Saturday, November 23, 2024
Latest:
News

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.63 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.54-36.64 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย Conference Board ออกมาสูงกว่าคาด ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำ ที่สวนทางกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้ทยอยออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งบรรดาเจ้าหน้าที้ฟดต่างก็ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้น Nvidia +7% (รวมถึงหุ้นธีม Semiconductor/AI อื่นๆ) ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.59% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.02%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงราว -0.60% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่กดดันให้ ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรหุ้นยุโรปซึ่งปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างตามความหวังการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะเดียวกัน บรรดาหุ้นธีม Semiconductor/AI ต่างก็ปรับตัวขึ้น นำโดย ASML +1.5% ตามอานิสงส์ของรายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่เติบโตได้ดีกว่าคาด

ในส่วนตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาด ปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดให้โอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง เพียง 23% ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทะลุระดับ 4.50% สู่ระดับ 4.54% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้ไม่ยาก หากผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งเรามองว่า ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อ เนื่องจากระดับบอนด์ยีลด์ที่สูงกว่า 4.50% จะทำให้การถือครองบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ มี Risk/Reward ที่น่าสนใจ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยิ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงสู่ระดับ 157.3 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.3-104.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) มีจังหวะรีบาวด์ขึ้น ราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ซึ่งหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น กดดันให้ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 2,385 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทผ่านโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนี ที่จะรายงานในช่วงราว 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของทาง ECB ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า ECB จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ทยอยรับรู้ในช่วง 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ไม่ถึง 2 ครั้ง

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้ง ในปีนี้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทก็อาจยังแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.55-36.75 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่นอาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยกลับเข้าซื้อเงินเยนได้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า เช่นเดียวกับแรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยซึ่งอาจจะพอช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้นั้น ต้องรอลุ้นทิศทางราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านได้อีกครั้ง เราเชื่อว่าผู้เล่นในตลาดก็อยากทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็จะสามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) เพราะหากภาพเศรษฐกิจและกิจกรรมของภาคธุรกิจดูมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้บ้าง ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.55-36.75 บาท/ดอลลาร์