Thursday, April 3, 2025
News

กระทรวง อว. – สกสว. เปิดแผนยุทธศาสตร์รับมือแผ่นดินไหว ชี้แอ่งดินอ่อนในกรุงเทพฯ เป็นปัจจัยเสี่ยง เร่งพัฒนาเทคโนโลยี ววน.

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมภาครัฐและนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ จัดเวทีเสวนา “ก้าวข้ามธรณีพิโรธ: นวัตกรรม ววน. พลิกเกมภัยแผ่นดินไหว เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของไทย” เพื่อถอดบทเรียนจากกรณีแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดตัวเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ที่สามารถนำมาใช้รับมือภัยพิบัติในทุกมิติ และมุ่งเน้นแนวทางเสริมความปลอดภัย ลดความสูญเสีย และเพิ่มความสามารถในการรับมือกับแผ่นดินไหวของประเทศอย่างเป็นระบบ

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กระทรวง อว. ได้เร่งระดมสรรพกำลัง ทั้งนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานในสังกัด เพื่อนำผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงนำองค์ความรู้ทางวิชาการไปสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมเน้นย้ำว่ากองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดย สกสว. ได้รับผิดชอบการจัดทำแผนด้าน ววน. ซึ่งเป็นแผนวิจัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของไทย และได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในระบบ ววน. เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว

โดยทาง กระทรวง อว. ได้มีการส่งทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot (ไอ-แล็ปโรบอท) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และหุ่นยนต์ตรวจการณ์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก D-EMPIR V.4 (ดี-เอ็มไพร์ เวอร์ชันโฟร์) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย บริเวณอาคารที่ทำงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่ม พร้อมจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือด้านการตรวจสอบอาคารและการแพทย์ (ศปก.อว.) มีการใช้ Traffy Fondue ให้ประชาชนแจ้งเหตุ เพื่อส่งทีมเข้าประเมินความเสี่ยงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขณะที่ GISTDA ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม THEOS-2 ประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“ กระทรวง อว. มีบทบาทหลักในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้รับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดเร่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุม 3 ด้านหลัก 1) “พัฒนาระบบเตือนภัยในทุกมิติ” แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ภัยแล้ง พร้อมระบบข้อมูลและการสื่อสารที่รวดเร็วและทั่วถึง 2) “เสริมการจัดการภัยพิบัติ” สนับสนุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการจัดการภัยพิบัติและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนในพื้นที่ 3) “สร้างความเข้มแข็งชุมชน” ส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกอบรมให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการรับมือ และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน ”รมว.อว. กล่าวทิ้งท้าย

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงนโยบายการจัดสรรงบประมาณวิจัยเพื่อรองรับภัยพิบัติ โดยมีแผนงานสำคัญ เช่น แผนงาน P16 ที่มุ่งเน้นการพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ววน.) โดยแผนงานนี้แบ่งเป็นสองภาคส่วนหลัก ได้แก่ ภาคการเกษตร ซึ่งเน้นการรับมือกับผลกระทบจาก Climate Change โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ระบบเตือนภัย การปรับปรุงพันธุ์พืช และการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการแก้ปัญหาภัยแล้ง การระบาดของแมลง และการกัดเซาะชายฝั่ง ส่วน ภาคเมืองและอุตสาหกรรม เน้นการรับมือภัยพิบัติรุนแรง เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ วาตภัย น้ำท่วม น้ำแล้ง ภัยจากความร้อน และดินโคลนถล่ม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ความมั่นคงทางน้ำ สุขภาพ และสัตว์เศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีแผนงาน P24 ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการจัดการและฟื้นตัวจากภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ (Resilience) รวมถึงการพึ่งพาตนเองด้านองค์ความรู้ กำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. โดย สกสว. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเน้นการใช้ ววน. ในการรับมือภัยพิบัติและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

แนวทางสำคัญของ สกสว. ประกอบด้วย 1.การจัดสรรงบประมาณวิจัย ภายใต้แผนงานเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตระดับประเทศ เช่น แผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2. การร่วมมือกับ สอวช. ในการทบทวนและยกระดับแผนด้าน ววน. ของประเทศ ให้ตอบโจทย์ปัญหาท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 3.การนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปสนับสนุนหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสาธารณภัย เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ 4.การสนับสนุนภารกิจด้านการสร้างความตระหนักรู้ การป้องกัน และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน 5. การขับเคลื่อนบทบาทของ อว. และ สกสว. ในการลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมีเป้าหมายหลักคือการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“สกสว. พร้อมดำเนินการตามนโยบายของกระทรวง อว. โดยร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เช่น การรวมกลุ่มของวิศวกรรมร่วมใจ อววน. และการจัดตั้งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Talents & Knowledge) นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับภาครัฐเพื่อประเมินความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว ผ่าน AI-Enable Traffy Fondue โดยกองทุน ววน. รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ เช่น ระบบเตือนภัยกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยรับงบประมาณ” ผอ. สกสว. กล่าวทิ้งท้าย

ภายในงานยังมีการเสวนาเกร็ดความรู้ในหัวข้อ “รับมือธรณีพิโรธ” โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ธรณีวิทยาและความเสี่ยงของแผ่นดินไหวในประเทศไทย” โดยกล่าวว่า ภูมิภาคนี้มีรอยเลื่อนจากแผ่นดินไหวอยู่มากมาย แต่รอยเลื่อนสกาย ถือเป็นรอยเลื่อนที่อันตรายที่สุด สำหรับประเทศไทยมีรอยเลื่อนสีเทาจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนล้ำเข้ามาในประเทศ อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครเองไม่มีรอยเลื่อนตัดผ่านโดยตรง และไม่น่าจะเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ แต่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล โดยจากการศึกษามากว่า 20 ปี พบว่าบ้านเรือนใกล้รอยเลื่อนแผ่นดินไหวจะได้รับความเสียหายโดยตรง แต่เมื่อออกห่าง ความรุนแรงจะลดลง

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ กลับมีแนวโน้มได้รับแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่บน “แอ่งดินอ่อน” ซึ่งสามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ถือเป็น “พื้นที่สีแดง” ที่มีแอ่งดินอ่อนขนาดใหญ่ จากการตรวจวัดคุณสมบัติของดินพบว่า บริเวณใจกลางกรุงเทพฯ มีความลึกถึงชั้นหินแข็งกว่า 800 เมตร ซึ่งส่งผลให้แอ่งดินนี้สามารถ ขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ประมาณ 3-4 เท่า และยังเปลี่ยนลักษณะการสั่นสะเทือนของผิวดินให้แตกต่างจากปกติ โดยปกติแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจะมีความเร็วสูง แต่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในแอ่งดินอ่อนของกรุงเทพฯ การสั่นสะเทือนจะเกิดเป็นจังหวะโยกช้าๆ ที่เรียกว่า “Long Period Ground Motion” ซึ่งลักษณะนี้ไม่ส่งผลกระทบมากนักต่ออาคารขนาดเล็ก แต่มีผลกระทบอย่างมากต่ออาคารสูง เนื่องจากเกิด “การสั่นพ้อง” (Resonance) ทำให้อาคารสูงที่มีจังหวะการสั่นใกล้เคียงกันเกิดแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงขึ้น

“พื้นที่เสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ได้แก่ กาญจนบุรี พม่า และแนวมุดตัวในทะเลอันดามัน (Alaqan Subduction Zone) ซึ่งอาจเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ได้ในรอบ 400-500 ปี หรืออาจเร็วกว่าที่คาดการณ์ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อาจไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกในเร็วๆ นี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนควรประมาท ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างอาคารในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยควรออกแบบและก่อสร้างอาคารให้แข็งแรง รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งองค์ความรู้ที่มีในปัจจุบันเกิดจากการศึกษาวิจัยต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี และยังคงต้องดำเนินการต่อไปเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน” ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวถึง “การออกแบบอาคารและโครงสร้างเพื่อรับมือแผ่นดินไหว” ว่า รอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้มีลักษณะ “สไลด์ในแนวข้าง” ซึ่งแตกต่างจากรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดสึนามิ โดยรอยร้าวที่เกิดขึ้นในอาคารส่วนใหญ่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จัดอยู่ในระดับ 2 ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยการนำบัตรประชาชนสอดเข้าไป หากรอยร้าวมีขนาดใหญ่จนสามารถสอดเข้าไปได้ง่าย อาจเข้าข่ายระดับที่รุนแรงขึ้น หากโครงสร้างได้รับแรงกระทำถึงระดับ 4 จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม รอยร้าวที่พบในเหตุการณ์นี้ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 2 ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลักของอาคาร

สำหรับกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่มลงมา แต่ละมุมของการพังทลายมีลักษณะแตกต่างกัน หากมองจากด้านหน้าจะเห็นว่าเกิดจากเสาหัก ขณะที่หากมองจากด้านหลังจะพบว่าปล่องลิฟต์ยุบลงมาก่อน ซึ่งถือเป็น ปริศนาที่สำคัญที่สุด เพราะตามหลักวิศวกรรม ปล่องลิฟต์ไม่ควรพังลงมาได้ง่ายๆ การพังของอาคารในลักษณะนี้ต้องมีตัวกระตุ้น หรือที่เรียกว่า “Zero Event” ซึ่งนำไปสู่การพังทลายแบบ “Pancake Collapse” คล้ายกับเหตุการณ์ถล่มของอาคาร Royal Plaza ในอดีต

ศ.ดร.อมร กล่าวอีกว่าจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบว่าอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อาคารพังทลาย เช่น เสาชะลูดชั้นล่างหักบริเวณกลางเสา, เสาชะลูดชั้นบนหัก, รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบนเฉือนขาดในแนวดิ่ง หรืออาจเกิดจากความเสียหายที่ปล่องลิฟต์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้าน การสั่นพ้อง (Resonance) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถ คำนวณได้ (Predictable) โดยนักวิศวกรรมโครงสร้าง

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุดคือ คุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กเส้นและวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ซึ่งสามารถทดสอบคุณภาพได้ หากโครงสร้างยังคงใช้เหล็กที่มีคุณภาพดี อาคารจะยังคงมีความแข็งแรง แต่หากอยู่ในระดับ 4-5 ถือว่าเป็นอันตราย และมีโอกาสที่จะเกิดการพังทลาย อย่างไรก็ตาม อาคารที่ได้รับความเสียหายสามารถซ่อมแซมได้โดยการ เสริมเหล็กแกน, เหล็กปลอก และใช้ปูนหุ้มเสริมอีกชั้น ซึ่งหากดำเนินการอย่างถูกต้อง อันตรายจะลดลงเหลือไม่ถึง 10% อย่างไรก็ตาม ปล่องลิฟต์แม้จะเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงที่สุดของอาคาร แต่ก็อาจกลายเป็นจุดที่อันตรายที่สุดหากเกิดความเสียหายขึ้น

รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง “เทคโนโลยีเตือนภัยแผ่นดินไหวและการพัฒนาโดยนักวิจัยไทย” ว่า ขณะนี้ทีมวิจัยไทยสามารถพัฒนา เซนเซอร์ตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนราคาประหยัด ได้เอง ทำให้ต้นทุนลดลงจากหลักแสนเหลือเพียงหลักหมื่นบาท ส่งผลให้สามารถติดตั้งเซนเซอร์ได้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เพิ่มความแม่นยำในการตรวจจับและวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนที่ โรงพยาบาลในเชียงใหม่ และพบว่าเกิดแผ่นดินไหวบ่อยกว่าที่คาดไว้ โดยข้อมูลที่ได้รับถูกส่งในรูปแบบ SHM (Structural Health Monitoring) ไปยังวิศวกรเพื่อวิเคราะห์สภาพอาคาร ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับทีมวิจัย เนื่องจากไม่คาดคิดว่าเซนเซอร์จะสามารถตรวจจับและคืนผลได้ละเอียดขนาดนี้

“แผ่นดินไหวรอบล่าสุดที่เกิดขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเชียงใหม่ แต่ยังรับรู้ได้ไกลถึงเชียงราย ปัญหาที่พบคือ ขนาดและความรุนแรงของแผ่นดินไหวมีสเกลใหญ่กว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ต้องพิจารณาแนวทางรับมือที่รัดกุมขึ้น หากมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง การอพยพออกจากอาคารอย่างปลอดภัย อาจเป็นทางเลือกที่ควรพิจารณาเพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น” รศ.ดร.ธีรพันธ์ กล่าว