Wednesday, December 4, 2024
Latest:
News

ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 ของ กฟผ.

 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2565  ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอดังนี้

                   1. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ พร้อมระบบส่งไฟฟ้า ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 47,470 ล้านบาท

                   2. อนุมัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2565 ตามแผนประมาณการเบิกจ่ายสำหรับโครงการโรงโฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8 – 9 (โครงการฯ) จำนวนเงินทั้งสิ้น 3,795 ล้านบาท

               สาระสำคัญของเรื่อง

                   พน. รายงานว่า

                   1. ภาคเหนือมีอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยร้อยละ 3.3 และมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ณ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เท่ากับ 3,521.4 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปี 2580 จะมีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 6,033 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันภาคเหนือมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 5,561.6 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน พ.ศ. 2564) ซึ่งกำลังผลิตไฟฟ้าหลักมาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะและรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (กำลังผลิตไฟฟ้าหลักของภาคเหนือมาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 – 13 และโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 4 – 7 กำลังผลิตตามสัญญารวม 2,220 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ เครื่องที่ 1 – 3 กำลังผลิต 1,473 เมกะวัตต์)

2. โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 9 มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวม 600 เมกะวัตต์ (2×300 เมกะวัตต์) และใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง โดยเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และ พ.ศ. 2533 ตามลำดับ โดยปัจจุบัน โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี (อายุการใช้งานตามสัญญา 33 ปี และ 32 ปี) จึงมีประสิทธิภาพลดลง ประกอบกับถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะมีค่าแคลเซียมออกไซด์ในขี้เถ้าเฉลี่ยสูง ทำให้โรงไฟฟ้าแมเมาะที่ใช้งานอยู่ปัจจุบันไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (ตามข้อ 2.2) ได้กำหนดให้ปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ครบอายุการใช้งานออกจากระบบรวมทั้งสิ้น 1,620 เมกะวัตต์ ครอบคลุมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ซึ่งมีกำหนดปลดในปี พ.ศ. 2565 และ เครื่องที่ 9 ในปี พ.ศ. 2568 ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคเหนือที่เหลืออยู่ไม่สามารถรองรับเหตุสุดวิสัย ในกรณีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดหยุดเดินเครื่องฉุกเฉิน (N-1) ได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่โดยการดำเนินโครงการฯ และได้พิจารณาระยะเวลาเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าทดแทนให้สอดคล้องตามปริมาณลิกไนต์สำรองที่มีอยู่ในเหมืองแม่เมาะ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า

                   3.รายละเอียดและรายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ

                             3.1 รายละเอียดทั่วไป

วัตถุประสงค์ : เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือ ลดการพึ่งพากำลังผลิตไฟฟ้าผ่านสายส่งจากภูมิภาคอื่น รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศไทย และเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในด้านการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับสถานที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ทางด้านทิศใต้ของโรงไฟฟ้าปัจจุบัน ถัดจากพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 4 – 7 ใช้พื้นที่ก่อสร้างเฉพาะส่วนผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบส่งประมาณ 145 ไร่ ซึ่งอยู่ในขอบเขตพื้นที่ของ กฟผ.ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ (ถึงวันที่ 31 พ.ศ.มกราคม 2593)

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทผลิตพลังงานไฟฟ้าฐานโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง และใช้เทคโนโลยีแบบ Pulverized Coal (PC) ซึ่งเป็นวิธีการเผาไหม้ถ่านหินที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ ประสิทธิภาพ (New and Clean) ประมาณ 37.88% ประสิทธิภาพเฉลี่ยตลอดอายุการเดินเครื่อง 25 ปี ประมาณ 37.14% และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2569

ในส่วนของเชื้อเพลิงและความต้องการใช้เชื้อเพลิง  มีอัตราความต้องการในการใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะของโครงการฯ สูงสุด ประมาณ 10,418 ตันต่อวัน หรือเฉลี่ยประมาณ 3.23 ล้านตันต่อปี โดยคำนวณที่ค่าความร้อน (HHV) ของถ่านหินลิกไนต์ 3,200 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม และอัตราเดินเครื่องสูงสุด85% ซึ่งคิดเป็น 21.53% ของความต้องการรวมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ (ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี) ความต้องการใช้เชื้อเพลิงรวมประมาณ 81 ล้านตัน ตลอดอายุการเดินเครื่อง 25 ปี โดยเหมืองแม่เมาะมีปริมาณสำรองถ่านลิกไนต์ (Reserve) ประมาณ 237 ล้านตัน (มกราคม พ.ศ. 2562) ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตเพื่อจัดส่งให้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ [เครื่องที่ 8 – 13 (ทยอยปลดตามอายุการใช้งาน)] รวมทั้งโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 4 – 7 และเครื่องที่ 8 – 9ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ถึงธันวาคม พ.ศ. 2593 คิดเป็นประมาณ 234 ล้านตัน

สำหรับแหล่งน้ำและความต้องการใช้น้ำ จะใช้แหล่งน้ำเดียวกันกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะปัจจุบัน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ขาม และแม่จาง มีความต้องการใช้น้ำทั้งสิ้นประมาณ 44,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ได้แก่ 1.กิจกรรมภายในโรงไฟฟ้า 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 2.ระบบหล่อเย็น 36,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 3.ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และ 4.ขั้นตอนการเตรียมน้ำมันดิบ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในส่วนของปริมาณน้ำทิ้งออกสู่ระบบบำบัดน้ำทิ้งสูงสุดประมาณ 10,251 ลูกบาศก์เมตรต่อวันโดยจะถูกหมุนเวียนกลับไปใช้ในระบบต่าง ๆ และนำไปผ่านกระบวนการบำบัดน้ำทิ้งให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนระบายลงสู่แม่น้ำจางในอัตราสูงสุดประมาณ 7,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

โรงไฟฟ้าแม่เมาะจ่ายไฟเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ผ่านสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งอื่น ๆ เพื่อส่งไฟฟ้าไปยังจังหวัดต่าง ๆ ด้วยสายส่งไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 115 230 และ 500 กิโลโวลต์ โดยโครงการฯ จะเชื่อมโยงเข้ากับระบบไฟฟ้าหลักที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 ซึ่งจะต้องก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเพิ่มและปรับปรุงสถานีไฟฟ้าโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือนหรือจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม พ.ศ.2568 ดังนี้

1) งานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ จากลานไกไฟฟ้า ( (Switchyard) ทำหน้าที่ตัดต่อวงจงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า) ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8 – 9 ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 กิโลโวลต์ แม่เมาะ 3 ระยะทางประมาณ 1,000 เมตร

2) งานขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 กิโลโวลต์ แม่เมาะ 3

3) งานระบบสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ

สำหรับแผนการดำเนินงาน กฟผ. จะออกหนังสือสนองรับราคาซื้ออุปกรณ์โรงไฟฟ้า (Letter of Intent;, LOI) ให้ผู้ชนะการประกวดราคา เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาประมาณ 48 เดือน โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ.2569

ส่วนแผนการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า (กองทุนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า) : โครงการฯ จัดอยู่ในกองทุนฯ ประเภท ก ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เนื่องจากใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง และมีปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 5,000 ล้านกิโลวัตต์ – ชั่วโมงต่อปี หรือมีรายได้มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป จึงต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตลอดอายุการเดินเครื่อง ดังนี้

ระยะการก่อสร้าง : นำส่งเงินในอัตรา 50,000 บาทต่อเมกะวัตต์ติดตั้งต่อปี หรือไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อปี ประมาณ 132 ล้านบาท (ระยะเวลา 48 เดือน)

ระยะการผลิตไฟฟ้า : นำส่งเงินตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าในแต่ละเดือนในอัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบตลอดอายุโรงไฟฟ้า ประมาณ 89.35 ล้านบาท ต่อปี (25 ปี) เฉลี่ยเดือนละประมาณ 7.45 ล้านบาท

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 47,470 ล้านบาท ดังนี้

1)โรงไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ ประมาณ 25,530 ล้านบาท (740 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้างประมาณ 21,470 ยอดรวมประมาณ 47,000 ล้านบาท

2)ระบบส่งไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ ประมาณ 265 ล้านบาท(7.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้างประมาณ 205 ล้านบาท ยอดรวมประมาณ 470 ล้านบาท

ด้านการรับฟังความคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการฯ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(รับฟังความคิดเห็นฯ) โครงการฯ ซึ่งได้ดำเนินกระบวนการทั้งในรูปแบบการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในพื้นที่และช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2564 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1) ผู้เข้าร่วม รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,969 คน ได้แก่

– ประเภท : (1) ประชาชนในพื้นที่รอบโครงการ 1,593 ราย (53.7%)                     

(2) ประชาชนทั่วไปที่สนใจ 773 ราย (26.2%)

(3)หน่วยงานราชการในระดับต่าง ๆ42 ราย (1.4%)

– พื้นที่ (ตำบล) : แม่เมาะ 671 ราย (22.6%) สบป้าด 369 ราย (12.4%) นาสัก 295 ราย (9.9%) จางเหนือ 164 ราย (5.5%) และบ้านดง 94 (3.3%)

(2) ความคิดเห็นฯ และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ

ประชาชนส่วนใหญ่แสดงออกถึงความเชื่อมั่นกับเทคโนโลยีของโครงการฯ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่ถูกจัดทำขึ้นตามรายงาน EHIA สามารถครอบคลุมและตอบปัญหาที่ประชาชนห่วงกังวล อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ประชาชนยังให้ความห่วงใยเป็นพิเศษ เช่น

   – กฟผ. ควรหาเทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บหรือเปลี่ยนให้เป็นเคมีภัณฑ์ชนิดอื่นหรือทำการปลูกป่าเพื่อส่งเสริมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่เป็นศูนย์ (Net Zero)

   – กกพ. ควรให้ กฟผ. จัดทำแผนบูรณาการทางด้านน้ำอย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุมระยะเวลาของอายุโรงไฟฟ้า โดยควรมีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามปริมาณการใช้น้ำและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งการจัดการปัญหาทางด้านกลิ่นจากแหล่งน้ำตามฤดูกาลด้วย

   – กฟผ. อาจพิจารณานำระบบวงจรตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation) มาติดตั้งตามบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาเสียงรบกวนในยามวิกาล

   – มาตรการด้านการจราจรยังมีความไม่สมบูรณ์ เช่น ระบบสัญญาณไฟจราจรที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุเป็นระยะ ดังนั้น กฟผ. ควรร่วมมือกับกรมทางหลวงสำรวจและทำการแก้ไขจุดบกพร่อง โดยระหว่างก่อสร้างควรกำกับให้รถที่เข้าออกโครงการติดป้ายให้ชัดเจนบริเวณกระจกรถด้านข้างทั้ง 2 ข้าง และด้านท้าย ระบุชื่อโครงการ หน่วยงาน และเบอร์ติดต่อ

   – ประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID- 19 ที่อาจมีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น กฟผ. ควรจัดทำแผนฉุกเฉินเพิ่มเติมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID- โดยยึดหลักป้องกันเป็นพื้นฐานสำคัญ

   – ควรคำนึงถึงมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศต่าง ๆ ในสภาวะภูมิอากาศทั่วไปไม่อำนวย เช่น ท้องฟ้าปิดในฤดูหนาวที่จะส่งผลให้เกิดหมอกควัน โดยควรดำเนินการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และช่วยเหลือประชาชนให้สวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างทั่วถึง

   – ควรเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินงานติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกครั้ง และในการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กองทุนสนับสนุนจาก กฟผ. หรือกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ควรเน้นสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และยกมาตรฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกทางสังคมเป็นหลัก

สำหรับด้านเศรษฐศาสตร์ และการเงิน พบว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุนและให้ผลตอบแทนการลงทุน โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 6.99% และคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์สุทธิทางด้านเศรษฐศาสตร์ จำนวน 5,928 ล้านบาท โดยราคาขายไฟฟ้าของโครงการฯ ไม่สูงกว่าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง