โดยเฉพาะการนำวัสดุท้องถิ่นมาใช้เป็นสัดส่วนกว่า 70-80% ไม่ว่าจะเป็นวัสดุหลังคา โครงสร้างไม้ตกแต่ง กระเบื้องดินเผาสีน้ำตาลเทา กระเบื้องเคลือบสีเขียว รวมถึง งานเทอร์ราซโซ และงานทรายล้างที่ทำอย่างละเอียดโดยผู้รับเหมาท้องถิ่น ภายใต้บ้านที่มีบางส่วนยกพื้นสูง เน้นรูปทรงเรียบง่าย มีชานบ้าน มีช่องเปิดให้ลมและแสงแดดผ่านเข้าไปในอาคาร ซึ่งช่วยกำจัดความชื้นและเชื้อโรคได้ดีสำหรับภูมิอากาศร้อนชื้น

นอกจากนี้ยังออกแบบเส้นสายช่องเปิด (Void) ให้มีความสวยงามในความเรียบ กำหนดให้เส้นสายทางสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้ตรงกัน เช่น แกนตั้งของบานช่องเปิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบานประตูหน้าต่างอะลูมิเนียม หรือประตูไม้ ถูกออกแบบให้เส้นเป็นแนวแกนเดียวกัน บานประตูหน้าต่างที่ใช้ จะต้องมีความสูงขึ้นไปสุดถึงเพดาน เพื่อให้ไม่มีเส้นแนวขวางขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดเส้นที่มากเกินไป สถาปนิกจึงเลือกใช้บานประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมของ TOSTEM โทนสี DUSK GRAY ในรุ่น WE Plus และ WE 70 เพื่อให้โทนสีลงตัวในภาพรวมทั้งหมดมากกว่าการเลือกใช้สีขาวหรือดำ อีกทั้งทำเลที่ตั้งของพื้นที่ตัวบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น ฝุ่น ควัน เสียง รวมทั้งมลพิษ PM2.5 ที่ต้องเผชิญในช่วงฤดูร้อน ทำให้ต้องมีแนวทางป้องกันมลพิษจากภายนอก ดังนั้นสถาปนิกจึงเลือกใช้ประตูและหน้าต่างของ TOSTEM ซึ่งมีโซลูชั่นที่ตอบโจทย์งานสถาปัตยกรรม เพราะช่วยลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ PM 2.5 และยังช่วยป้องกันเรื่องของกลิ่น เสียง ควัน ฝุ่นต่าง ๆ ไม่ให้เข้าสู่ภายในตัวบ้านได้ ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุสมัยใหม่ที่มีคุณภาพ ทำให้ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รางวัล Special Mention for Sustainable Living
ชื่อผลงานโปรเจกต์ “3-Gen House” จาก Architects 49 Chiangmai Limited
สถาปนิกผู้ออกแบบ นายรัฐวุฒิ จันทร์ศรีตระกูล และ นายกิตติธัช นิลสุวรรณ

ผลงานการออกแบบบ้านที่รองรับสมาชิกครอบครัวหลายวัย ตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า คุณพ่อคุณแม่ และรุ่นลูก ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน กับการออกแบบที่ผสมผสานความต้องการที่แตกต่างของทั้ง 3 รุ่น โดยการสร้างสรรค์พื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความเป็นส่วนตัวแต่ก็ยังมีความอบอุ่นในรั้วบ้านเดียวกัน เป็นที่มาของชื่อบ้าน 3-Gen House บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีกลิ่นอายล้านนาร่วมสมัย ตั้งอยู่เคียงริมแม่น้ำปิงท่ามกลางแมกไม้ มีภาพของเทือกเขาสุเทพ-ปุยเป็นฉากหลัง เป็นสถาปัตยกรรมที่ผสานกลมกลืนกับวิถีชีวิตริมน้ำเดิม ในขณะเดียวกันก็เติมเต็มชีวิตการอยู่อาศัยของคนแต่ละรุ่น

โดยสถาปนิกได้หยิบยืมรูปแบบการวางผังของบ้านจีนที่มี “ลานกลางบ้าน” และปิดล้อมด้วยอาคารทั้งสี่ทิศ โดยพื้นที่คอร์ตยาร์ด เป็นพื้นที่ศูนย์กลางทุกคนสามารถใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ตัวบ้านประกอบด้วยกลุ่มเรือนสามหลัง ที่แบ่งเป็นพื้นที่พักอาศัยของแต่ละเจน ได้แก่ เรือนปีกซ้าย คือ เรือนของลูก ๆ เรือนประธานตรงกลาง ประกอบด้วยห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตร่วมกันของทุกคนในบ้าน ส่วนเรือนปีกขวาชั้นเดียวเป็นพื้นที่อาศัยคุณปู่คุณย่า โดยเชื่อมอาคารเข้าด้วยกันด้วยเรือนระเบียงที่มีผนังด้านนอกและมีซุ้มประตูกั้นชั้นในมาใช้ เพื่อที่จะสามารถสร้างความปลอดภัยและทำให้เกิดพื้นที่ส่วนตัวขึ้นในบริเวณลานกลางบ้าน

สำหรับวัสดุหลักของบ้านเป็นไม้เก่าที่แยกจากเรือนหลายหลังมาปรับปรุงขึ้นใหม่ ไม้ที่เหลือจากงานสถาปัตยกรรม จึงถูกนำมาใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ โดยใช้วิธีการเข้าไม้แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือโดยช่างฝีมือท้องถิ่น อีกทั้งทางสถาปนิกผู้ออกแบบต้องการระบบชุดประตูหน้าต่างที่มีมาตารฐาน และการใช้งานในระยะยาวโดยไม่ต้องซ่อมบำรุงบ่อยครั้งในอนาคต สถาปนิกจึงเลือกใช้บานประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมจาก TOSTEM เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ที่มาพร้อมระบบมุ้งลวดในตัว และระบบล็อคที่ปลอดภัย คงทนต่อการใช้งาน เมื่อเข้าไปภายในอาคารจะรู้สึกถึงความปลอดโปร่งจากดีไซน์ช่องเปิด และการออกแบบพื้นที่ใช้สอยไม่ให้ไม่บังวิว และไม่บังทิศทางลม โดยสามารถเปิดหน้าต่างรับลมได้ หรือสำหรับบางช่วงเดือนที่อาจต้องเผชิญกับ PM 2.5 บานหน้าต่างของ TOSTEM ก็ช่วยป้องกันมลภาวะทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้ง 3 ผลงานที่คว้ารางวัลของสถาปนิกชาวไทย เป็นการสร้างสรรค์งานออกแบบดีไซน์โดยนำสินค้าของทาง TOSTEM มาใช้เป็นองค์ประกอบในงานออกแบบได้อย่างลงตัว และสอดคล้องกับทิศทางของ TOSTEM ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ เทคโนโลยีขั้นสูง และหลักการออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ แสดงการผสานผลิตภัณฑ์ให้เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น และยกระดับความสะดวกสบายและคุณภาพการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน