Friday, November 22, 2024
Latest:
News

ครม.มีมติเห็นชอบหนังสืออนุญาต ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชน เป็นรถโดยสารประจำทาง EV (รถร่วมบริการ) ในกรุงเทพมหานคร

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2566 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ สันติไมตรี (หลังนอก) โดย ครม.มีมติเห็นชอบหนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (โครงการฯ) เพื่อการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ โดยถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ให้กับสมาพันธรัฐสวิส และมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ลงนามในหนังสือการอนุญาต (Letter of Authorization: LoA) ให้ดำเนินโครงการฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1.การดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงฯ จะส่งเสริมให้ประเทศไทยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานเพื่อนำมาต่อยอดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุ NDC ของไทย อีกทั้งเปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศเกิดความตื่นตัวและให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ และสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

2.บริษัท South Pole ได้รับเงินสนับสนุนจากสมาพันธรัฐสวิสให้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านการใช้รถโดยสารประจำทางสาธารณะเป็นรถโดยสารประจำทางสาธารณะไฟฟ้าสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและผลประโยชน์ร่วมต่าง ๆ เช่น การลดฝุ่น PM 2.5 โดยได้ร่วมกับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) พัฒนารายละเอียดการดำเนินงาน (Mitigation Activity Design Document: MADD) โครงการฯ ซึ่ง สผ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กรมการขนส่งทางบก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท South Pole มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณารายละเอียดการดำเนินงานโครงการฯ รวม 2 ครั้ง และเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องตามแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย

3.โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าครอบคลุมเส้นทางเดินรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางจากกรมการขนส่งทางบก ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีความทันสมัยปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่ำ การลดฝุ่น PM 2.5 เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชนซึ่งช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น โดยคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ต่อคันต่อปี หรือ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ค.ศ. 2021 – 2030) และสามารถยื่นขอการรับรองภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการT-VER สามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรื่อนกระจกระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes: ITMOs) หลังจากได้รับการรับรองว่าสอดคล้องกับข้อตกลงฯ และข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส

4.ในการดำเนินโครงการดังกล่าว บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) จะถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส โดย ทส. ยืนยันว่า คาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมาย NCD

5.คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2565 มีมติเห็นชอบให้ ทส. โดย สผ. นำรายละเอียดการดำเนินงานโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบการอนุญาตถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ให้กับสมาพันธรัฐสวิสต่อไป และมอบหมายให้เลขาธิการ สผ. ลงนามในหนังสือการอนุญาตให้ดำเนินโครงการฯ

6.หนังสือการอนุญาตมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) บุคคลที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริหารโครงการ คาร์บอน จำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในฐานะผู้เข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตให้ยื่นคำขอถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกในระดับระหว่างประเทศโดยเป็นไปตามหนังสือการให้อนุญาตฉบับนี้

2) ระยะเวลาคิดเครดิตที่ได้รับอนุญาต ระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

3) การใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับอนุญาต ใช้สำหรับ NDC ของสมาพันธสวิส

4) ปริมาณและรายละเอียดของผลการลดก๊าซเรือนกระจก ปริมาณรวมสูงสุดทั้งสิ้นจำนวน 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าของผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ผลการลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวต้องได้รับการรับรองและติดตาม โดยระบบทะเบียนที่กำหนดของประเทศไทยซึ่งบริหารจัดการโดย อบก.

5) หลักเกณฑ์และข้อกำหนด

5.1 ผลใช้บังคับของการให้อนุญาตนี้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการรับรองหน่วยผลการลดก๊าซเรือนกระจก

5.2 การดำเนินงานกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกต้องสอดคล้องกับแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยที่เห็นชอบ โดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ข้อกำหนดภายใต้ข้อตกลงการดำเนินงาน และมาตรฐานกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องของ อบก.

5.3 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกเข้าใจว่ารัฐบาลไทยไม่มีความรับผิดชอบต่อการบรรลุเป้าหมายปริมาณที่กำหนดไว้ของการส่งมอบผลการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ระบุไว้

6)วิธีการปรับบัญชี ประเทศไทยสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปรับบัญชีซึ่งจะปรับใช้ โดยสอดคล้องกันตลอดระยะเวลา NDC โดยพิจารณาถึงแนวปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับบัญชี

7) การกำหนดการถ่ายโอนครั้งแรก การถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกจากระบบทะเบียนที่กำหนดของประเทศไทยไปยังระบบทะเบียนที่กำหนดของสมาพันธรัฐสวิสโดยใช้วิธีการ “ยกเลิกและสร้างขึ้นใหม่”

7. กรมสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม การขนส่ง พลังงาน และการสื่อสาร สมาพันธรัฐสวิส ส่งหนังสือยืนยันรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ให้บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และสำเนาหนังสือถึง สผ. พร้อมแจ้งว่า สมาพันธรัฐสวิส สามารถออกหนังสืออนุญาตให้ดำเนินโครงการฯ เมื่อฝ่ายไทยได้ออกหนังสือการอนุญาตด้วยแล้ว

8. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายมีหนังสือแจ้งไม่ขัดข้องต่อ (ร่าง) หนังสือการอนุญาต และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 9 และข้อ 12.3 ของแนวทางฯ สผ. ควรพิจารณาเสนอร่างหนังสือการอนุญาตฯ พร้อมกับโครงการที่จะอนุญาตให้มีการถ่ายโอนระหว่างประเทศและการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการดังกล่าวตามข้อตกลงฯ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป