“ทีม Phoenix” คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวด โครงการ IEEE PES 5-Minute Student Project Pitch Competition 2022
“ทีม Phoenix” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอโครงงานการออกแบบระบบไฟฟ้าสาหรับอาคารสีเขียว ช่วยประหยัดไฟฟ้าและลดโลกร้อนคว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดโครงการ IEEE PES 5-Minute Student Project Pitch Competition 2022 เสริมทักษะนักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน หนุนนำเสนอผลงานอย่างมืออาชีพ ในงาน PEA Day 2022 รับเงินรางวัล 20,000 บาทพร้อมโล่รางวัล และประกาศนียบัตร
สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ได้จัดโครงการ “IEEE PES 5-Minute Student Project Pitch competition (5MSPP 2022)” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นการแข่งขันนำเสนอโครงการด้านวิศวกรรมของนิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ทำโครงงานวิศวกรรมด้านไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการฝึกฝนและพัฒนาทักษะการสื่อสารไอเดียด้วยคำพูด ประกอบการใช้สื่อการนำเสนออิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบที่ชัดเจน กระชับและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทักษะการสื่อสารเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับนิสิตนักศึกษาและวิศวกรในศตวรรษที่ 21 นี้
โดยในปี พ.ศใ 2565 นี้ มีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 54 ทีม และมีทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 7 ทีม ได้แก่ 1. ทีม Good Atmosphere จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2.ทีม SUN-KISSED จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3. ทีม EnvAir จากมหาวิทยาลัยนเรศวร 4.ทีม Phoenix จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5. ทีม Mr.Bot and Mr.Secretary จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 6. ทีม EE49 จาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและ 7. ทีม EEES จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำหรับทีมที่ชนะเลิศ คือ ทีม Phoenix จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ผดุงเดช วงศ์วงรุจ และ ศักรินทร์ ขาวขำ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งนำเสนอโครงการเรื่องการออกแบบระบบไฟฟ้าสาหรับอาคารสีเขียว (Electrical Systems Design for a Green Building) โดยมี ดร. เนาวรัตน์ เทพหริรักษ์ เป็นที่ปรึกษา คว้าเงินสด 20,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาการออกแบบระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสีเขียว โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานที่ใช้ภายในอาคารและได้มีการใช้ระบบควบคุมเข้าร่วมทำงานด้วยเพื่อให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้ไฟฟ้าและหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าแทน โดยได้ทดลองกับอาคารเรียนวิศวกรรม 11 ชั้น โดยศึกษา 3 ระบบ คือ ระบบแสงสว่าง ระบบปรับอากาศและระบบโซล่าร์เซลล์ โดยบนอาคารมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากการไฟฟ้าลง ส่วนระบบะแสงสว่างและเครื่องปรับอากาศ จะใช้เซนเซอร์เข้ามาช่วย เมื่อมีคนเดินผ่านไฟฟ้าจะสว่างขึ้นอัตโนมัติ ส่วนเครื่องปรับอากาศจะทำงานเมื่อเซนเซอร์พบว่ามีคนอยู่จะปรับอุณหภูมิไปที่ 25 องศา แต่ถ้าคนออกไปจากห้องแล้วเครื่องปรับอากาศจะปรับอุณหภูมิสูงขึ้นหรือเปลี่ยนเป็นโหมดพัดลมแทน
ในส่วนของการทำงานนั้นวงจรระบบควบคุมแสงสว่างและควบคุมระบบปรับอากาศ ด้วยเทคโนโลยี C-BUS เริ่มจากคอมพิวเตอร์ตั้งค่าการควบคุมแล้วเชื่อมต่อสัญญาณผ่าน Intarfacen Unit ไปยัง Control Panel ที่มีการรับไฟ AC ขนาด 220 Volt แล้วแปลงเป็น DC ขนาด 36 Volt เพื่อเป็นไฟเลี้ยงให้กับระบบควบคุม ส่วนระบบควบคุมแสงนั้น เมื่อสัญญาณการปิดไฟจากสวิตซ์ หรือเซนเซอร์ป้อนเข้ามาจะถูกส่งไปยังรีเลย์เพื่อประมวลผลการทำงาน จากนั้นสัญญาณจะผ่าน DALI Galeway ไปยังหลอดไฟ ทำให้หลอดไฟสว่าง และการควบคุมระบบปรับอากาศ เมื่อมีสัญญาการเปิดเครื่องปรับอากาศจากเซนเซอร์ป้อนเข้ามาสัญญาณจะถูกส่งไปยัง Controller เพื่อประมวลผลการทำงานแล้วสั่งการให้เครื่องปรับอากาศทำงาน
รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Good Atmosphere จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย บุษราคัม รื่นเริง และ ศิรสิทธิ์ ฟองจางวาง ซึ่งนำเสนอโครงการเรื่อง การศึกษารูปแบบการจัดเรียงสายป้อนในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (A Study of Network Reconfiguration in Smart Grid System) โดยมี ดร. เนาวรัตน์ เทพหริรักษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้าเงินสด 15,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการจัดเรียงสายป้อนไฟฟ้าใหม่เพื่อลดการสูญเสียไฟฟ้าในระบบ โดยอาศัยหลักการของ Modified Particle Swarm Optimization หรือ MPSO เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผล ระบบจำหน่ายที่จำลองในโปรแกรม DigSILENT Power Factory ช่วยทำให้ค่าพลังงานไฟฟ้าสูญเสียลดลง 76%
สำหรับรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม EE49 จาก มหาลัยวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย อภิวัฒน์ นามโคตร์ ซึ่งนำเสนอโครงการเรื่อง การออกแบบและสร้างอินเวอร์เตอร์สําหรับควบคุมมอเตอร์ในระบบเครื่องปรับอากาศ (Design and Implementation of Inverter for Motor Drive in Air Conditioning System) โดยมี ดร.ประชา คำภักดี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คว้าเงินสด 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร
โดยโครงงานดังกล่าวเป็นการศึกษาถึงวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องอุณหภูมิความร้อนของอินเวอร์เตอร์ไดร์ฟเวอร์ขนาด 22 กิโลวัตต์ 35 แอมป์ โดยเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังจากชนิดดิฟไอพีเอ็มเป็นชนิดไอจีบีทีโมดูล ซึ่งจะช่วยลดการระบายความร้อนของระบบลงได้ประมาณ 1-2 องศา ซึ่งทำให้การระบายความร้อนดีขึ้นและช่วยลดการสูญเสียในระบบได้ ซึ่งสุดท้ายจะช่วยลดค่าไฟฟ้าและช่วยลดโลกร้อนได้