News

เมสเซ่จัดงานแสดงนวัตกรรมและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ครั้งแรกในไทย โชว์ไฮไลท์นวัตกรรมและเทคโนโลยีอุปกรณ์ PPE กว่า 280 ราย

กรุงเทพฯ – 8 พฤษภาคม 2567 : เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ปักหมุด “ประเทศไทย” พื้นที่ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม PPE เตรียมจัด “งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีนานาชาติสำหรับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล” (CIOSH Thailand 2024) ครั้งแรก เชื่อมโยงนวัตกรรมด้านความปลอดภัยระดับโลกกับดีมานด์ภาคอุตสาหกรรม ผนึกกำลังภาคเอกชนร่วมแสดงผลงานเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้าถึงอุปกรณ์ PPE ที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ชูไฮไลท์นวัตกรรมจากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ PPE กว่า 280 ราย พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยขั้นสูง  ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุในที่ทำงานและอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน หลังพบสถิติผู้ปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรมเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 1,000 รายต่อปี โดยเฉพาะกลุ่มงานก่อสร้างและสาธารณสุข

          เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ในฐานะผู้นำการจัดงานแสดงสินค้าที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับโลก โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานภาคอุตสาหกรรม มากกว่า 30 ปี เล็งเห็นถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะศูนย์กลางอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ของโลก หลังพบรายงานความต้องการใช้อุปกรณ์ PPE สูงถึง 8.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573  โดย ‘ประเทศไทย’ ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรม PPE ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดที่ 21% โดยมีแรงหนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมหนัก การยกระดับข้อกฎหมายที่เข้มงวด การตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรม

            เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย พร้อมด้วย สมาคมการค้าสิ่งทอประเทศจีน (CTCA) จึงได้เร่งเครื่องจัด “งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีนานาชาติสำหรับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล” หรือ “CIOSH Thailand 2024” ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567  ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC)  บางนา เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงนวัตกรรมด้านความปลอดภัยระดับโลกเข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแล ผู้เชี่ยวชาญ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยขั้นสูง ครอบคลุมความปลอดภัยขณะปฏิบัติงานในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า สู่เป้าหมายในการลดอุบัติเหตุในที่ทำงานและอันตรายต่อสุขภาพ

             ภายในงานเตรียมพบกับไฮไลท์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยขั้นสูง จากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ PPE กว่า 280 ราย ดังนี้

  • อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ: หมวกนิรภัย สิ่งจำเป็นสำหรับการป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะที่เกิดจากวัตถุร่วงหล่นลงมา อันตรายจากไฟฟ้า และการกระแทกเหนือศีรษะ ซึ่งหมวกเหล่านี้มีหลายประเภทและการออกแบบที่ปรับให้เหมาะกับความเสี่ยงในสถานที่ทำงานโดยเฉพาะ
  • อุปกรณ์ปกป้องระบบทางเดินหายใจ: เครื่องช่วยหายใจ ตัวเลือกการป้องกันระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้งไปจนถึงเครื่องช่วยหายใจแบบฟอกอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งแต่ละชิ้นได้รับการออกแบบมาเพื่อกรองสารปนเปื้อนเฉพาะ
  • อุปกรณ์ปกป้องมือและแขน: ถุงมือ ปลอกแขน และถุงมือยาวที่ช่วยป้องกันการโดนบาด รอยถลอก การเจาะ การถูกไฟไหม้ และการสัมผัสสารเคมี โดยมีวัสดุและการออกแบบที่หลากหลายสำหรับงานเฉพาะด้าน
  • รองเท้านิรภัยและอุปกรณ์ปกป้องขา: รองเท้านิรภัยและอุปกรณ์ปกป้องขาจะช่วยป้องกันอันตรายจากการทำงานต่างๆ รวมถึง สิ่งของหล่น อันตรายจากไฟฟ้า การลื่นหรือการสะดุดล้ม
  • ผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษสำหรับชุดป้องกันและชุดทำงาน: ส่วนสำคัญในการผลิตชุดป้องกันและชุดทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของพนักงาน

            โดยมีผู้ร่วมงานหลักๆ จากประเทศจีน  เยอรมนี และไทย ในส่วนของของบริษัทผลิตอุปกรณ์ PPEในประเทศจีนต้องการตั้งโรงงานในไทย  โดยให้ทาง เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ติดต่อประสานงานกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

            “ทั้งนี้ คาดว่าตลอดการจัดงาน 3 วันเต็ม จะมีซัพพลายเออร์และผู้ซื้อทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 6,000 ราย บนพื้นที่ 10,000 ตร.ม. ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค  บางนา อย่างไรก็ดี CIOSH ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงสินค้าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ของ CIOSH ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกภายใต้ A+A ซึ่งเป็นงานอันดับ 1 ของโลกด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และสุขภาพในที่ทำงาน จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยกลุ่มเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ (Messe Düsseldorf) ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 50 ปี โดยจัดมาแล้วกว่า 5 ประเทศเมืองชั้นนำทั่วโลก อาทิ เยอรมนี อิสตันบูล สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ด้วยมุ่งสร้างเวทีชั้นนำสำหรับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์อย่างครบวงจร ล่าสุดจัดที่เมืองเซี่ยงไฺฮ้ ประเทศจีน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  บนพื้นที่ 80,000 ตร.ม.  ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าศูนย์ประชุมไบเทค   มีผู้ร่วมจัดแสดงงาน 1,500 ราย และมีผู้เข้าร่วมชมงาน 40,866 คน ” เกอร์นอท กล่าว

            อาจารย์ชาญณรงค์ ไวยพจน์ เลขาธิการสมาคมวิศวกรรมความปลอดภัย  กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุปกรณ์ PPE ได้รับการออกแบบและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนผ่านการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้ได้อุปกรณ์ PPE ที่สวมใส่สบาย รู้สึกมั่นใจและปลอดภัยตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการเข้าถึงอุปกรณ์ PPE ทำให้ยังพบบุคลากรเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มงานก่อสร้างและสาธารณสุข สมาคมวิศวกรรมความปลอดภัยจึงได้เปิด “คลินิกให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัย” (Safety Clinic) ขึ้นภายในงาน CIOSH Thailand 2024 แก่ผู้สนใจทั่วไปปและผู้ที่ทำงานด้านต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นโซลูชันเสริมสร้างความมั่นคงให้กับอนาคตของภาคอุตสาหกรรม พร้อมรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัย ตลอดจนสาธิตการใช้อุปกรณ์ PPE ในการทำงานจากที่สูงที่ถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ

            ในงานก่อสร้าง การทำงานในที่สูง จะต้องคำนวณระยะตก จุดยึดแรงดึง วัตถุดิบ PPE    จะต้องรับแรงดึงได้ และงานด้านการแพทย์  อุปกรณ์รังสีของแพทย์จะต้องป้องกันรังสีให้ดี เพื่อสร้างจิตสำนึกให้มีการใช้อุปกรณ์ PPE  มากขึ้น

            สุรเชษฐ์ สีงาม อุปนายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA) กล่าวว่า มาตรฐานและความปลอดภัยอาคารถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ด้วยองค์ประกอบที่ครอบคลุมเรื่องงานออกแบบโครงสร้างอาคาร การเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ แผนการดำเนินงานก่อสร้าง การบำรุงรักษา ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใช้อาคารมีความปลอดภัย ตลอดจนป้องกันการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินในอนาคต ซึ่งมาตรฐานสำคัญขั้นพื้นฐานที่อาคารในไทยต้องมีตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ประกอบด้วย มาตรฐานความมั่นคงและแข็งแรงของอาคาร ระบบบริการภายในอาคาร อาทิ ระบบป้องกันเพลิงไหม้, ระบบบำบัดน้ำเสีย, ระบบลิฟต์ รวมถึงระบบบริหารการจัดการความปลอดภัยในอาคาร 

ในส่วนของอุปกรณ์ PPE  ถือเป็นพื้นฐานขั้นต่ำที่จะต้องทำและตระหนักในเรื่องอันตรายและความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม  สำหรับการกู้ภัย มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงนำชุดPPE  มือสองมาใช้ทดแทนชุด PPE เก่าที่หมดอายุ ที่เป็นเช่นนี้เพราะหน่วยงานภาครัฐยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นจำนวนมาก 

            ที่ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ ที่สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร สมาคมวิชาชีพของวิศวกรและสถาปนิก ได้เดินหน้าถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพ “ผู้ตรวจสอบอาคารในประเทศไทย” เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารในประเทศไทย  ปัจจุบันมีผู้ตรวจสอบอาคาร 700 คน

            ด้าน อกนิษฐ์ สมิตะพินทุ นายกสมาคมบริหารงานจัดซื้อและซัพพลายเชนแห่งประเทศไทย (PSCMT) กล่าวว่า นักจัดซื้อมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากต้องซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อใช้งานจริง โดยสามารถกำหนดเงื่อนไขด้านความปลอดภัยให้ผู้รับเหมาได้ปฏิบัติ   ตลอดจนมีส่วนโน้มน้าวให้ซัพพลายเออร์ขององค์กรปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยและการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลที่มีมาตรฐาน และที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะต้อง Balance ให้เหมาะสมระหว่างความปลอดภัยและการลงทุนทางเศรษฐกิจ ส่วนการดูแลสุขภาวะและความปลอดภัยของพนักงานจะเป็นการส่งเสริมเป้าหมายด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ขององค์กรอีกด้วย

             นอกจากนั้นการเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมและได้มาตรฐานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการสนับสนุนให้เกิดการสวมใส่และใช้งานจริง โดยอาจจะสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับซัพพลายเออร์ อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่า (Value Added) ร่วมกันของนักจัดซื้อกับซัพพลายเออร์ หลายองค์กรยังเห็นว่าอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยเหล่านี้เป็นต้นทุน นักจัดซื้อจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงต้นทุนรวม อันที่จริงแล้วมีต้นทุนที่ซ่อนอยู่นั้นสูงมาก การลงทุนอุปกรณ์เพื่อบรรเทาอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วอาจความเสียหายที่สูงมาก

            สำหรับการจัดงาน CIOSH Thailand 2024 ช่วยให้ผู้ออกงานได้พบปะกับผู้ซื้อในประเทศไทย และบรรดานักจัดซื้ออย่างพวกเราก็จะได้เห็นเทคโนโลยี  ทั้งในด้านวัสดุ และอุปกรณ์การป้องกันอันตรายต่าง ๆ ตลอดจนได้พบผู้ขายรายใหม่ ๆ ในตลาดและมั่นใจว่างานนี้จะสนับสนุนให้เกิดทางเลือกและการแข่งขัน อันจะเป็นประโยชน์ของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอย่างมาก อีกทั้งทางสมาคมฯ ได้บรรยายหัวข้อ การพัฒนางานจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ (Enhancing Procure Safety Product with Sourcing Efficiency) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการจัดซื้ออุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างมืออาชีพ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของสมาคมฯ อีกด้วย