รมว.แรงงาน หารือลิซ่า นายก TCA -ผู้รับเหมา แจงมาตรการเยียวยาคนงานช่วงปิดแคมป์ 1 เดือน
กรุงเทพฯ -27 มิถุนายน 2564 :สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) และผู้ประกอบการจำนวน 24 คน อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ฤทธา จำกัด บริษัท ทวีมงคลก่อสร้าง จำกัด บริษัท ยูเวิร์ด 999 จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือในแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าว โดยมี สุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) สุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
สุชาติ ชูกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานนั้น และได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลค่าใช้จ่าย เงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการ
“ในช่วงที่มีการปิดแคมป์ กระทรวงแรงงานจะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย COVID-19 เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. โดยให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินสด 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ให้คนงานทุกๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีระบบการตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยาจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะประสานกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจคัดกรอง COVID-19 เชิงรุก (Swab) แก่แรงงานในแคมป์คนงาน 100 เปอร์เซ็นต์ หากตรวจพบเชื้อจะต้องแยกตัวแรงงานเพื่อมาเข้าสู่การรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข
ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 รวมทั้งเฝ้าระวังตรวจสอบทุกโรงงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปตรวจตราทำความเข้าใจกับนายจ้างผู้ประกอบการให้เข้มงวดถึงมาตรการป้องกัน COVID-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงาน และกรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบหากกรณีพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป