ครม.มีมติรับทราบเรื่อง “การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศ ก.คมนาคม” กำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ช่วงเทศกาลสงกรานต์
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2565 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม.มีมติรับทราบเรื่อง การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
เนื่องจากรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางหลวงพิเศษของกรมทางหลวง โดยให้ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา – ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) โดยคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เห็นชอบในหลักการการกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา – ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 โดยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 18 เมษายน 2565 เวลา 24.00 นาฬิกา ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เสนอและอนุมัติให้การทางพิเศษ แห่งประเทศไทยนำเรื่องการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษทั้งสองสายทางดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี ทราบต่อไป
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยขอให้กระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบกรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยยกเว้นการเก็บค่าผ่านทางพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ คือ การดำเนินการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษดังกล่าวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 จากการวิเคราะห์พบว่า หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2565 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 24.00 นาฬิกา รวม 7 วันดังกล่าว คาดว่าจะมีปริมาณจราจรที่ใช้ทางพิเศษ รายได้ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ได้เรียกเก็บ และผลประโยชน์ที่ได้รับ ดังนี้
1.ทางพิเศษบูรพาวิถี ระหว่างวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2565 เวลา 00.01 นาฬิกาถึงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 24.00 นาฬิกา
- ปริมาณการจราจร เฉลี่ย 141,004 คัน/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่าจะมีปริมาณการจราจร 987,028 คัน
- รายได้ที่ไม่ได้เรียกเก็บเฉลี่ย 5,499,156 บาท/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่าจะมีรายได้ที่ไม่ได้เรียกเก็บ 38,494,092 บาท
- ผลประโยชน์ที่ได้รับ
– VOC Saving เฉลี่ย 3,587,561 บาท/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่า VOC Saving ประมาณ 25,112,927 บาท
– VOC Saving เฉลี่ย 7,281,833 บาท/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่า VOC Saving ประมาณ 50,972,831 บาท รวมเฉลี่ยผลประโยชน์ที่จะได้รับ 10,869,394 บาท/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่าประมาณ 76,085,758 บาท
2.ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ระหว่างวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2565 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2565 เวลา 24.00 นาฬิกา
- ปริมาณการจราจร เฉลี่ย 194,795 คัน/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่าจะมีปริมาณการจรจร 1,363,565 คัน
- รายได้ที่ไม่ได้เรียกเก็บเฉลี่ย 8,345,108 บาท/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่าจะมีรายได้ที่ไม่ได้เรียกเก็บ 58,415,126 บาท
- ผลประโยชน์ที่ได้รับ
– VOC Saving เฉลี่ย 4,018,417 บาท/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่าประมาณ 28,128,919 บาท
– VOC Saving เฉลี่ย 5,997,734 บาท/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่าประมาณ 41,984,138 บาท รวมเฉลี่ยผลประโยชน์ที่จะได้รับ 10,016,151 บาท/วัน หากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าผ่านทาง รวม 7 วัน คาดว่าประมาณ 70,113,057 บาท
เพื่อให้การดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 5 มาตรา 19 และมาตรา 39 ประกอบกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการทางพิเศษฉลองรัชและโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งตามสัญญาข้อ 4.4 กรณีการปรับอัตราค่าผ่านทาง (ค) ที่กำหนดว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะต้องขอความยินยอมล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจากกองทุนรวมอย่างน้อยสิบห้าวันทำการ ก่อนการปรับหรือเปลี่ยนแปลงอัตราค่าผ่านทางของโครงการฯ การกำหนดส่วนลดอัตราค่าผ่านทางของโครงการฯ หรือการยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการฯ ในกรณีใด ๆ ยกเว้นในกรณี (2) … การยกเว้นหรือกำหนดส่วนลดอัตราค่าผ่านทางของโครงการฯ ที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดช่วงเวลาให้สิทธิตามสัญญา (ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม) ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีมติเห็นชอบและกระทรวงคมนาคมได้มีประกาศกำหนดแล้ว การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จึงเห็นควรนำร่างประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา – ชลบุรี) ทางยกระดับ ด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถีเป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษและอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2565 และร่างประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายเชื่อมระหว่างถนนวงแหวนอุตสาหกรรมกับทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) เป็นทางต้องเสียค่าผ่านทางพิเศษ ประเภทของรถที่ต้องเสียหรือยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และอัตราค่าผ่านทางพิเศษ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2565 ซึ่งคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนาม ก่อนลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลใช้บังคับต่อไป