Thursday, November 21, 2024
Latest:
News

กรมเจ้าท่าเร่งก่อสร้างท่าเรือสำราญที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่มประสิทธิภาพรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญขนาดใหญ่

กรมเจ้าท่า (จท.) เร่งดำเนินโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือ รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี (Cruise Terminal) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญขนาดใหญ่ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ปัจจุบันเกาะสมุยยังไม่มีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เรือสำราญที่ต้องการเทียบท่าที่เกาะสมุยต้องทอดสมอกลางทะเล บริเวณหาดหน้าทอน และขนส่งนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่งด้วยเรือขนาดเล็ก โดยมีนักท่องเที่ยวสนใจขึ้นฝั่งประมาณ 50% ดังนั้น การพัฒนาท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ขึ้นฝั่ง เพื่อไปท่องเที่ยวและพักผ่อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในอำเภอเกาะสมุย และพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี (Cruise Terminal) มีความก้าวหน้า ดังนี้

1. จท. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมลงทุน (Public Private Partnership : PPP) โครงการฯ ตามงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 – 2565 ซึ่งการศึกษาฯ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ จท. จะนำผลการศึกษาฯ เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินการในรูปแบบ PPP ต่อไป สำหรับผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ พบว่า พื้นที่บริเวณแหลมหินคม ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่มากที่สุด โดยมีขอบเขตการดำเนินงาน ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร พื้นที่อย่างน้อย 7,200 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง ตัวอาคารสามารถรองรับและส่งเสริมการใช้งานของอาคารโดยสารให้มีกิจกรรมได้ตลอดทั้งปี เช่น ห้องประชุม ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และร้านอาหาร การก่อสร้างสะพานขึง ความกว้าง 40 เมตร ยาว 445 เมตร เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารและอาคารศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว อาคารจำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านอาหาร และอาคารบริการ (บริเวณหลังท่าเรือ) โดยการก่อสร้างสะพานขึงจะช่วยไม่ให้ปะการังที่อยู่บริเวณใต้สะพานได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างสำหรับท่าเรือที่จะให้บริการแบ่งออกเป็น ท่าเรือเฟอร์รี่ (ทางเลือก) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปและกลับจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช (จอดเรือได้สูงสุด 6 ลำ) ท่าเรือยอร์ช (ทางเลือก) ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือที่ทันสมัย สามารถรองรับเรือยอร์ชได้ 80 ลำ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถออกแบบได้ใหม่เพื่อให้บริการเรือยอร์ชได้หลากหลายประเภทมากขึ้น โดยรูปแบบอาคารบริการต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดของ จท. เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมได้ทั้งหมดทั้งในส่วนของท่าเทียบเรือสำราญ ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ และท่าเรือยอร์ช

2. จท. ได้ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือ Landing Pier สำหรับรองรับเรือสำราญ Cruise ที่จะเข้ามาทิ้งสมอบริเวณท่าเรือหน้าทอน ตามงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2564 – 2566 เพื่อก่อสร้างท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับการขนถ่ายนักท่องเที่ยวจากเรือ Cruise ให้สามารถขึ้นฝั่งได้อย่างเป็นระเบียบ รวดเร็ว และปลอดภัย ขอบเขตการดำเนินงานประกอบด้วย การก่อสร้างที่พักคอยรองรับผู้โดยสาร ขนาด 30×60 เมตร พื้นที่ประมาณ 1,800 ตารางเมตร การก่อสร้างสะพานทางเดิน ขนาด 5×152 เมตร พื้นที่ประมาณ 760 ตารางเมตร การก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ คอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4×20 เมตร จำนวน 8 ชุด พื้นที่ประมาณ 640 เมตร และการติดตั้งเสากันกระแทกและยางกันกระแทก โดยการดำเนินงานจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้ รูปแบบอาคารบริการต้องมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของ จท. เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมได้ทั้งหมด ทั้งในส่วนของท่าเทียบเรือสำราญ ท่าเรือเฟอร์รี่ และท่าเรือยอร์ช