Wednesday, December 4, 2024
Latest:
News

ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.กำหนดเขตเวนคืนที่ดิน ขยายท่าอากาศยานตรัง

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17  สิงหาคม  พ.ศ.2564  ที่มีพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง และตำบลโคกหล่อ ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง พ.. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป และรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

                สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา ประกอบด้วย กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง และตำบลโคกหล่อ ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เพื่อขยายสนามบิน โดยต่อเติมความยาวทางวิ่ง จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร ตามโครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานตรัง  เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องได้มาโดยแน่ชัด รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินอากาศอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค

     โดยคค. เสนอว่า 

                1. ท่าอากาศยานตรัง กรมท่าอากาศยาน เปิดให้บริการด้านการบินพาณิชย์ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน ปี พ.ศ. 2541 ได้มีการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คน/ชั่วโมง พร้อมปรับปรุงความยาวทางวิ่งเป็น 2,100 เมตร ให้รองรับอากาศยานขนาด 150 – 180 ที่นั่งได้ และจากการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พบว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 3,410,000 คน เป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 1,910,000 คน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1,500,000 คน จึงได้พิจารณาเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานให้เพียงพอต่อการรองรับปริมาณการขนส่งทางอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สามารถรองรับอากาศยานใหญ่ขึ้น เช่น B747 B777 A330 ที่เป็นอากาศยานขนาด 300 – 400 ที่นั่ง สามารถบินตรงไปยังประเทศในแถบยุโรปและแถบเอเชียได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศของจังหวัดตรังและใกล้เคียง 

                2. คค. รายงานว่า ในการดำเนินการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานตรัง ได้มีแผนและผลการดำเนินการที่ผ่านมา ดังนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้จ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบก่อสร้าง ขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และส่วนประกอบอื่น ๆ ท่าอากาศยานตรัง วงเงิน 24 ล้านบาท ดังนี้ ต่อเติมความยาวทางวิ่ง จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร, ก่อสร้างลานจอดเครื่องบินใหม่ให้รองรับเครื่องบินขนาด B747 ได้ 5 ลำ และ B737 ได้ 5 ลำ ได้พร้อมกัน, ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ให้รองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คน/ชั่วโมง หรือ 3.4 ล้านคน/ปี  

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าอากาศยานตรัง พบว่าสามารถก่อสร้างพัฒนาท่าอากาศยานตรังได้โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ และแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานตรังได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2563 แล้ว  

 ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2564 ก่อสร้างเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานตรัง วงเงิน 679 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 700 วัน โดยก่อสร้างลานจอดอากาศยานใหม่ด้านทิศใต้ของทางวิ่ง รองรับเครื่องบินขนาด B747 ได้ 5 ลำ และ B737 ได้ 5 ลำ ได้พร้อมกัน พร้อมปรับปรุงระบบไฟฟ้าสนามบิน ถนนภายใน ระบบระบายน้ำตามมาตรฐานสากล และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ วงเงิน 1,070 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง สำหรับงานจัดหาที่ดินเพิ่มเติมประมาณ 675 ไร่ เพื่อต่อเติมความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2566 

 สำหรับกรอบวงเงินหรือกรอบประมาณในการดำเนินโครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,741 ล้านบาท สรุปได้ดังนี้ 1. งานจัดหาที่ดินเพิ่มเติมประมาณ 675 ไร่ วงเงินงบประมาณ 869 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2666)  2. งานต่อเติมความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน วงเงินงบประมาณ 1,800 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2568)  3. งานจ้างควบคุมต่อเติมความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน วงเงินงบประมาณ 72 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 – 2568)  4. การดำเนินการโครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานตรังเพื่อต่อเติมความยาวทางวิ่ง จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร คค. มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยการเวนคืน เพื่อให้การต่อเติมความยาวทางวิ่งดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับจำนวนผู้โดยสารและสามารถให้บริการได้ตามมาตรฐาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น อันเป็นการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินอากาศอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมทั้งพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเติบโตทางการค้า การลงทุน และเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของพื้นที่เศรษฐกิจทางภาคใต้ ตลอดจนเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจ และเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน 5. กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กรมท่าอากาศยาน ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ผู้แทนหน่วยงานราชการระดับจังหวัดและอำเภอ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน สถาบันศึกษา ศาสนสถาน และสถานพยาบาล รวมจำนวน 47 ราย และผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง (ผู้ถูกเวนคืน) จำนวน 188 ราย เพื่อประชาสัมพันธ์และชี้แจงรายละเอียดของโครงการและการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้ผู้ถูกเวนคืนทราบสิทธิและหน้าที่ของตน และเปิดโอกาสให้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือในการสำรวจอสังหาริมทรัพย์  6. สำนักงบประมาณ (สงป.) แจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณประจำปีให้กรมท่าอากาศยาน เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว  7. คค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับโครงการขยายสนามบิน โดยต่อเติมความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร ตามโครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานตรัง ตามแบบฟอร์มที่กระทรวงการคลังกำหนด เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย รายละเอียดโครงการ แผนการบริหารโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ