รมว.คมนาคม เร่งรัดการนำระบบตั๋วร่วมใช้กับรถไฟฟ้า – ระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมี ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมการขนส่งทางราง อธิบดีกรมเจ้าท่า เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ประสงค์ พูนธเนศ ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล และทศพร ศิริสัมพันธ์ เข้าร่วมประชุม
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวภายหลังจากการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คนต. จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร และคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินการของอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร เนื่องจากผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะมีความพร้อม คณะอนุกรรมการฯ จึงวางแนวการออกแบบมาตรฐานทางเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมให้เป็นแบบการใช้บัญชีระบุตัวตนผู้โดยสาร (Account Based Ticketing: ABT) และบัตรที่ใช้เป็นแบบระบบเปิด (Open Loop) กรอบแนวนโยบายการบริหารจัดการตั๋วร่วม มีการแบ่งเป็นส่วนของผู้ใช้บริการ ส่วนของผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ศูนย์กลางจัดการค่าโดยสาร (Central Clearing House) และส่วนผู้ให้บริการชำระเงิน และ มีการกำหนดแผนการดำเนินการเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะสั้น ภายในปีพ.ศ. 2564 จะสามารถนำระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing (ABT) มาใช้ได้ สำหรับในระยะกลาง ภายในปีพ.ศ. 2565 จะมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) เพื่อรองรับการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม และในระยะยาว ภายในปีพ.ศ.2566จะมีการจัดตั้งสำนักงานกลางเพื่อมาทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องตั๋วร่วม พร้อมประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ เพื่อสามารถบังคับใช้ระบบตั๋วร่วมกับผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะทั้งที่เป็นของรัฐและของเอกชน
ส่วนคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ จะสรุปปัญหาเรื่องมาตรฐานอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน ได้แก่ การเก็บค่าแรกเข้าในแต่ละสายไม่เท่ากัน การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในแต่ละสายไม่เท่ากัน มีการเก็บค่าแรกเข้าทุกครั้งเมื่อมีการเดินทางข้ามระบบ และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารไม่สะท้อนกับระยะทาง สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาสำหรับสายรถไฟฟ้าที่สัญญาสัมปทานได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว คณะอนุกรรมการฯ จะทำการศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขสัญญาพร้อมแนวทางการชดเชย กรณีที่มีความจำเป็น แต่สำหรับสายรถไฟฟ้าที่จะมีการลงนามในอนาคต คณะอนุกรรมการฯ จะทำการศึกษาเพื่อกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสมเพื่อกำหนดในสัญญาสัมปทานก่อนทำการลงนาม
ปัจจุบัน คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย และในต่างประเทศ พร้อมทำการวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปที่ต้องดำเนินการคือการสรุปการกำกับดูแล การจัดสรรรายได้ เมื่อมีการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม โดยจะสามารถสรุปผลได้ภายในเดือนกันยายน 2564
นอกจากนี้ในที่ประชุมหน่วยงานที่เป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบตั๋วร่วม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานต่อที่ประชุมว่ากำลังดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมโดยใช้เทคโนโลยี Account Based Ticketing (ABT) ซึ่งปัจจุบันออกแบบระบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์และติดตั้งระบบ โดยได้ทำการทดสอบระบบครั้งแรกที่สถานีหัวลำโพงและสถานีสนามไชยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าระบบใช้งานได้ถูกต้อง ตามแผนงานจะดำเนินการทุกอย่างแล้วเสร็จภายในสิ้นปีพ.ศ. 2564 และสามารถเปิดให้ประชาชนใช้งานระบบได้ในต้นปีพ.ศ. 2565
ด้านการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รายงานที่ประชุมว่ามีการเริ่มใช้บัตรจ่ายเงินที่ใช้เทคโนโลยี Account Based Ticketing (ABT) คล้ายกับที่ รฟม. กำลังพัฒนา โดยเริ่มใช้กับทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษเฉลิมมหานครไปแล้ว
นอกจากนี้ระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing (ABT) ดังกล่าว กำลังทำการติดตั้ง เพื่อใช้งานกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และทางพิเศษดอนเมืองโทลล์เวย์ โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในสิ้นปีพ.ศ. 2564
นอกจากนี้ ศักดิ์สยาม ได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการดังนี้ 1. มอบคณะอนุกรรมการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง เพื่อร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการด้านสิทธิในทรัพย์สินของระบบบริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) เพื่อรองรับการดำเนินการภายหลังจากมีการจัดตั้งสำนักงานกลางตั๋วร่วมในอนาคต 2. มอบคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรฐานในการวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงพิจารณาทบทวนแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และ3. มอบคณะอนุกรรมการร่วมกับธนาคารกรุงไทย พิจารณาแนวทางการลงทุนในระบบ EMV ที่ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบ M-Flow ให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงสุด