Sunday, November 24, 2024
Latest:
News

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ 35.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากช่วงเช้า ที่ได้แรงหนุนจากการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ อาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ส่วนในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทก็ยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ จากท่าทีของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ต่างส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ส่วนรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) สหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด และถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสที่ย้ำจุดยืน “ลดดอกเบี้ยได้ แต่ยังไม่รีบ” ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเช่นกัน

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย

ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังบรรดาธนาคารกลางหลักต่างส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยได้ในช่วงกลางปี ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นร้อนแรง อาทิ Nvidia +4.5%, Meta +3.3% (สวนทางกับคาดการณ์ของเราที่มองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงมากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานในคืนวันศุกร์) ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.51% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.03%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.99% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML +4.1% ท่ามกลางความหวังว่า ECB จะทยอยลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ผลการทดลองยาลดน้ำหนักของทาง Novo Nordisk ที่ออกมาสดใส ก็ช่วยหนุนให้ราคาหุ้นบริษัทปรับตัวขึ้นแรง +8.3% และช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรป

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 4.10% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสานต่อเนื่อง และการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้งเฟดและ ECB ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ ที่อาจพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด “เซอร์ไพรส์” ผู้เล่นในตลาดและเรา อย่างไรก็ดี Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (อาจเน้นทยอยเข้าซื้อในโซน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือระดับ 4.20%)

ด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำว่าการลดดอกเบี้ยสามารถเกิดขึ้นได้ในปีนี้ เพียงแต่เฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังว่า BOJ อาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.8-103.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของบรรดาธนาคารกลางหลักที่ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ย ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อ เหนือระดับ 2,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น (ทำให้ราคาทองคำในสกุลเงินบาท อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก เมื่อเทียบกับราคาทองคำในสกุลเงินดอลลาร์)

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลสำคัญตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls), อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings, %y/y) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเช่นกัน เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้เรายังคงมุมมองเดิม ว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways down แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจเริ่มชะลอลง โดยเฉพาะหลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้าก็อาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อเงินบาทอยู่บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้เร็วและแรง หากข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก “เซอร์ไพรส์” ผู้เล่นในตลาดและเรา (ต้องเห็นยอดการจ้างงาน Nonfarm Payrolls เพิ่มขึ้น มากกว่า 2.5 แสนราย และหากเพิ่มขึ้น ราว 3 แสนราย ก็จะยิ่งกดดันเงินบาทได้พอสมควร)

อนึ่ง สมมติฐานของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดหวังว่า BOJ จะเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ก็อาจยังพอช่วยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ไม่ได้อ่อนค่ารุนแรง ซึ่งจะช่วยลดทอนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ตลาดอาจรอจังหวะเงินเยนผันผวนอ่อนค่า หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ในการเพิ่มสถานะ Long JPY (มองเงินเยนแข็งค่าขึ้น) ก่อนที่จะไปทยอยลดสถานะดังกล่าวในช่วงเข้าใกล้การประชุม BOJ เดือนมีนาคม ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคมนี้

นอกจากนี้ ควรระวังแรงเทขายราคาทองคำในคืนนี้เช่นกัน หากเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง จากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน หลังราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่โซน Overbought และเสี่ยงต่อการปรับฐานรุนแรงในระยะสั้นได้ ทำให้เรามองว่า ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นในช่วง 35.35-35.80 บาทต่อดอลลาร์

“เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง” พูน กล่าว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท 35.35-35.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ

by พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย