นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ แนะ 3 ปัจจัยทางวิศวกรรมที่ต้องดำเนินการหลังเหตุสะพานถล่ม
จากเหตุการณ์สะพานพังถล่มระหว่างก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ผ่านไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ เหตุการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการพังถล่มของโครงสร้างที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการวิศวกรรมของประเทศไทย หลายหน่วยงานได้วิเคราะห์สาเหตุและถอดบทเรียนเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำขึ้นอีกในอนาคต
ในส่วนของการดำเนินการภายหลังการเกิดเหตุที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและบุคคลหลายฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนการดำเนินการทางวิศวกรรมหลังเหตุการณ์ถล่มนั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ในทางวิศวกรรมต้องดำเนินการอย่างน้อย 3 ประการคือ
- การวิเคราะห์สาเหตุการพังถล่มที่เกิดขึ้น เนื่องจากการพังถล่มของสะพานเป็นการวิบัติที่รุนแรงและต่อเนื่อง จนโครงสร้างถล่มลงมาทั้งหมด จึงจำเป็นต้องหาสาเหตุให้ได้ว่า จุดตั้งต้นของการวิบัติเริ่มที่จุดใดและในขั้นตอนใดของการก่อสร้าง จากนั้นต้องจำลองฉากทัศน์ของการวิบัติ (Failure scenario) ขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ลำดับเหตุการณ์ โดยในเบื้องต้นมีการสันนิษฐานถึงสาเหตุว่าเกิดการวิบัติที่บริเวณรอยต่อเทในที่ (wet joint) ในขั้นตอนการดึงลวดอัดแรง และยังมีประเด็นการเคลื่อนที่ของโครงเหล็ก launcher และการก่อสร้างว่าเป็นไปตามแบบหรือไม่ การระบุสาเหตุของการพังถล่มจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากยังไม่พบสาเหตุ ก็จะไม่สามารถให้ดำเนินการก่อสร้างต่อได้ และเมื่อทราบสาเหตุแล้ว จะต้องกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก
- การรื้อถอนซากโครงสร้างที่พังถล่มลงมา เนื่องจากโครงสร้างที่พังถล่มลงมานั้นมีน้ำหนักมาก ประกอบด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตที่มีน้ำหนักหลายสิบตันต่อชิ้น และมีลวดอัดแรงร้อยอยู่ด้านใน เนื่องจากน้ำหนักที่มากและตำแหน่งการวางตัวของซากโครงสร้าง อาจจะไม่เสถียร หากทำการรื้อถอนโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ก็อาจเกิดการพังถล่มซ้ำได้อีก
ในทางวิศวกรรมจึงต้องกำหนดขั้นตอนการรื้อถอนที่ถูกต้อง ซึ่งโดยมากแล้วการรื้อถอนถือว่าเป็นกระบวนการย้อนกลับ (Reverse process) กับการก่อสร้าง จึงต้องกำหนดลำดับขั้นตอนการรื้อถอน และดำเนินการอย่างเคร่งครัด โดยก่อนทำการรื้อถอน จะต้องเตรียมนั่งร้านหรือค้ำยันไว้รองรับ และอาจจะต้องปลดแรงดึงในลวดอัดแรงออกเสียก่อน จากนั้นจึงทำการยกชิ้นส่วนออกไปทีละชิ้นตามลำดับขั้นตอน โดยน้ำหนักที่จะยกต้องไม่เกินกำลังรับน้ำหนักของเครน - การตรวจสอบและประเมินโครงสร้างเดิมที่เหลือว่าสามารถใช้การได้หรือไม่ เนื่องจากยังมีส่วนของโครงสร้างที่สร้างเสร็จแล้วบางส่วนแต่ยังไม่ได้พังถล่มลงมา โครงสร้างสะพานส่วนที่เหลืออยู่นั้น แม้จะยังไม่ได้พังถล่มลงมา แต่ก็อาจได้รับผลกระทบจากการกระแทกของโครงสร้างส่วนที่ถล่มไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการแตกร้าว การเสียรูปในบริเวณต่างๆของโครงสร้าง ตลอดจนการเคลื่อนที่ของฐานรอง (bearing) ดังนั้นการจะประเมินว่าโครงสร้างสะพานส่วนที่เหลืออยู่นี้ สามารถใช้งานได้ต่อหรือไม่ จึงต้องประเมินขอบเขตความเสียหายที่ได้รับโดยวิศวกรที่เชี่ยวชาญ รวมทั้งทำการทดสอบกำลังรับน้ำหนักของโครงสร้าง หรือในบางกรณีอาจต้องทำการเสริมกำลังให้โครงสร้างเพื่อให้รับน้ำหนักได้ตามที่ออกแบบไว้ หรือในกรณีที่โครงสร้างได้รับความเสียหายมากจนไม่สามารถซ่อมแซมหรือเสริมความแข็งแรงได้อีก ก็อาจต้องทุบทิ้งแล้วสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด
การดำเนินการทางวิศวกรรมทั้ง 3 ข้อนี้ ต้องใช้ผู้ชำนาญทางวิศวกรรม หรือองค์กรกลางทางวิชาชีพ เพื่อให้มั่นใจว่าได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานทางวิศวกรรมอย่างแท้จริงต่อไป