Green Building

TCMA รวมพลัง 25 พันธมิตรอุตฯ ปูนซีเมนต์ ประกาศ​ ‘MISSION 2023’ ขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน CO2

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ผนึก 25 พันธมิตร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ประกาศ ‘MISSION 2023’มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2ภายใน 2 ปี ยกระดับสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

หวังกระตุ้นการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนประเทศ สู่การพลิกโฉมปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมประกาศความสำเร็จจากการเร่งลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตัน CO2ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเร็วกว่าแผนที่วางไว้


สผ. สนับสนุนการขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน CO2ตามเป้าปี’66

ดร. พิรุณ สัยยะสิทธ์พานิช เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยินดีที่การบูรณาการความร่วมมือฯ มาตรการทดแทนปูนเม็ดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ สามารถนำมาเป็นต้นแบบขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้สำเร็จตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

“การบูรณาการความร่วมมือฯ มาตรการทดแทนปูนเม็ด สามารถบรรลุเป้าหมายแรกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตัน CO2 ในช่วงสิ้นปี พ.ศ.2564 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ปี และเร็วกว่าแผนงานของรัฐถึง 9 ปี โดยครั้งนี้ได้เพิ่มจำนวนพันธมิตรจาก 16 หน่วยงานเป็น 25 หน่วยงาน โดยสผ. ยินดีประสานและสนับสนุนการขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ให้สำเร็จตามเป้าหมายในปี พ.ศ. 2566 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ.2593” ดร. พิรุณ กล่าว


TCMA ร่วมกับ 25 พันธมิตร ประกาศ ‘MISSION 2023’ เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกเป้า – กระตุ้นให้ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในงานก่อสร้าง

ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวถึง ‘MISSION 2023’ภารกิจเดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อยกระดับสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยการมุ่งผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี พ.ศ.2566 พร้อมกับประกาศความสำเร็จในปีที่ผ่านมา จากความมุ่งมั่นทำงานจนประสบความสำเร็จสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตัน CO2 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมแรกของไทยที่เข้ามาตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้
จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายแรกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตัน CO2 ในช่วงสิ้นปี พ.ศ.2564 จากแผนเดิมที่วางไว้ในสิ้นปี พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันร่วมมือกันระหว่าง TCMA กับ 16 ภาคีจากภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา โดยการสนับสนุนจาก 5 กระทรวง พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนต่อเนื่อง ที่จะส่งเสริมให้มีการใช้งานอย่างกว้างขวาง

“ครั้งนี้เรามีความตั้งใจเดินหน้าเต็มที่ร่วมกับ 25 พันธมิตร ประกาศ ‘MISSION 2023’ เป้าหมายร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี พ.ศ.2566 พร้อมกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในการก่อสร้างทุกประเภท เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน” ชนะ กล่าว


นำเทคโนโลยีระดับโลก พัฒนาคุณภาพสินค้า – เป็นมิตรต่อโลก

ชนะ กล่าวว่าสมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยได้รวมตัวกัน โดยร่วมมือกับสมาคมคอนกรีตไทย สภาวิศวกรและ วสท.ว่าควรจะสื่อสารในเรื่องคุณสมบัติของปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกให้สมาชิกได้ทราบ

“สำหรับประเทศแรกที่ทำเรื่องนี้ คืออินเดีย เราจะทำเป็นประเทศที่ 2 หลังจากวันนี้ที่ประกาศเป้าหมายร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี พ.ศ.2566 เราจะเร่งให้ปูนซีเมนต์ไร้คาร์บอนให้เร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้มั่นใจว่าจะนำเทคโนโลยีระดับโลกมาพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อส่งต่อทั้งคุณสมบัติของสินค้าและเป็นมิตรต่อโลก”ชนะ กล่าว


ผนึก 25 พันธมิตร ลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน CO2 ในปี พ.ศ.2566

การประกาศ ‘MISSION 2023’ นี้ TCMA ได้ทำงานพร้อมกับหลายหน่วยงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน ที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี พ.ศ.2566 ในครั้งนี้มี 25 พันธมิตรจับมือกันไปสู่เป้าหมาย โดยการสนับสนุนของ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้สำเร็จ ทั้งด้านการปรับปรุงมาตรฐานด้านการก่อสร้างของหน่วยงาน ด้านการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ด้านการส่งเสริมการใช้งาน ด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจ และด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์

“ด้วยความมุ่งมั่นและการทำงานเชิงรุกของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในการสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยตามที่ประกาศในการประชุม COP 26 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมแรกของประเทศที่ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนในการเดินหน้าขับเคลื่อนในเรื่องนี้ โดยเร่งยกระดับขับเคลื่อนมาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยการมุ่งผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมกระตุ้นให้เกิดการใช้งานในวงกว้างแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิม ซึ่งเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ที่จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ชนะ กล่าว


เร่งเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างของไทย ให้สอดคล้องเทรนด์โลก

ปัจจุบันเทรนด์โลกเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ มุ่งยกระดับให้ตลอดกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สามารถมีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยจึงทำการวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เป็น “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ซึ่งช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศในภาพรวมหากมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งสามารถตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทาง BCG (Bio-Economy, Circular Economy, Green Economy) และนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ


กระทรวงทรัพยากรฯ พร้อมร่วมขับเคลื่อน ให้ ‘MISSION 2023’ บรรลุเป้าหมาย”

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีเน้นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ.2593 และลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ.2608 ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ประกอบ 4 ประการคือ 1.ภาครัฐ โดยออกกฎหมายคาร์บอนเครดิต 2.ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 3.เงินทุน ถ้ามี Green Bond จะช่วยให้มีการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมากขึ้น เนื่องจากการปรับกระบวนการผลิตต้องใช้เงินทุน และ 4.เทคโนโลยีและนวัตกรรม

“สำหรับการบูรณาการความร่วมมือของทั้ง 25 หน่วยงาน และการสนับสนุนของ 6 กระทรวงในครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางสำคัญที่สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ Thailand Climate Action Conference (TCAC) ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นเจ้าภาพหลักจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานในสังกัด ในฐานะผู้รับผิดชอบของไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมร่วมขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ให้บรรลุเป้าหมาย” จตุพร กล่าว


กระทรวงอุตฯ เตรียมกำหนดมอก.ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก สร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้งาน

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญต่อการยกระดับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดของเสียในกระบวนการผลิต ดังเช่นมาตรการทดแทนปูนเม็ดนี้ที่มีการวิจัยพัฒนาและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือกับนายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทยเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการออกมาตรการบังคับ (Mechanism) พร้อมจัดทำเป็นมาตรฐานตั้งแต่ต้นทางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หลังจากนี้จะไปคุยกับเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขับเคลื่อนและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้งานในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“การลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี พ.ศ.2566 ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ถือเป็น Sector เดียวเท่านั้น ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมมองภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยจะหารือกับสภาอุตาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีการลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมหลาย Sector” กอบชัย กล่าว


กระทรวงคมนาคมส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัด ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก สู่เป้าหมาย ‘MISSION 2023’

ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัด เข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วยการปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้าง ประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์

อุตสาหกรรม ในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่ ‘MISSION 2023’ สามารถลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี พ.ศ. 2566 ตามเจตนารมณ์


กรมโยธาฯ ปรับแก้ไขมาตรฐานมยผ. 1101 -1106 ให้งานก่อสร้างอาคารใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิค

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงได้กำหนดนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้หน่วยงานในสังกัดรับไปดำเนินการ ครอบคลุมการลดความเสี่ยง/ความเสียหายและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเตรียมความพร้อมของชุมชนในการปรับตัว การจัดทำแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ปรับแก้ไขมาตรฐานด้านวิศวกรรม มยผ. 1101 -มยผ. 1106 ให้งานก่อสร้างอาคารใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิค ทั้งนี้จะเชิญนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรมโยธาธิการ กรมปกครองท้องถิ่นมาร่วมกันกำหนด เพื่อใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิคในการก่อสร้างในโครงการต่างๆ ขององค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น โดยไม่ต้องรอกรมบัญชีกลางประกาศใช้ เพื่อจะได้บรรลุผลสำเร็จ

“ในความร่วมมือ ‘MISSION 2023’ นี้ กระทรวงมหาดไทยยินดีส่งเสริมให้หน่วยงานสังกัด และส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้าง ประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในอนาคต” สุทธิพงษ์ กล่าว


กระทรวงเกษตรฯ เผยกรมชลฯ ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 3 โครงการลดก๊าซเรือนกระจก 1,600 ตัน

ประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับทุกหน่วยงาน ภายใต้แผนการดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร สำหรับมาตรการทดแทนปูนเม็ดนี้ ได้มอบกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักร่วมดำเนินการ และได้เริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกในงานก่อสร้างประเภทต่างๆ แล้ว ทั้งหมด 3 โครงการ สามารถลดก๊าซเรือนกระจก 1,600 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 1,000 ไร่ ซึ่งมีส่วนร่วมทำให้บรรลุเป้าหมายแรก 300,000 ตัน CO2 และกำลังจะก้าวไปสู่เป้าหมายใหม่ 1,000,000 ตัน CO2 ในอีก 2 ปีข้างหน้า


กระทรวงพาณิชย์นำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จัดทำเป็นดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

วันชัย วราวิทย์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงมายังมิติด้านเศรษฐกิจ การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ ได้นำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และเผยแพร่ให้ทราบทั่วกัน รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐนำไปอ้างอิงในการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย


สมาคมวิชาชีพผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ในงานก่อสร้างของไทย

ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมาชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า หากมีการก่อสร้าง สามารถคำนวณได้ว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากน้อยเพียงใดต่อตารางเมตร ในส่วนของวสท. สามารถกระจายให้สมาชิกรับทราบมาตรฐานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกไปใช้ โดยมีสมาคมคอนกรีนไทยและสภาวิศวกรร่วมสนับสนุน

ในส่วนของราคาปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเท่ากับปูนปอร์ตแลนด์ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน โดยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกใช้ตัวเม็ดปูน Trigger น้อยลง ทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

การผนึกกำลังจาก 25 พันธมิตร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนมาตรการทดแทนปูนเม็ด ด้วยการปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุก่อสร้าง ประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกมีความก้าวหน้า จนสามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกกว่า 300,000 ตัน CO2 เมื่อสิ้นปี พ.ศ.2564โดยใช้เวลาเพียง 485 วันหรือ 1 ปี 4 เดือน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งใจกันไว้ 1 ปี และเร็วกว่าเป้าหมายตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศถึง 9 ปี และกำลังก้าวสู่ความท้าทายใหม่ ‘MISSION 2023’ กับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1,000,000 ตัน CO2ในปี พ.ศ.2566