ทล.ก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 กับทางหลวงหมายเลข 417 (แยกสนามบิน) จ.สุราษฎร์ธานี บรรเทาจราจรติดขัด ยกระดับการเดินทางระหว่างภูมิภาค
กรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม โดยสำนักก่อสร้างสะพาน ดำเนินการโครงการก่อสร้าง ทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.41 กับ ทล.417 (แยกสนามบิน) พื้นที่ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการแก่ผู้ใช้ทางแล้ว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และยกระดับการเดินทางระหว่างภูมิภาค ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
ด้วยทางแยกจุดตัด ทล.41 กับ ทล.417 เป็นเส้นทางเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี กับพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก เป็นท่าอากาศยานที่ให้บริการเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริเวณแยกดังกล่าวมีปริมาณการจราจรหนาแน่นและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง โครงการฯ มีรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับที่เป็นจุดตัด ทล.41 ช่วง กม. ที่ 159+450 – 162+661 ระยะทาง 3,211 เมตร กับ ทล.417 ช่วง กม.ที่ 0+000 – 0+950 ระยะทาง 950 เมตร รวมระยะทาง 4,161 เมตร มีลักษณะการก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการจราจรแบบทิศทางเดียว ประกอบด้วย
- สะพานที่ใช้สัญจรจากท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี ไปยังอำเภอเกาะสมุย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอขนอม และสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช มีทางขึ้นตั้งอยู่บน ทล.41 ที่ กม. 161+100 – ทางลงบริเวณ ทล.417 ที่ กม. 0+300 ขนาด 2 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้าง 9.50 – 12 เมตร มีความยาว 627.50 เมตร
- สะพานที่ใช้สัญจรจากจังหวัดชุมพร ข้ามแยกไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ และตรัง มีทางขึ้นบน ทล.41 ที่ กม. 160+668 – ทางลง ที่ กม. 161+145 ขนาด 4 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้าง 15 เมตร มีความยาว 447.27 เมตร รวมงานก่อสร้างสะพานกลับรถ 1 แห่ง ขนาด 1 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้าง 6.50 -10 เมตร ความยาว 597 เมตร และสะพานข้ามคลอง 1 แห่ง อีกทั้งได้ก่อสร้าง ทล.41 และ ทล.417 เดิมขนาด 4 ช่องจราจร เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ขนาด 14 ช่องจราจร (ไป – กลับ ทิศทางละ 7 ช่องจราจร) รวมระยะทาง 4,161 เมตร พร้อมก่อสร้างระบบระบายน้ำและบ่อพัก ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยและป้ายจราจร วงเงินงบประมาณ 1,324.951 ล้านบาท
โครงการฯ สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นการยกระดับการให้บริการและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ทาง สนับสนุนเป้าหมายการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และการคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี