ครม. มีมติเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับ EU
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาลโดย ครม. มีมติเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศที่ครอบคลุมระหว่างรัฐสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเชียน) กับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (สหภาพยุโรป) (ร่างความตกลงฯ) และร่างเอกสารบันทึกการหารือ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองและลงนามร่างความตกลงฯ และร่างเอกสารบันทึกการหารือ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจ (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามร่างความตกลงฯ และร่างเอกสารบันทึกการหารือ และมอบหมายให้ กต. ดำเนินการจัดทำหนังสือไปยังเลขาธิการอาเซียนแจ้งการมีผลบังคับใช้ของร่างความตกลงฯ เมื่อ คค. ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยัง กต. ว่าได้ดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้เสร็จสมบูรณ์แล้วตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
ทั้งนี้จะมีการลงนามร่างความตกลงฯ และร่างเอกสารบันทึกการหารือในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 16 – 17 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย)
สาระสำคัญของเรื่อง
1.อาเซียนและสหภาพยุโรปได้เริ่มประชุมเจรจาเพื่อจัดทำร่างความตกลงฯ เพื่อเป็นแม่บทความสัมพันธ์ด้านการบินระหว่างสองภูมิภาค มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนถึงปี พ.ศ.2564 หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันจัดทำร่างเอกสารบันทึกการหารือก่อนเข้าสู่กระบวนการทบทวนถ้อยคำทางกฎหมาย และได้ข้อสรุปร่างสุดท้ายของความตกลง ฯ และร่างเอกสารบันทึกการหารือเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2565
2.คณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ (ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ได้มีมติรับทราบผลการจัดทำร่างความตกลงฯ และร่างเอกสารบันทึกการหารือดังกล่าวแล้ว
3.ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งของอาเซียน ครั้งที่ 53 เมื่อวันที่ 28 – 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการลงนามร่างความตกลงฯ และร่างเอกสารบันทึกการหารือดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 28 และขอให้รัฐสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนภายในให้แล้วเสร็จ และให้นำส่งหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียนก่อนการลงนาม
4. ร่างความตกลงฯ เป็นความตกลงด้านการบินระดับภูมิภาค (bloc – to – bloc agreement) ฉบับแรกของโลกเพื่อใช้เป็นแม่บทในความสัมพันธ์ด้านการบินระหว่างสองภูมิภาค (อาเซียนและสหภาพยุโรป) โดยรายละเอียดของข้อบทเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และมีความทันสมัย สอดคล้องกับกฎระเบียบภายในของรัฐสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรป
5. ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำร่างเอกสารบันทึกการหารือซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์เนื่องในโอกาสความสำเร็จของการจัดทำร่างความตกลงฯ โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
- 1) รัฐสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรปจะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ของร่างความตกลงฯ
- 2) รัฐสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรป แสดงความมุ่งมั่นที่จะหารือและประสานงานอย่างใกล้ชิดผ่านกรอบของคณะกรรมาธิการร่วมที่กำหนดภายใต้ความตกลงฯ เพื่อการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการให้บริการทางอากาศ
- 3) หน่วยงานด้านการบินที่มีอำนาจของแต่ละฝ่ายจะพิจารณาคำขอสำหรับบริการเดินอากาศและการอนุญาตดำเนินการบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและต่างตอบแทนในขอบเขตที่สามารถอนุญาตได้ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่บังคับใช้ของภาคีแต่ละฝ่าย ทั้งนี้นับแต่วันที่ลงนามในร่างความตกลงฯ และจนกว่าความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับ
6. ประโยชน์ที่จะได้รับ
ร่างความตกลงฯ ฉบับนี้ มีการจัดทำใบพิกัดเส้นทางการบินแบบเปิดการกำหนดสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพต่าง ๆ และการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน รวมถึงข้อกำหนดเรื่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สายการบินของอาเซียนและสหภาพยุโรปสามารถขยายเครือข่ายการให้บริการของตนเพื่ออำนวยความสะดวกผู้เดินทางและเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าให้แก่สายการบินมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสอดรับกับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล โดยเมื่อความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ จะมีส่วนช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในส่วนของการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกของการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศในสหภาพยุโรป