News

ข้อสังเกตเบื้องต้นกรณีการพังทลายของโครงสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่จากเหตุแผ่นดินไหว

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 เริ่มประมาณ 13.25 น. ณ จุดศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ ด้วยขนาด 7.7 ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด

เหตุการณ์ที่สร้างความหวาดหวั่นสำหรับผู้ทำงานหรืออยู่อาศัยในอาคารสูง คือ การพังทลายอย่างง่ายดายสิ้นสุดภายในเพียง 8 วินาที ของโครงสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ทั้งที่ตามทฤษฎีแล้ว การสั่นสะเทือนซึ่งเป็นผลจากแผ่นดินไหวในระยะไกล ผ่านดินอ่อนบริเวณภาคกลางมาถึงกรุงเทพฯ จะเหลือแต่คลื่นยาวความถี่ต่ำ ซึ่งอาจทำให้อาคารสูงแกว่งไกวได้ อาจมีการแตกร้าวเสียหายของปูนฉาบบ้าง แต่โอกาสที่จะพังทลายเป็นขนมชั้นแบบอาคาร คสล. นี้ ยากมาก หากได้รับการออกแบบและก่อสร้างที่ถูกต้อง

จากการสังเกตลักษณะการพังทลายที่เกิดขึ้นในแนวดิ่ง (Vertical Collapse) คล้ายกับการถล่มแบบขนมชั้น หรือ แพนเค้ก ทำให้อดนึกถึงภาพการถล่มของอาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่าที่นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2536 ซึ่งผมได้นำทีม วสท. เข้าไปสำรวจ ซึ่ง พบว่า เป็นอาคารที่ต่อเติมแล้วอยู่ได้อีก 5-6 ปีด้วยความปลอดภัยหมิ่นเหม่ เรียกว่า Factor of Safety ใกล้ 1.0 มากๆ เมื่อเสาเกิดการ Creep กำลังเสาลดลงถึงจุดพอดีกับฟางเส้นสุดท้าย เสาต้นแรกที่วิบัติ ก็ถ่ายน้ำหนักไปยังต้นอื่นๆ จนทุกต้นพังใกล้กันภายในไม่กี่วินาที สถานการณ์เหมือนอาคารลอยอยู่ในอากาศ และถล่มลงมาด้วยน้ำหนักตัวเอง ไม่มีการเอียง การพังของอาคาร สตง. จึงคล้ายกัน แต่ด้วยสาเหตุต่างกัน

จากคลิปวิดีโอที่ได้รับแชร์มาทางโซเชียลมีเดีย เมื่อลองเปิดดูด้วยความเร็วต่ำ ซึ่งน่าสนใจมาก โดยสามารถชมได้ทางยูทูปที่ผมทำไว้

เราจะสังเกตได้ชัดว่า ก่อนที่อาคารจะพังทลายเป็นแนวดิ่งลงมา จุดวิบัติแรกที่มองเห็นชัด คือ เสาสองต้น ที่เห็นในภาพที่ผม snapshot และวงสีเหลือง (แสดงไน Comments) ไว้

หลังจากการวิเคราะห์เบื้องต้นแล้ว จึงได้ตั้งเป็นข้อสังเกตดังนี้:

  • (1) อาคารมีการพังทลายในแนวดิ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเสารับน้ำหนักชั้นล่างวิบัติพร้อมกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน
  • (2) ไม่พบการเอียงกะเท่เร่ หรือการทรุดตัวแบบไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของอาคารที่พังทลายเนื่องจากแรงแผ่นดินไหว
  • (3) จากภาพที่ปรากฏ โครงสร้างส่วนบนของอาคารไม่แสดงการเสียรูปหรือการยุบตัวก่อนที่จะเกิดการพังทลาย
  • (4) การแกว่งตัวจากคลื่นยาว จะเป็นลักษณะโยกไปมา และมีการบิดตัวรอบแกนดิ่งด้วย จากภาพของนผังอาคาร จะเห็นว่า ศูนย์กลางจุดต้านการบิดตัวจะอยู่บริเวณกำแพงโถงลิฟท์ ซึ่งไม่ได้ตรงกับศูนย์กลางของผังอาคาร (แสดงใน comment แรก) การบิดตัวจึงเกิดโดยไม่สมมาตร มีผลทำให้เสาต่างๆ โดยรอบได้รับแรงกดผสมกับแรงเฉือนจากการบิดตัวของอาคาร ถ้าเสาไม่ได้ถูกออกแบบไว้ ก็อาจวิบัติด้วยแรงเฉือนพร้อมกับแรงหักกลางได้
  • (5) เสาที่วิบัติไปแล้ว เมื่อรับแรงไม่ได้ ก็จะถ่ายให้เสาถัดไป รวมทั้งผนังรอบปล่องลิฟท์ด้วย เมื่อโครงสร้างหลักวิบัติตามกันเป็นโดมิโนในเสี้ยววินาที อาคารก็จะขาลอย และจะตกกระแทกพื้นในแนวดิ่ง คล้ายยกอาคารลอยจากพื้น แล้วปล่อยให้ตกลงมาด้วยน้ำหนักตัวเอง การพังทลายในลักษณะนี้ยังคล้ายกับการระเบิดตึก ซึ่งต้องวางระเบิดให้เสาทุกต้นระเบิดพร้อมกัน อาคารจึงไม่เกิดการเอียง แต่จะพังทลายด้วยน้ำหนักโน้มถ่วงของตนเอง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้น อาคารนี้เป็นอาคารสูง 30 ชั้น โดยทฤษฎีแล้ว อาคารสูงถ้าออกแบบถูกต้อง น่าจะปลอดภัยกว่าอาคารเตี้ยเสียอีก เพราะมาตรฐานในการก่อสร้างและการใช้วัสดุ มีการควบคุมที่เข้มงวด แต่กรณีนี้ที่อาคาร สตง. ถล่มลงมาใช้เวลาเพียง 8 วินาที เพราะอะไร? ซึ่งจะทราบได้จริง ก็ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดโดยวิศวกรโครงสร้างอย่างเป็นทางการต่อไป

หมายเหตุเพิ่มเติม: ผมได้เห็นอีกหลายคลิป และมีบางคลิบที่แสดงให้เห็นว่า ชั้นบนดาดฟ้าที่ยังเสร็จไม่สมบูรณ์ จุดใกล้ๆเครนที่ค้างอยู่ มีการวิบัติก่อรที่ทั้งตึกจะถล่มลงมา  แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ จุดไหนวิบัติก่อน เรากำลังพยายามหาสาเหตุว่า ที่ตึกพังลงมาราบเป็นหน้ากลอง(ที่ทำให้ผู้ติดอยู่มีโอกาสรอดยาก) อะไรเป็นสาเหตุสำคัญ การวิบัติที่เกิดบนชั้นบนที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ถึงมันจะพังลงมา มันก็แค่กองอยู่บนชั้นล่างๆถัดๆไป อาจเอียงกระเท่เร่บ้าง แต่มันไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มในแนวดิ่ง การที่อาคารพังถล่มทลายในแนวดิ่งโดยมีการเอียงน้อยมากแบบนี้ น่าจะเกิดได้เพราะเสาชั้นล่างวิบัติพร้อมหรือใกล้เคียงกันในเวลาเสี้ยววินาทีเท่านั้น

หมายเหตุเพิ่มเติม 2: อีกประการหนึ่ง ลองจินตนาการว่า เราต้องใช้พลังงานมหาศาลขนาดไหนในการทำให้อาคารนี้ราบเป็นหน้ากลองแบบนี้ มันเป็นการทำงานของ F = ma โดย m คือ มวลของอาคาร ที่ขาลอย เหมือนถูกยกลอยแล้วปล่อยให้ gravity ทำงาน การพังจากช้้นบนๆลงมา คงไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะถล่มอาคารให้ราบแบบกรณีนี้ครับ