ครม. มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวม 5 ฉบับ
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2566 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ สันติไมตรี (หลังนอก) โดย ครม. มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวม 5 ฉบับ คณะรัฐมนมีตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอดังนี้
1.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง พ.ศ. …. (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง)
2.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. …. (สายสีน้ำเงิน)
3.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. …. (สายสีม่วง)
4.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 พ.ศ. ….
5.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. ….
สาระสำคัญ
ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวม 5 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ สืบเนื่องมาจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) มีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ประกอบกับมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 บัญญัติให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน การให้บริการและความสะดวกในกิจการรถไฟฟ้า ตลอดจนวิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร ค่าบริการและค่าธรรมเนียมดังกล่าว และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้เห็นชอบร่างข้อบังคับฯ รวม 5 ฉบับดังกล่าวแล้ว ประกอบด้วย
1.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง พ.ศ. …. (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) เป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท (23 สถานี) ซึ่งคำนวณตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จากอัตราค่าโดยสารพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงดัชนีผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) 3 เดือน ก่อนวันที่เริ่มให้บริการ (เดือนเมษายน พ.ศ.2566) และกำหนดหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมการให้ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบแก่ผู้โดยสาร ในกรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างการรถไฟฟ้าของ รฟม. (เช่น การเปลี่ยนถ่ายระบบจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมายังสายสีเหลือง ณ สถานีลาดพร้าว) โดยให้คนโดยสารได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบภายใต้การจัดเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว และกรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยกับรถไฟฟ้าสายอื่นนอกความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยให้คณะกรรมการประกาศกำหนดระยะเวลาสูงสุดสำหรับการเปลี่ยนถ่ายระบบ
2.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. … (สายสีน้ำเงิน) เป็นการยกเลิกข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. 2565 เพื่อเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่ายระบบกับรถไฟฟ้าสายอื่น (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับเดิมมี 38 สถานี เริ่มต้นที่ 17 บาท สิ้นสุด 43 บาท)
3.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. … (สายสีม่วง) เป็นการยกเลิกข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. 2565 เพื่อเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่ายระบบกับรถไฟฟ้าสายอื่น (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับเดิมมี 16 สถานี เริ่มต้นที่ 14 บาท สิ้นสุด 42 บาท)
ทั้งนี้ โดยร่างข้อบังคับฯ ตามข้อ 1 – ข้อ 3 ข้างต้น จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายการส่งเสริมการเดินทาง ส่วนลดกลุ่มบุคคล (เช่น เด็กนักเรียน นักศึกษา ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบ ตามประเภทผู้ถือบัตร การจัดโปรโมชัน กิจกรรมการตลาด การจำหน่ายตั๋วรายเดือน ตั๋วเป็นชุด ตั๋วราคาพิเศษ ความร่วมมือกับพันธมิตร สวัสดิการพนักงาน สนับสนุนนโยบายภาครัฐ เป็นต้น โดยคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะกำหนดอัตราค่าโดยสารต่ำกว่าอัตราค่าโดยสารหรือยกเว้นอัตราค่าโดยสารตามที่กำหนดในข้อบังคับ เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนโดยสาร กิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดก็ได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับสนับสนุนกิจกรรมพิเศษ (เช่น งานเฉลิมฉลอง งานพระราชพิธี) โดยคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะกำหนดอัตราค่าโดยสารต่ำกว่าอัตราค่าโดยสารหรือยกเว้นอัตราค่าโดยสารตามที่กำหนดในข้อบังคับได้เป็นครั้งคราว เพื่อส่งสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า กิจกรรมตามนโยบายของรัฐ หรือในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
4.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 พ.ศ. …. เป็นการยกเลิกข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 เนื่องจากได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ส่วนลดกรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบภายใต้การจัดเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวไว้ในร่างข้อบังคับฯ ตามข้อ 1.1 – ข้อ 1.3 แล้ว
5.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. …. เป็นการกำหนดอัตราค่าบริการจอดรถยนต์และวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์สำหรับอาคารจอดรถยนต์ทุกแห่ง รวมถึงอาคารจอดรถยนต์อื่นๆ ในอนาคตของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยรวมไว้ในฉบับเดียวกัน ซึ่งจะรองรับการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองสำหรับการเปิดให้บริการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ไว้ด้วย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่างข้อบังคับฯ ทั้ง 5 ฉบับ ดังกล่าว ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 เป็นการปฏิบัติราชการตามปกติเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทได้บัญญัติให้อำนาจไว้ โดยมิได้ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณแผ่นดินหรือภาระทางการคลังในอนาคต และมิใช่กรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2566 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร กรณีอยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับฯ รวม 5 ฉบับได้