Green Building

สภาวิศวกรเผยแพร่องค์ความรู้เทคโนโลยีอาคารเขียวแก่วิศวกร พัฒนาและส่งเสริมการก่อสร้างอาคารเขียวในประเทศไทย

อาคารเขียว (Green Building) ในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตอบรับอาคารประหยัดพลังงานตามนโยบายรัฐบาล และช่วยประหยัดพลังงาน ไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยมีองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น สภาวิศวกรจึงได้เชิญวิศวกรเข้ามารับฟังองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างอาคารเขียว ภายในงานประชุมประจำปี 2558 เพื่อให้วิศวกรที่ก่อสร้างอาคารที่เป็นสมาชิกของสภาวิศวกรได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลการเตรียมตัวสำหรับเข้ายื่นแบบขอก่อสร้างอาคารเขียว ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น และรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาคารเขียวในประเทศไทย รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอาคารเขียวไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง และรับทราบผลกระทบของกระบวนการประเมินอาคารเขียวกับการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม เพื่อให้สมาชิกสภาวิศวกรสามารถเตรียมตัวเพื่อรองรับกระแสของอาคารเขียวในอนาคต อีกทั้งเพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมการสร้างอาคารเขียวในประเทศไทยให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น


หลักเกณฑ์ 5 ด้านสู่การเป็นอาคารเขียว (Green Building)

กมล ตันพิพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบร์ท แมเนจเม้นท์ คอนซัลติ้ง จำกัด ในฐานะกรรมการสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวว่า อาคารเขียวคืออาคารที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของอาคารในการใช้ทรัพยากร เช่น พลังงานน้ำ และวัสดุ ในขณะเดียวกันก็ลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคารและสิ่งแวดล้อมตลอดอายุการใช้งาน ด้วยการเลือกที่ตั้งอาคาร ออกแบบ ก่อสร้าง ใช้งาน บำรุงรักษา และรื้อถอน ที่ดีกว่าในอดีต โดยมีทีมทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งผู้ออกแบบ วิศวกรผู้คุมงาน ผู้รับเหมางาน และเจ้าของอาคารร่วมดูการทำงานทุกขั้นตอนมากขึ้น

เทคโนโลยีอาคารเขียวในประเทศไทย

สำหรับหลักเกณฑ์ทั่วไปในการประเมินอาคารเขียวนั้น จะคำนึงถึง 5 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย ด้านสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งต้องพิจารณาสถานที่ก่อสร้างไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ มีการส่งเสริมการใช้รถสาธารณะ ส่งเสริมการใช้จักรยาน มีการทำที่ระบายน้ำฝนในช่วงหน้าฝนและหน้าแล้งไม่กระทบต่อพื้นที่รอบๆ อาคาร ไม่มีการปล่อยน้ำเสียก่อนบำบัดสู่ภายนอก อีกทั้งสร้างตัวอาคารให้แสงสามารถที่จะสาดส่องจากภายนอกเข้ามาภายในปริมาณที่พอเหมาะ และสามารถระบายความร้อนของแสงจากภายในอาคารออกสู่ภายนอกได้ ด้านปริมาณการใช้น้ำ ในอาคารเขียว จะต้องมีการประหยัดน้ำให้ได้อย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมดภายในตัวอาคารในแต่ละวัน ตามข้อกำหนด โดยจะมีการติดตั้งมาตรวัดการใช้น้ำเอาไว้ในแต่ละอาคาร แล้วนำมาคำนวณค่าการใช้น้ำในอาคารที่จะรับการพิจารณาเป็นอาคารเขียว โดยพิจารณาตั้งแต่น้ำที่ใช้ในห้องน้ำ ไปจนถึงน้ำที่ใช้รดน้ำต้นไม้ว่ามีปริมาณการใช้เท่าใด ทั้งนี้ผู้สร้างอาคารเขียวสามารถเลือกใช้สุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำเข้ามาช่วยในการดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำได้ โดยมีผลสำรวจออกมาให้เห็นว่า สุขภัณฑ์ที่มีราคาค่อนข้างแพงและมีชื่อเสียงส่วนใหญ่จะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในอาคารทั่วไปได้ดี เพราะใส่ใจนำนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาควบคุมการใช้น้ำในแต่ละครั้ง เป็นต้น การทำบ่อบำบัดน้ำเสียให้กลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น นำกลับมารดน้ำต้นไม้ นำกลับมาใช้ล้างรถ เป็นต้น

ตรวจเข้มการใช้พลังงาน พร้อมทดสอบอากาศทั้งภายในและภายนอก ให้เป็นไปตามข้อกำหนดอาคารเขียว

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

หลักเกณฑ์ต่อมา ด้านการใช้พลังงาน ในอาคารเขียว การพิจารณาว่าอาคารใดบ้างที่เข้าเกณฑ์เป็นอาคารเขียวได้ โดยพิจารณาภายในอาคารต้องมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือมีเครื่องมือสำหรับติดตั้งพลังงานทดแทน ในการนำมาบริหารจัดการพลังงานในอาคาร ไม่ใช่แค่พลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เท่านั้น แต่เจ้าของอาคารต้องมีการนำนวัตกรรมการใช้พลังงานทดแทนที่คิดค้นได้มาติดตั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ให้คะแนนแต่ละอาคารทำการทดสอบตั้งแต่เริ่มติดตั้งเครื่องทำระบบพลังงาน เครื่องระบบความเย็น แอร์คอนดิชั่น ระบบปั่นไฟ ซึ่งทุกๆ อุปกรณ์จะต้องไม่ทำลายธรรมชาติ ปล่อยมลพิษออกมาในปริมาตรที่กำหนด เพราะนอกจากจะมีการตรวจการใช้พลังงานแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะทำการทดสอบอากาศทั้งภายในและภายนอกอาคารทุกๆ 3 เดือน และทุกๆ 6 เดือน หรือตามเกณฑ์กำหนด เพื่อให้อาคารที่ก่อสร้างเป็นไปตามข้อกำหนดอาคารเขียวจริง


บูรณาการจัดสเปกและจัดการใช้วัสดุ ให้เหลือใช้น้อยที่สุด

ด้านวัสดุก่อสร้าง ที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง จะต้องมีการบูรณาการจัดสเปก จัดการใช้วัสดุให้มีปริมาณเหลือใช้ในแต่ละอาคารน้อยที่สุด นั่นคือจะต้องไม่มีขยะเหลือใช้ที่ไม่จำเป็น เพื่อลดปริมาณการซื้อวัสดุก่อสร้างในราคาที่แพงแก่เจ้าของอาคารโดยไม่จำเป็น เพราะหากวิศวกรมีความแม่นยำในการคำนวณวัสดุก่อสร้างในแต่ละส่วน แต่ละชั้น การสร้างอาคารหลังหนึ่งจะมีวัสดุก่อสร้างเหลือใช้ที่น้อยมาก หรือไม่เหลือเลย หากมีปริมาณวัสดุก่อสร้างที่เหลือใช้ก็สามารถนำกลับมาใช้งานอื่นๆได้ใหม่ (Reuse) เช่น นำไปถมที่ดินให้แน่น จากเศษปูนที่เหลือใช้หลังการก่อฉาบ เป็นต้น

“วัสดุก่อสร้างทั้งหมดทั้งก่อนการสร้าง และหลังการก่อสร้างตึกแต่ละแห่ง จะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลโดยเฉพาะตามแบบที่วิศวกรและสถาปนิกร่วมกันยื่นเข้ามาที่คณะกรรมการพิจารณาอาคารเขียว หากมีการใช้วัสดุที่ผลิตในท้องถิ่น ระยะทางการนำมาใช้จากสถานที่ก่อสร้างอาคารถึงแหล่งวัสดุต้องไม่เกิน 500 กิโลเมตร คือ ไม่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จะได้รับการพิจารณาในเกณฑ์ที่ดีขึ้น” กมล กล่าว


รักษาสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร ให้มีอายุการใช้งานหลายปี

ส่วนประเด็นสุดท้าย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมภายในอาคารให้มีอายุการใช้งานไปหลายปี ไม่มีการซ่อมบำรุงรักษาปีต่อปี โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นสั่งสม เฟอร์นิเจอร์ที่ปลอดสารระเหยทุกชนิดที่เคลือบมา อาจจะมีระยะเวลาในการระเหย 5 ปี ก็ต้องไม่มีเคลือบติดมา ความชื้นของอากาศภายในตัวอาคารต้องไหลเวียนสม่ำเสมอ ไม่มีจุดใดจุดหนึ่งร้อนหรือหนาวจนเกินไป โดยการติดตั้งตัววัดอุณหภูมิภายในตัวอาคารอย่างน้อยชั้นละ 5 ตัว เป็นต้น แต่หากเจ้าหน้าที่มาตรวจประเมินอาคารที่ก่อสร้างแล้วขาดข้อใดข้อหนึ่งใน 5 ข้อนี้ ก็ต้องมีการปรับแก้ใหม่ทั้งหมด

“ฉะนั้นในการออกแบบก่อสร้างอาคารเพื่อให้เข้าโครงการอาคารเขียวนั้น ต้องมีความรอบคอบ คำนวณการออกแบบ การก่อสร้าง ระยะเวลา การใช้อุปกรณ์ ผู้คุมงาน และแรงงานก่อสร้าง ต้องมั่นใจและเข้าใจในคอนเซ็ปต์อาคารเขียวเป็นอย่างดี จึงต้องมีการว่าจ้างที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร วิศวกรที่ผ่านงานอาคารเขียวมาหลายแห่ง ที่ได้รับการยอมรับเกณฑ์อาคารเขียว LEED และ TREES รวมทั้งงานออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานทางอาคารเขียวไทย และสหรัฐอเมริกา เช่น วิศวกรและสถาปนิกที่ร่วมก่อสร้างอาคาร 100 ปี SCG, อาคาร 60 พรรษาราชสุดาสมภพ วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา มาคุมงานอีกทอดหนึ่ง

“อย่างน้อยที่ปรึกษาที่เข้ามาช่วยคุมงานจะช่วยดู และแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ทั้งก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง ให้อาคารที่สร้างเป็นอาคารเขียวตามที่ระบุได้ เพื่อที่จะนำไปขอยื่นเรื่องขอเป็นหนึ่งในหลายๆ อาคารเขียวสำหรับในประเทศไทย” กมล กล่าว


เผยกว่า 62 อาคารยื่นขอตรวจสอบเป็นอาคารเขียว เบื้องต้นเข้าเกณฑ์การพิจารณาแล้ว 55 อาคาร

ขณะนี้มีอาคารกว่า 62 อาคารได้ขอยื่นเข้ามาเพื่อขอการตรวจสอบเป็นอาคารเขียวด้านอนุรักษ์พลังงาน เบื้องต้น เข้าเกณฑ์การพิจารณาแล้ว 55 อาคาร เพื่อพิจารณาในการมอบใบประกาศว่าเหมาะสมที่จะได้รับการประกาศให้เป็นอาคารเขียว ในระดับ Platinum ซึ่งต้องมีคะแนนตั้งแต่ 61 คะแนนขึ้นไป ขณะนี้มีอาคาร 2 แห่งที่เข้าเกณฑ์ได้รับการประกาศ ระดับ Gold โดยมีคะแนนระหว่าง 46-61 คะแนน มีอาคาร 4 แห่ง ที่จะได้รับการพิจารณาระดับ Silver โดยมีคะแนนระหว่าง 38-45 คะแนน และมีอาคาร 1 แห่ง ที่จะได้รับการพิจารณาในระดับ Certified โดยมีคะแนนระหว่าง 30-37 คะแนน (ข้อมูลสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2558)


อาคารเรียนประหยัดพลังงาน 60 พรรษาราชสุดาสมภพ ได้รับรองในระดับ Platinum หมวดอาคารสร้างใหม่

ผศ. ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการและกรรมการสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวว่า อาคารเขียวที่จะเข้าเกณฑ์ประเมินเพื่อรับใบรับรองนั้นไม่จำเป็นต้องก่อสร้างราคาแพงเสมอไป แต่ต้องเป็นอาคารที่มีคุณสมบัติครบตามข้อบัญญัติอาคารเขียวที่สถาบันอาคารเขียวไทยระบุไว้ ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่หลากหลายอาคาร ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งที่เป็นอาคารที่ก่อสร้างมานานแล้ว และเป็นอาคารที่เพิ่งก่อสร้างใหม่ เช่น กรณีศึกษาอาคารเขียวในประเทศไทย ที่ก่อสร้างเป็นอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีอยู่หลากหลายอาคาร ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อสร้างด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น อาคาร 60 พรรษาราชสุดาสมภพ โครงการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 8,200 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ อาคาร 604 สำนักพระราชวังสนามเสือป่า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยทางผู้ก่อสร้างโครงการฯ ได้มุ่งเน้นการออกแบบและก่อสร้างให้เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานอาคารเขียวของประเทศไทย และได้รับการรับรองในระดับ Platinum ในหมวดอาคารสร้างใหม่ ตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือ Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability for New Construction and Major Renovation (TREES) มีคะแนนประเมินทั้งหมด 67 คะแนน

ทั้งนี้ผู้ออกแบบได้ออกแบบโดยคำนึงถึงระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า และกรอบอาคาร เพื่อให้โครงการมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการฯ ได้กำหนดแนวทางในการออกแบบ ด้วยการเลือกใช้ระบบปรับอากาศประสิทธิภาพสูง หรือ VRF ออกแบบให้ใช้แสงธรรมชาติภายในอาคาร เลือกใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน เลือกใช้กระจกและวัสดุกรอบอาคารชนิดป้องกันความร้อนได้ดี รวมทั้งติดตั้งม่านแผงบังแดด และ Green Wall เพื่อป้องกันความร้อนสัมผัสกับตัวกระจกโดยตรง


ออกแบบให้อาคารมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี และเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์

สำหรับคุณภาพชีวิตในอาคารเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากผู้คนจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ภายในอาคาร สภาพแวดล้อมภายในอาคารจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคารด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในอาคารที่ดี คุณภาพสิ่งแวดล้อมในอาคารที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบเพื่อให้อาคารมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ทางโครงการฯ จึงได้กำหนดแนวทางในการออกแบบให้มีการนำอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่อาคารตามมาตรฐาน ASHRAE 62.1-2007 หรือกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 พ.ศ. 2537 และคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ยอมรับได้มาตรฐาน วสท.3010 มีการเลือกใช้สารทำความเย็นในระบบปรับอากาศที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ Non CFC พร้อมกันนี้ยังมีการกำหนดให้การออกแบบอาคารในส่วนที่มีการปรับอากาศให้อยู่สภาวะน่าสบาย มีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์เป็นไปตามมาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ วสท. (วสท.3003) หรือมาตรฐาน ASHRAE 55-2004

นอกจากนี้มีการกำหนดให้ออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างใหม่ ค่าความส่องสว่างเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนด มาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง จัดวางตำแหน่งช่องระบายอากาศเข้าและออกอย่างเหมาะสม โดยเลือกวางช่องนำอากาศเข้าให้ห่างจากแหล่งที่เป็นมลพิษ หรือมีมลภาวะสูง มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำย่อย และเลือกใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการและลดการใช้น้ำได้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ยังมีการกำหนดให้ความดันเป็นลบ สำหรับห้องพิมพ์งานถ่ายเอกสาร เก็บสารเคมี และห้องทำความสะอาด เลือกใช้แผ่นกรองอากาศให้มีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

“ที่สำคัญ พื้นที่ทั้งหมดของอาคารต้องเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ มีการติดสัญลักษณ์ป้ายห้ามสูบบุหรี่อย่างชัดเจนในบริเวณต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพื่อเป็นการเตือน ป้องกัน และห้ามปรามผู้ที่จะลักลอบสูบบุหรี่ภายในโครงการดังกล่าวอีกด้วยผศ. ดร.จตุวัฒน์ กล่าว


ชี้วิศวกรที่ปรึกษาต้องควบคุมการก่อสร้างทั้งโครงการ ให้เข้าเกณฑ์อาคารเขียว

สุพจน์ โล่วัชรินทร์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการสร้างอาคารในแต่ละแห่งจำเป็นต้องมีการว่าจ้างวิศวกรเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อตรวจสอบงาน ปรับแต่งงาน วางแผนการก่อสร้าง รายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง แนะนำหาผู้รับเหมาที่มีประสิทธิภาพให้ตรงตามข้อกำหนดของเขตก่อสร้าง และเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์อาคารเขียวที่ต้องมีการควบคุมทั้งโครงการให้เข้าระบบอาคารเขียว ที่สำคัญวิศวกรที่ปรึกษาโครงการจะต้องประสานงานทุกฝ่ายตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ นั่นคือ หากการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ประเมินแล้วว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียว จะต้องมีการแก้แบบ ปรับปรุงในส่วนที่ผิดกฎเกณฑ์ ต้องเร่งดำเนินการประสานการทำงานให้แล้วเสร็จตามข้อบังคับของทางสถาบันอาคารเขียวไทย

ส่วนเรื่องค่าจ้างสำหรับที่ปรึกษาไทยนั้น ในอดีตจะทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและประหยัด ในสัดส่วนงบประมาณค่าก่อสร้างที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท แบ่งเป็นเป็นค่าที่ปรึกษาออกแบบ 2 เปอร์เซ็นต์ ค่าควบคุมงานอาคาร 1.75 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ต้องดูวุฒิการศึกษาและประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปด้วยว่ามีความรู้ความสามารถในระดับใด มีผลงานการเป็นที่ปรึกษามาอย่างไรบ้าง ซึ่งจะมีการจดบันทึกข้อมูลไว้ตลอด เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งรัฐและเอกชนที่ต้องการว่าจ้างวิศวกรได้เข้ามาเลือกคนได้ตรงกับงาน ต่อมาได้มีการปรับอัตราค่าว่าจ้างที่ปรึกษาไทยปรับตามมติของกระทรวงการคลัง ปี 2546 จากเดิม 2.145 เป็น 2.64 และจะมีการปรับลดตามสภาพเศรษฐกิจทุกๆ 5 ปี ให้เหมาะสมตามจริง

ทั้งนี้ การว่าจ้างไม่มีการระบุตัวเลขฐานเงินเดือนค่าที่ปรึกษาพื้นฐานของวิศวกรที่ปรึกษาแต่ละโครงการที่ชัดเจน มีแต่ประมาณการไว้ในฐานข้อมูลของกระทรวงการคลังเท่านั้น ขั้นต่ำเฉพาะค่าที่ปรึกษาประมาณ 17,000 บาท สำหรับผู้จบใหม่เข้าสู่วิศวกรที่ปรึกษา ไม่รวมกับเงินเดือนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะจ้างให้ตามวิทยฐานะ หรือระดับความรู้ ช่างเทคนิค ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่กระทรวงการคลังกำหนดและอ้างอิงตามกฎหมายแรงงานที่ปรับลดอัตราค่าจ้างแต่ละพื้นที่ด้วย เบื้องต้นเงินเดือนพื้นฐานประสบการณ์ 5-10 ปี เดือนละตั้งแต่ 23,400 บาทขึ้นไป ซึ่งสามารถเข้าไปขอดูรายละเอียดได้ในกลุ่มวิชาชีพวิศวกรทั้ง 7 สาขา เช่น สาขาวิศวกรรมโยธา สาขาสิ่งแวดล้อม สาขาเครื่องกล สาขาไฟฟ้า สาขาอุตสาหการ สาขาเหมืองแร่ และสาขาวิศวกรรมเคมี และในปัจจุบันได้เพิ่มกลุ่มวิชาชีพวิศวกรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เข้ามาร่วมในการทำงานเป็นทีมวิศวกรที่ปรึกษาสำหรับการก่อสร้างด้วย


แนะวิศวกรที่ปรึกษาสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ พร้อมใช้หลักวิศวกรรมคุณค่า (VE )ในการทำงาน

โดยทั่วไปแล้วโครงการขนาดเล็กเปอร์เซ็นต์การว่าจ้างที่ปรึกษาจะสูงกว่าโครงการขนาดใหญ่ นอกจากนี้หลายโครงการก่อสร้างในประเทศไทย นอกจากจะว่าจ้างที่ปรึกษาการก่อสร้างอาคารเป็นวิศวกรชาวไทยแล้ว หลายโครงการก่อสร้างเริ่มนิยมว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการจากต่างประเทศ โดยพิจารณาจากระบบมาตรฐาน ISO สากลของการทำงาน เพื่อเข้ามาเป็นผู้จัดการโครงการ เพื่อขอเข้ารับรองอาคารก่อสร้างที่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศเพิ่มเติมนอกจากการรับรองจากสถาบันในประเทศไทย

“วิศวกรที่จบใหม่อาจจะยังไม่มีประสบการณ์ที่จะเข้าสู่วิศวกรที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชน จะต้องสั่งสมประสบการณ์และหมั่นเรียนรู้จากการสัมมนาวิชาชีพวิศวกร และจากการเข้าไปทำหน้าที่ร่วมงานกับโครงการก่อสร้างต่างๆ ตามสาขาวิชาที่เรียนมา เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ที่สำคัญ จะต้องมีหลักวิศวกรรมคุณค่า ( Value Engineering :VE ) เข้ามาประกอบในการทำงานด้วย โดยวิเคราะห์ประโยชน์การใช้งานของผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้างแต่ละประเภท พื้นที่ส่วนใดในแปลนไม่จำเป็นต้องปลูกต้นไม้เพราะจะบดบังทัศนียภาพของอาคาร ก็ควรมีการพูดคุยปรับแบบกับเจ้าของโครงการก่อนลงมือทำ เพื่อลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน ลดเงินค่าจ้างที่ไม่จำเป็นออก ลดเวลาการทำงานให้เสร็จก่อนกำหนด เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ในการใช้งานที่จำเป็น และคุณภาพตรงความต้องการของลูกค้า”สุพจน์ กล่าว