Friday, November 22, 2024
Latest:
News

ครม. มีมติอนุมัติหลักการโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จ.ภูเก็ต ของ การทางพิเศษฯ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2565  ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ผ่านระบบ Video Conference) โดย ครม.มีมติอนุมัติในหลักการโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) (โครงการฯ) และวงเงินงบประมาณรายจ่ายของโครงการฯ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ประกอบบทเฉพาะกาลมาตรา 68 (1) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอดังนี้

1. อนุมัติให้ กทพ. ดำเนินโครงการฯ ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร โดยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในขณะที่ภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โดยเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงานในลักษณะของ Build – Transfer – Operate (BTO) พร้อมทั้งให้เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี [นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน (Notice to Proceed)] ตามรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามรายละเอียดที่คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐประกาศกำหนด ของโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต (รายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นชอบไว้ (เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2561)

2. มอบหมายให้ กทพ. กระทรวงคมนาคม (คค.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการนโยบายฯไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 5,792.24 ล้านบาท เห็นควรให้ กทพ. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็น เหมาะสม และประหยัด ตามแผนการใช้จ่ายเงินจริง ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

โดยเรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2555 โดยกระทรวงคมนาคม (คค.) ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พิจารณาศึกษาโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต (โครงการฯ) ซึ่งต่อมา กทพ. ได้จัดทำโครงการฯ มีวัตถุประสงค์ เช่น 1) เพิ่มเส้นทางการเดินทางระหว่างตัวเมืองฝั่งตะวันออกของภูเก็ตไปยังหาดป่าตองให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และนักท่องเที่ยว 2) ลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพเส้นทางที่ลาดชันและคดเคี้ยว และ 3) ใช้เป็นเส้นทางอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติ (เช่น กรณีเกิดสึนามิ) เป็นต้น โดยมีลักษณะเป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทางจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตาในพื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ในพื้นที่ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ มีทางขึ้น – ลง 2 แห่ง ด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณตำบลกะทู้ 1 ด่าน โดยมีการประมาณการเงินลงทุนเริ่มต้นของโครงการรวมวงเงินทั้งสิ้น 14,670.57 ล้านบาท (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง จำนวน 8,662.61 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 215.72 ล้านบาท) (วงเงินปรับปรุง ณ ปี พ.ศ. 2566) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (พฤษภาคม พ.ศ. 2565 – กรกฎาคม พ.ศ.2570) โดยจะดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost คือ ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงานในลักษณะของ Build – Transfer – Operate (BTO) พร้อมทั้งให้เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง

ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์ในรายได้อื่น ๆ นอกจากรายได้ค่าผ่านทางไม่ได้รวมไว้ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน เนื่องจากเมื่อได้ศึกษาเปรียบเทียบความคุ้มค่าทางการเงินของรัฐในกรณีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนแล้ว พบว่าในรูปแบบ PPP Net Cost มีความเหมาะสมมากกว่ารูปแบบอื่น เมื่อพิจารณาจากรายได้ที่รัฐจะได้รับจากเอกชนในรูปแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดความเสี่ยงเรื่องรายได้ค่าผ่านทางกรณีไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และภาระที่ภาครัฐต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับเอกชน โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี