Friday, November 22, 2024
Latest:
News

ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่ สศช.เสนอ เพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23มกราคม 2567 ซึ่งมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ หอประชุมคอซู้เจียง ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง ถนนเพชรเกษม ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดย ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

1.รับทราบผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา และสตูล) เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ.2567

2.เห็นชอบในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดและจังหวัด จำนวน 13 โครงการ กรอบวงเงิน350 ล้านบาท โดยให้กลุ่มจังหวัดและจังหวัดขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินโครงการ รวมทั้งให้กลุ่มจังหวัดและจังหวัดนำโครงการดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อไป

3.เห็นชอบในหลักการของโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน จำนวน 6 โครงการ กรอบวงเงิน 272,099,000 บาท โดยให้ส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบ

4.มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชนในส่วนที่เหลือ จำนวน 44 โครงการ เพื่อบรรจุไว้ในแผนการปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

5.เห็นควรทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2566 เรื่อง ผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองบัวลำภู อุดรธานี เลย หนองคาย และบึงกาฬ) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยให้กลุ่มจังหวัดและจังหวัดขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินโครงการ รวมทั้งให้กลุ่มจังหวัดและจังหวัดนำโครงการดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ต่อไป

6. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการและรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อไป

สาระสำคัญและข้อเท็จจริง

1.นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้จัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ จังหวัดระนอง โดยมอบหมายให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ เป็นฝ่ายเลขานุการจัดการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา และสตูล) เพื่อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดระนอง

2. ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 19 มกราคม พ.ศ.2567 สศช. ร่วมกับสำนักงบประมาณ และกระทรวงมหาดไทยได้ประสานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และภาคเอกชนในการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่เป็นความต้องการของพื้นที่ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 13 – 14 มกราคม พ.ศ.2567 สศช. สำนักงบประมาณ และกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่ประชุมหารือเพื่อพิจารณาโครงการตามความต้องการของพื้นที่ที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที

3.สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.กลุ่มจังหวัด) ได้จัดการประชุมฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ.567 ณ ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดระนอง จังหวัดระนอง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ปานปรีย์ พหิทธานุกร) เป็นประธานการประชุมฯ มีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนสถาบันภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)  (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เข้าร่วมประชุมฯ โดยข้อเสนอประเด็นและวาระการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน สรุปได้ดังนี้

3.1 ข้อเสนอโครงการที่มีความพร้อมและดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 13 โครงการ กรอบวงเงิน 350 ล้านบาท ดังนี้

(1) โครงการผนึกกำลังผู้ประกอบการทางการค้ากับเศรษฐกิจท่องเที่ยวอันดามันเชิงสร้างสรรค์ วงเงิน 33,200,000 บาท (2) โครงการมารีน่าชุมชน ยกระดับคุณภาพ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อเรือท่องเที่ยวชุมชนทะเลอันดามัน วงเงิน 16,800,000 บาท (3) โครงการปรับปรุงพื้นฟูพื้นที่ฝังกลบขยะมูลฝอย ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 35,000,000 บาท (4) โครงการก่อสร้างเขื่อน คสล. คลองบางใหญ่ (เฟส 2) (ภายในโรงเรียนสตรีภูเก็ต) วงเงิน 15,000,000 บาท (5) โครงการปรับปรุงถนนและระบบสาธารณูปโภคพร้อมปรับภูมิทัศน์ถนนจัดสรรพัฒนา ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง วงเงิน 50,000,000 บาท (6) โครงการเพิ่มศักยภาพการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินของเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ จังหวัดกระบี่ วงเงิน 50,000,000 บาท (7) โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือควนตุ้งกู บ้านควนตุ้งกู ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง วงเงิน 25,000,000 บาท (8) โครงการการขับเคลื่อนจังหวัดตรังสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร “Trang Gastronomy and Creative City” เพื่อเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก วงเงิน 25,000,000 บาท (9) โครงการท่าเทียบเรืออัจฉริยะจังหวัดพังงา (Phang Nga Smart Piers) วงเงิน 42,500,000 บาท (10) โครงการติดตั้งระบบดับเพลิง (Fire Pump) พร้อมระบบท่อน้ำดับเพลิงและตู้อุปกรณ์ดับเพลิงขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะปันหยี วงเงิน 7,500,000 บาท (11) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เทศบาลตำบลกำแพง จังหวัดสตูล วงเงิน 19,902,000 บาท (12) โครงการติดตั้งท่าเทียบเรือลอยน้ำบริเวณอ่าวประมง เกาะหลีเป๊ะ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล วงเงิน 12,903,000 บาท และ(13) โครงการถนนบนคันคลองส่งน้ำ LMC ฝายดุสน ตำบลควนโดน อำเภอควนโคน จังหวัดสตูล วงเงิน 17,195,000 บาท

มติที่ประชุม : เห็นชอบในหลักการของโครงการทั้ง 13 โครงการ กรอบวงเงิน 350 ล้านบาท โดยให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอน และให้สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของวงเงิน รวมทั้งให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำโครงการดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดต่อไป

3.2ข้อเสนอประเด็นการพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของภาคเอกชน จำนวน 51 โครงการ ดังนี้

1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการปรับปรุงและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานถนนท่องเที่ยวชุมชนเกาะยาวใหญ่เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของท้องถิ่น อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา (2) โครงการบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรจังหวัดภูเก็ต (3) โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคใต้) (4) โครงการศูนย์พัฒนาศักยภาพและต้นทุนมนุษย์เมืองตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา (5) โครงการยกระดับความปลอดภัยบริเวณทางเดินข้ามถนนและทางเดินเท้าในแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจังหวัดพังงา และ (6) โครงการงานพื้นฟูทางหลวงหมายเลข 4 ตอนควบคุม 1001 ตอน บางสัก – ท้ายเหมือง

  2) ขอเร่งรัดดำเนินโครงการ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 4 ตอนระนอง – พังงา (2) โครงการพัฒนาศักยภาพสนามกีฬาเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาในระดับประเทศ และ (3) โครงการก่อสร้างหอประชุมนานาชาติจังหวัดสตูล

(2) ข้อเสนอประเด็นการพัฒนาจังหวัดระนอง จำนวน 1 เรื่อง 3 โครงการ ดังนี้

  1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการประกอบด้วย (1) โครงการปรับปรุงท่าเรือระนอง – เกาะสอง เพื่อการท่องเที่ยวและการสัญจร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง (2) โครงการก่อสร้างฝายคลองบางริ้น และ (3) โครงการทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4006 ตอน ราชกรูด – หลังสวน

(3) ข้อเสนอประเด็นการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 เรื่อง 12 โครงการ ดังนี้

1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ ถนนนาเกาะ-บางโจ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต (2) โครงการปรับปรุงเส้นท่อ บริเวณถนนทวีวงศ์และซอยบางลา ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต (3) โครงการปรับปรุงเส้นท่อ ถนนผังเมืองสาย ก ถนนนาใน, ถนนนาใน 2/1 และซอยแสนสบาย ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต (4) โครงการเสาอัจฉริยะ (Smart Pole) เพื่อการท่องเที่ยว และ (5) โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลเมืองภูเก็ต เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

2) ขอเร่งรัดดำเนินโครงการ จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง) (2) โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต (3) โครงการทางพิเศษเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ จังหวัดภูเก็ต (4) โครงการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 (กม.14+300 – กม. 18+850) (5) โครงการก่อสร้างขยาย4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4027 (กม. 18+850 – กม. 20+800) (6) โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล. 402 กับ ทล. 4027 (แยกท่าเรือ) และ (7) โครงการ Phuket Health Sandbox จังหวัดภูเก็ต

  (4) ข้อเสนอประเด็นการพัฒนาจังหวัดกระบี่ จำนวน 2 เรื่อง 8 โครงการ ดังนี้

1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการยกระดับและพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (2) โครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตอาหารแพะ (Animal Feed Learning Center) (3) โครงการพัฒนาศักยภาพสถานบริการด้านสาธารณสุขเพื่อลดความแออัด ลดการรอคอย โรงพยาบาลเหนือคลอง (4) โครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ (5) โครงการจัดตั้งศูนย์ขับเเลื่อนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและพื้นที่ท่องเที่ยว และ (6) ขอให้มีการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อเชื่อมโยงท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ท่าเทียบเรือ และแหล่งท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่

2) ขอเร่งรัดดำเนินโครงการ จำนวน 2 โครงการประกอบด้วย(1) โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมมารีน่า และ (2) โครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4156 เขาพนม – ทุ่งใหญ่

(5) ข้อเสนอประเด็นการพัฒนาจังหวัดตรัง จำนวน 2 เรื่อง 3 โครงการ ดังนี้

  1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พื้นฟูพะยูนและสัตว์ทะเลหายากจังหวัดตรัง ระยะที่ 2 และ (2) โครงการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง เป็นไฟฟ้ากิ่งคู่ เสาสูง 9 เมตร (สายกะปาง – ห้วยนาง , สายห้วยนาง – ต้นม่วง ,สายนาวง – ห้วยยอด)

2) ขอเร่งรัดดำเนินโครงการ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาเส้นทางหลวงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรและขนส่งขยายทางจราจรและปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 4046 ตอน ตรัง – ควนกุน พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยต่าง ๆ (ช่วงที่ 1 ตอน ตรัง – บ้านโคกโตน ระหว่าง กม. 8+750 – 30+029 ระยะทาง 21.28 กม. และ ช่วงที่ 2 ตอน บ้านโคกโตน – ควนกุน ระหว่าง กม.30+029 – กม. 52+521 ระยะทาง 22.492 กม.)

(6) ข้อเสนอประเด็นการพัฒนาจังหวัดพังงา จำนวน 2 เรื่อง 10 โครงการ ดังนี้

1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการท่าเรือมาเนาะห์ เกาะยาวน้อย เพื่อการท่องเที่ยว (2) โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกาะคอเขาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสะพานเกาะคอเขา และ (3) ขอให้มีการศึกษาการจัดสรรเงินอุทยานแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการขยะในพื้นที่รอบอุทยาน

2) ขอเร่งรัดดำเนินโครงการ จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา (2) โครงการแก้มลิงเกาะพระทอง ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา (3) ผลการศึกษาการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเพื่อการท่องเที่ยวอันดามัน (ANDAMAN ECONOMIC TOURISM) (4) โครงการสนามบินนานาชาติอันดามันอินเตอร์เนชั่นแนล (5) โครงการรถไฟท่านุ่น – สุราษฎร์ธานี เพื่อการท่องเที่ยวและขนส่งสินค้า (6) โครงการการขอใช้ท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว (เรือสำราญ) ในพื้นที่ฐานทัพเรือพังงา (ทับละมุ) และ (7) โครงการเพิ่มศักยภาพบริการทางการแพทย์และการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดพังงา (โรงพยาบาลพังงา โรงพยาบาลตะกั่วป่า โรงพยาบาลท้ายเหมืองชัยพัฒน์)

(7) ข้อเสนอประเด็นการพัฒนาจังหวัดสตูล จำนวน 1 เรื่อง 6 โครงการ ดังนี้

1) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชน (2) โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อเชื่อมต่อระบบระบายน้ำหลักพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนและทางเดินเท้า เทศบาลเมืองสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล (3) โครงการปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำฝายบ้านทุ่งมะปรัง (ปชด.) สาย T,E ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล (4) โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองตายาย ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล (5) โครงการปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำ ฝายห้วยต้าปุ๋ย (ปชด.) ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล และ (6) โครงการอาคารบังคับน้ำทุ่งใหญ่สารภีโมเดล ระยะที่ 2 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล

3.3 ข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชน จากการพิจารณาข้อเสนอประเด็นการพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของภาคเอกชนจำนวน 51 โครงการโดย สศช. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด และภาคเอกชน พบว่า ข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฯ ของภาคเอกชนที่มีความพร้อมดำเนินการมีจำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการปรับปรุงและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานถนนท่องเที่ยวชุมชนเกาะยาวใหญ่ เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของท้องถิ่น อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา (2) โครงการวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ ถนนนาเกาะ-บางโจ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต (3) โครงการยกระดับและพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดกระบี่ (4) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ฟื้นฟูพะยูนและสัตว์ทะเลหายากจังหวัดตรัง ระยะที่ 2 จังหวัดตรัง (5) โครงการท่าเรือมาเนาะห์ เกาะยาวน้อย เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพังงา (6) โครงการปรับปรุงท่าเรือระนอง – เกาะสอง เพื่อการท่องเที่ยวและการสัญจร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และ (7) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชุมชน จังหวัดสตูล ทั้งนี้ จากการตรวจสอบกับสำนักงบประมาณพบว่าโครงการท่าเรือมาเนาะห์ เกาะยาวน้อย เพื่อการท่องเที่ยว จังหวัดพังงาได้รับการบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แล้ว

มติที่ประชุม :

1.เห็นชอบในหลักการของโครงการ 6 โครงการ กรอบวงเงิน 272,099,000 บาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งจัดทำข้อเสนอโดยพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มค่า และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบ รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขและขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

2.มอบหมายให้ สศช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการในส่วนที่เหลือบรรจุไว้ในแผนการปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

3.จากมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2566 เรื่อง ผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองบัวลำภู อุดรธานี เลย หนองคาย และบึงกาฬ) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2566 พบว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีการระบุแหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการของกลุ่มจังหวัดและจังหวัดไว้อย่างชัดเจน ทำให้หน่วยงานยังไม่สามารถขอรับการจัดสรรเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวได้ ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานได้รับการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมายความต้องการของพื้นที่ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จึงเห็นควรพิจารณาเพิ่มเติมมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวโดยระบุแหล่งเงินดำเนินการให้กลุ่มจังหวัดและจังหวัดขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป