Sunday, November 24, 2024
Latest:
News

5 เทรนด์ ส่องอนาคต Smart Facility Management สู่ธุรกิจยั่งยืน

ธุรกิจการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่อยู่ในกระแสและเป็นที่จับตามอง เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ข้อมูลจาก Global Market Insights ระบุว่าธุรกิจการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์นั้นมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตรายปีจะไม่น้อยกว่า 13% ในช่วงปี 2566-2575 ยกเว้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่คาดว่าอัตราการเติบโตรายปีโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 15.5% เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและการลงทุนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างอินเดียและจีน

สำหรับภาพรวมตลาดบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยนั้น มีมูลค่ารวมหลายหมื่นล้านบาท และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล หรือศูนย์สุขภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังถือเป็นความท้าทายหลักในธุรกิจนี้ ทำให้ความต้องการในการจ้างงานบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะสูงขึ้น ในฝั่งของผู้ให้บริการจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันต่างๆ มาปรับใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน หรือตอบรับมาตรการรัฐด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้หากแบ่งตามประเภทของการบริการ ความต้องการในด้านการทำความสะอาดยังครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดผู้ให้บริการการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ตามด้วยการให้บริการด้านการรักษาความปลอดภัย

ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด (Metthier) ผู้ดำเนินธุรกิจการให้บริการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะแบบครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคตรายแรกของไทย ในเครือบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ สกาย กรุ๊ป กล่าวว่า ทิศทางของธุรกิจการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการให้บริการ

โดยเทรนด์ของ Smart Facility Management ในปี 2567 นี้จะเห็นการต่อยอดและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence (AI), Big Data หรือ Internet of Things (IoT) ในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการและการพัฒนาความเป็นอยู่หรือการใช้ชีวิตของคนให้ดีขึ้น ซึ่งมีเทรนด์หลักที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Autonomous Robotics) กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เช่น อาคาร สำนักงาน โรงแรม และสนามบิน หุ่นยนต์เหล่านี้ไม่ได้เข้ามาเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ แต่จะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความปลอดภัย และลดความเสี่ยงให้กับพนักงาน โดยเฉพาะในงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี อันตราย หรือต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด ที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และครอบคลุม โดยใช้ระบบนำทางด้วยเลเซอร์และกล้องสัญญาณ สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง ทำให้ลดระยะเวลาในการทำความสะอาดได้อย่างมาก ปัจจุบันหุ่นยนต์เหล่านี้ได้ถูกพัฒนาไปถึงจุดที่สามารถทำงานได้เอง รวมถึงชาร์จไฟตัวเองได้ ซึ่งเทคโนโลยี Autonomous Robotics กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจบริหารจัดการสถานที่ขนาดใหญ่ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจในอนาคต

2.เทคโนโลยีฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twin) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นการต่อยอดจาก Digital Mapping และ 3D Visualization โดยมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการประเมินการใช้พื้นที่แบบเรียลไทม์ สามารถที่จะป้อนข้อมูลและประเมินผลลัพธ์จำลองได้ทันที เทคโนโลยีนี้จึงมีส่วนช่วยในกระบวนการตัดสินใจและบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยสามารถประเมินทุกอย่างได้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องลงพื้นที่จริง ช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุน และตอบโจทย์คนทำงานในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี Digital Twin จึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจหลักในการยกระดับและทรานส์ฟอร์มการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ทั้งในส่วนของการบริหารคน ระบบ และพื้นที่ให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

3.ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security) ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในผู้นำตลาด Smart Security ในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งในเรื่องมูลค่าตลาดและความล้ำของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ในธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์มีการนำเทคโนโลยี Smart Security เข้ามาใช้ในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมคนเข้า-ออกอาคารด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ หรือแม้แต่การอ่านป้ายทะเบียนรถอัจฉริยะ แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น จากการอ่านใบหน้าคนหรืออ่านป้ายทะเบียนรถเพื่อควบคุมการเข้าออกอาคารนั้น เริ่มมีการใช้ AI เข้ามาตรวจจับใบหน้าหรือเลขทะเบียนรถในอาคาร และเชื่อมโยงระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบรักษาความปลอดภัย

4.เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) เป็นหัวข้อที่ยังมาแรงและคนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นแค่กระแสอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง โดยต้องคำนึงถึงแนวคิด “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นสำคัญ ซึ่งพิจารณาจากกระบวนการผลิต การเลือกใช้วิธีการจัดการในแต่ละขั้นตอน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ Green Technology ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้เกิด Smart Facility Management ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงานโดยใช้ IoT เข้ามาช่วยบริหารจัดการ หรือการคำนวณการปล่อยคาร์บอนตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุจนถึงการบริหารจัดการภายในอาคารเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและลดต้นทุนในการประกอบการได้หากมีการวางแผนที่ดีและเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

5.ระบบบริหารจัดการงานบำรุงรักษาด้วยคอมพิวเตอร์ (Computerized Maintenance Management System: CMMS) ในอนาคต CMMS จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการ Smart Facility Management โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการสภาวะแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ข้อมูล โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ห้องไฟฟ้า ห้องเครื่อง หรือในที่อื่นๆ ที่ไม่สามารถให้เกิดการผิดพลาดได้ เพราะอาจจะเกิดความเสียหายสูงทั้งในเรื่องของเม็ดเงิน ความปลอดภัย หรือผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนตลอดจนความไว้วางใจ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงกันมากเรื่องของการบูรณาการ CMMS เข้ากับระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ซอฟต์แวร์ทางการเงิน การบริหารจัดการข้อมูล ระบบธุรกิจอัจฉริยะ ระบบการบริหารจัดการพลังงาน และแพลตฟอร์ม PropTech เป็นต้น

“ธุรกิจ Smart Facility Management ในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคที่อยู่อาศัย หรือธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงาน อาคารมิกซ์ยูส หรือธุรกิจโรงพยาบาลที่อัตราการเติบโตยังดี โดยทาง Metthier มีพนักงานมืออาชีพกว่า 6,000 คน พร้อมที่จะให้บริการในการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบ รวมถึงการให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะที่มาพร้อมกับศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะเมทเธียร์ (Metthier Intelligent Operation Center: MIOC) และเทคโนโลยีแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น AI CCTV, Digital Twin, 3D Visualization, Digital Mapping, Smart Robotics และ MettLink ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแจ้งเตือน รปภ. และแม่บ้านแบบเรียลไทม์ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรและระบบภายในอาคาร โดย Metthier มุ่งมั่นที่จะพลิกโฉมและยกระดับ Smart Facility Management ของไทยสู่ระดับสากล พร้อมกับมอบคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความปลอดภัยให้กับทุกคน” ขยล กล่าวสรุป