Alstom จับมือคณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมผลิตวิศวกรที่มีทักษะเป็นเลิศ ยกระดับวงการรถไฟไทย
Alstom ผู้นำระดับโลกด้านการสัญจรระบบรางอัจฉริยะที่มีความยั่งยืน และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(Chula Engineering)ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวงการรถไฟไทยและความร่วมมือในอีก 5 ปีข้างหน้า
Alstom และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ตลอดจนโครงการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมในสาขาวิศวกรรมระบบรางที่มีความเฉพาะทางเป็นพิเศษ และด้วยประเทศไทยกำลังพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยมีการสร้างโครงการขนส่งสาธารณะหลากหลายโครงการทั้งในและนอกเขตกรุงเทพฯ ดังนั้นประเทศจึงต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการรถไฟท้องถิ่นจำนวนมาก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีศิษย์เก่าจากรั้วจามจุรีกว่า 20 คนจากหลายสาขาวิชาได้มาร่วมงานกับ Alstom Group แห่งประเทศไทยที่มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนโครงการด้านการสัญจรระบบรางท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอีกหลายโครงการในต่างประเทศอีกด้วย ทุกวันนี้ศูนย์ปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นศูนย์กลางด้านวิศวกรรมระดับหนึ่งในสามศูนย์ของโลกที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่ปี 2538 และมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 450 คน โดยเป็นวิศวกรไทยถึงร้อยละ 85 ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา จะช่วยสานประโยชน์ให้แก่วงการรถไฟ และเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ นิสิตจะได้ร่วมฝึกงานและเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ตลอดจนกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการเตรียมบุคลากรให้พร้อมสำหรับอนาคตของการคมนาคมขนส่งไทย
ดร.แคทริน ลูเกอร์กรรมการผู้จัดการ Alstom แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทฯ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านระบบรถไฟในเมืองและรถไฟสายหลักในประเทศไทย รวมถึงบริษัทก็ได้เปิดทำการมายาวนานกว่า 40 ปี เราจึงมีความรู้และประสบการณ์ด้านการสัญจรระบบรางที่ดีที่สุด
“เราดีใจที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นสถาบันวิศวกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรถไฟ เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันวิทยาการกับคณะวิศวกรรม จุฬาฯ รวมถึงเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรม เราพร้อมที่จะพัฒนาและดูแลบุคลากรที่มีความสามารถในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคระบบรางอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งความสามารถในสายงานอื่นๆ เพื่อพลิกโฉมหน้าการคมนาคมทั้งในและนอกประเทศไทย” ดร.แคทริน ลูเกอร์ กล่าว
ศ. ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุลคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความต้องการบุคลากรมืออาชีพเพิ่มขึ้นหลังจากเริ่มมีการพัฒนาระบบขนส่งในหลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งทำให้นิสิตนักศึกษาหันมาสนใจวิศวกรรมการรถไฟมากขึ้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา เป็นต้น ซึ่งช่วยวางรากฐานด้านแนวคิดและทฤษฎีให้นิสิตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เมื่อนิสิตได้มีโอกาสฝึกงานกับผู้นำระดับแนวหน้าอย่างบริษัท Alstom และเรียนรู้การประยุกต์ใช้งานจริงในอุตสาหกรรมนี้ พวกเขาจะได้เรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะของตนให้ดียิ่งขึ้น”
สำหรับบันทึกความเข้าใจ (MoU) ฉบับนี้ได้ลงนามในงาน Asia Pacific Rail 2022 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และเป็นนิทรรศการระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นในสถานที่จริงครั้งแรกของ Alstom ในรอบกว่า 2 ปีด้วย Alstom ต้องการส่งเสริมบุคลากรด้านวิศวกรรมให้มีความพร้อมในภาคอุตสาหกรรมการสัญจรระบบราง อีกทั้งยังมองเห็นสัญญาณบวกในตลาดประเทศไทย บริษัทจึงกำลังจะเปิดรับสมัครบุคลากรที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ภายในสิ้นปี 2565 โดยมุ่งเฟ้นหาบุคลากรในหลายตำแหน่งทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงกระบวนการ การสนับสนุนการผลิตและฟังก์ชัน ทั้งนี้การสรรหาบุคลากรที่ได้ประกาศรับสมัครไปในนิทรรศการนั้นจะเป็นการผสมผสานระหว่างวิศวกร ช่างเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล