Thursday, November 21, 2024
Latest:
News

วัน แบงค็อก พัฒนาออกแบบพื้นที่สาธารณะ ผ่านนิทรรศการ “Seatscape & Beyond Open Studio”

วัน แบงค็อก” (One Bangkok) ตอกย้ำวิสัยทัศน์ในการเติบโตไปพร้อมกับกรุงเทพ (Evolving Bangkok) ร่วมขับเคลื่อนเมืองผ่านความคิดสร้างสรรค์ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 (Bangkok Design Week 2023) อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ภายใต้คอนเซ็ปต์การจัดงานปีนี้ urban‘NICE’zation เมืองมิตรดี” โดยวัน แบงค็อก ได้ส่งต่อแนวคิดเรื่องการสร้างคอลเลคชั่นที่นั่งสาธารณะที่จะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญเพื่อส่งมอบประสบการณ์ในพื้นที่สาธารณะที่ดีให้แก่เมือง อีกทั้งยังได้เปิดเวทีเสวนาสาธารณะเผยแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ (Public Realm)

วรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของโครงการสนับสนุนเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ว่า วัน แบงค็อก ให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาเมืองยั่งยืน และสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมือง เรามุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้าอย่างเป็นมิตรด้วยงานศิลปะ ผลักดันงานศิลปะให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์แก่เมืองและชุมชน สร้างย่านธุรกิจชั้นนำอันเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกของทุกไลฟ์สไตล์ โดยมีองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญคือ พื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 ไร่ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยออกแบบให้เป็นจุดพักผ่อนใจกลางเมืองและเป็นพื้นที่สันทนาการของเมือง พร้อมมอบประสบการณ์แห่งศิลปะและวัฒนธรรม (Art & Culture) ผ่านผลงานศิลปะสาธารณะ และโปรแกรมทางศิลปะต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะทั่วโครงการ ด้วยความมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเปิดโอกาสในการใช้งานศิลปะสาธารณะเป็นกระบอกเสียงเพื่อสื่อสารแนวคิดสำคัญที่ศิลปินมีต่อสังคม ด้านวัฒนธรรม การสะท้อนอัตลักษณ์และเรื่องราวของพื้นที่ ตลอดจนด้านเศรษฐกิจ การมีส่วนในการพัฒนาศิลปิน พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

“ในฐานะผู้จัดการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ซึ่งเราเริ่มโครงการเปิดรับสมัครมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้เราได้มีโอกาสมองเห็นพัฒนาการของน้องๆ ผู้เข้าประกวดมาตั้งแต่วันแรก กระทั่งเข้าร่วมเวิร์คช็อปเป็นเวลากว่า 6 เดือน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขามาร่วมให้ความรู้กับน้องๆ ผมขอยินดีกับความสำเร็จของน้องๆทีมที่ชนะทั้งหมด และรางวัลพิเศษสำหรับ 3 ทีมที่ได้รับรางวัล Best Performance ซึ่งจะเสมือนเป็นบันไดก้าวแรกให้น้องๆ ได้เติบโตในฐานะนักออกแบบรุ่นใหม่ เราเชื่อมั่นว่าผลงานที่ได้รับคัดเลือกมาผลิตชิ้นงานจริงทั้ง 10 ชิ้น เพื่อติดตั้งในโครงการวัน แบงค็อก จะสร้างความภาคภูมิใจและเป็นพอร์ต ฟอร์ลิโอที่ดีให้กับน้องๆ ได้ปูทางสู่การเป็นนักออกแบบอาชีพในอนาคต” วรวรรต กล่าว

ด้านจรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมโครงการ วัน แบงค็อก กล่าวในงานเสวนาสาธารณะภายใต้หัวข้อ Public Realm | Public Art | Public Culture ว่า วัน แบงค็อก เชื่อว่าพื้นที่เมืองที่มีคุณภาพและเป็นมิตร คือพื้นที่สีเขียวที่มีจำนวนมากเพียงพอ และเป็นพื้นที่เปิดโล่ง สามารถรองรับกิจกรรมของผู้คนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่จะเป็นการพักผ่อน (Pause) หรือเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงและสันทนาการให้กับผู้คน (Play) ซึ่งการสร้างพื้นที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่ภาคเอกชนเองก็สามารถเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่จะสามารถพัฒนาพื้นที่ของตัวเองให้มีคุณภาพเพื่อให้คนทั่วไปเข้ามาใช้พื้นที่ได้

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดโครงการการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ซึ่งวัน แบงค็อก ตั้งใจจัดขึ้น เพื่อเฟ้นหาเฟอร์นิเจอร์สาธารณะ มาเติมเต็มพื้นที่สาธารณะที่จะเกิดขึ้นภายในโครงการวันแบงค็อก ภายใต้ธีม “Seatscape & Beyond” เฟ้นหาที่นั่งสาธารณะที่จะตอบโจทย์พฤติกรรมที่หลากหลายของผู้คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ภายในวัน แบงค็อก

“การประกวดจัดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีผู้เข้ารอบทั้งหมด 10 ทีม จากนั้นผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีมจะต้องร่วมเวิร์คช็อปกับ THINKK Studio เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน เพื่อบ่มเพาะไอเดียและกระบวนการคิด เพื่อนำไปสู่การผลิตชิ้นงานจริง และนำมาติดตั้งจริงใช้งานจริงในโครงการวัน แบง ค็อก ภาพรวมของผลงานถือว่าเราร่วมเดินทางกับทุกทีมมาโดยตลอด น้องๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ระหว่างการเวิร์คช็อปเราได้เห็นพัฒนาการผลงานออกแบบในทางที่ดีขึ้น โครงการนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีให้น้องๆ ได้พัฒนาศักยภาพการออกแบบของตัวเอง เพื่อเป็นโอกาสก้าวไปสู่เส้นทางนักออกแบบมืออาชีพในอนาคต” จรินทร์ทิพย์ กล่าว

สำหรับผลงานการประกวดจากผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีม ได้นำมาจัดแสดงนิทรรศการ Seatscape & Beyond Open Studio” บริเวณลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก มีโจทย์แบ่งตามพฤติกรรมการนั่ง 4 รูปแบบ คือ Sit to Linger, Sit to Gather, Sit to Play และ Sit to Transfer ซึ่งเป็นโจทย์หลักของโครงการประกวดมาตีความจนเกิดเป็นผลงานออกแบบที่ชวนให้ผู้ร่วมเทศกาลฯ ได้มานั่งพักผ่อนไปพร้อมกับสำรวจความหมายของการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ภายในงานยังเป็นการประกาศผลรางวัลพัฒนาการยอดเยี่ยม 3 รางวัลพิเศษจาก 10 ทีมดังกล่าว สร้างความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของเยาวชนนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้มีประสบการณ์การทำงานกับโครงการระดับโลกอย่าง “วัน แบงค็อก”

พลอยพรรณ ธีรชัย และ เดชา อรรจนานันท์ นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง THINKK Studio ที่ปรึกษาโครงการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” กล่าวถึงภาพรวมความโดดเด่นของทีมผู้ชนะทั้ง 10 ทีม ว่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างเปิดกว้างทางความคิด มีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ ในการนำเครื่องมือ เทคโนโลยีใหม่ๆ และแสวงหากลไกวิธีคิดที่บางครั้งคาดไม่ถึงเข้ามาช่วยในการพัฒนาแนวคิดในการออกแบบและกระบวนการคิดในการทำงาน รวมถึงกล้าที่จะใช้วัสดุแปลกใหม่เข้ามาใช้เป็นองค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์

“ในขั้นตอนของการเวิร์คช็อป เรามุ่งให้ความรู้ค่อนข้างละเอียดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ผู้ชนะทั้ง 10 ทีม เข้าใจระบบและสามารถวางแผนการทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ ตั้งแต่การใช้วัสดุ คุณสมบัติหรือขนาดมาตรฐานของวัสดุ กระบวนการผลิต เรียนรู้ข้อจำกัดของการทำงาน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้จริง โดยยังคงเก็บข้อดีของคอนเซ็ปต์งานออกแบบที่อยู่ในจินตนาการเอาไว้ได้

นอกเหนือจากการจัดแสดงนิทรรศการ “Seatscape & Beyond Open Studio” และงานเสวนาสาธารณะแล้ว โครงการวัน แบงค็อกยังจัดกิจกรรมสาธารณะ “Seatscape & Beyond Presentation” เปิดเวทีให้ผู้ร่วมเทศกาลฯ ได้มาร่วมรับชมการนำเสนอผลงานรอบสุดท้ายของผู้ชนะทั้งหมด เพื่อเฟ้นหา 3 สุดยอดผลงานที่มีพัฒนาการดีที่สุด คว้าเงินรางวัลพิเศษรวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท ซึ่งการตัดสินผลงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในวงการออกแบบชั้นนำเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินมากมาย อาทิ วรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการวัน แบงค็อก, สุรพล อุทินทุ ผู้อำนวยการสำนักประสานงานภายนอก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และผู้อำนวยการ eisa (Education Institute Support Activity) โครงการสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนระดับอุดมศึกษา, วรรณพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด, ม.ล.ภาวินี สันติศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อโยธยาเทรด (93) จำกัด และผู้ก่อตั้งแบรนด์ AYODHYA, พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, คุณจรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ วัน แบงค็อก และคุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Media & Event Business บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ทีม แด่เพื่อนที่ (ไม่)รู้จัก คว้ารางวัลพัฒนาการยอดเยี่ยม (Best Performance)

สำหรับผู้ชนะเลิศที่คว้ารางวัลพัฒนาการยอดเยี่ยม (Best Performance) ไปครอง ได้แก่ ทีม แด่เพื่อนที่ (ไม่)รู้จัก โดย กฤตธี วงศ์มณีโรจน์ และ วิภพ มโนปัญจสิริ นักศึกษาปี 5 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโจทย์ที่พวกเขาได้รับเป็น Sit to Gather โดยได้ออกแบบที่นั่งสาธารณะภายนอกอาคาร บริเวณจุดทางเดินหลักของตัวโครงการวัน แบงค็อก

การออกแบบเออร์เบิน เฟอร์นิเจอร์ คนส่วนใหญ่มักคิดถึงเรื่องฟอร์ม แต่ผลงานของเราตั้งใจจะออกแบบฟอร์มให้เกิดสเปซ หรือพื้นที่ว่าง เพื่อให้เกิดจังหวะของการนั่งล้อมวงกัน ซึ่งตอบโจทย์ที่นั่งส่งเสริมการรวมกลุ่มกัน ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ซึ่งคือหัวใจของการออกแบบพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากการออกแบบที่นั่งสาธารณะต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ที่นำไปใช้งาน ซึ่งจุดติดตั้งของเฟอร์นิเจอร์ชุดนี้จะเป็นจุดที่ใครก็ตามที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่จะผ่านจุดนี้ ฉะนั้น เออร์เบิน เฟอร์นิเจอร์ ของเราจึงไม่ใช่แค่ที่นั่งที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ แต่ออกแบบเพื่อเป็น ผลงานประติมากรรมให้ผู้ชมได้ชื่นชมอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องดึงดูดสายตาคน และใช้งานได้จริงด้วย

ทั้งนี้ ผู้ชนะทั้งสองยังได้เผยถึงความประทับใจต่อการร่วมเวิร์คช็อปและร่วมโครงการประกวดครั้งนี้ว่า ตลอดเวลากว่า 5 เดือนที่ได้มีโอกาสร่วมเวิร์คช็อป ได้รับความรู้จากทีมงานและผู้เชี่ยวชาญที่มาเปิดโลกการออกแบบที่ดี เสริมประสบการณ์การออกแบบที่นำมาใช้ในการทำงานได้ในชีวิตจริง

“เราได้รับมุมมองใหม่ๆ ว่าเฟอร์นิเจอร์เป็นได้มากกว่าที่สำหรับการนั่ง แต่สามารถสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์ได้ เป็นพื้นที่ที่ให้คนมาใช้ชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ความรู้อีกอย่างที่ได้รับคือเรื่องการใช้เครื่องมือการออกแบบ เราได้ใช้โปรแกรมการทำงานที่ไม่เคยได้ใช้ในมหาวิทยาลัยเลย ด้วยความที่เราเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรม เนื้อหาการเรียนจะโฟกัสไปที่การออกแบบอาคาร แต่โครงการนี้ทำให้เรามองเห็นความสำคัญของเฟอร์นิเจอร์ และนำหลักคิดมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบอื่นๆ ได้”