Sunday, November 24, 2024
Latest:
Construction

ครม.มีมติดำเนินโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของ รฟท.ในกรอบวงเงิน 1,548.77 ล้านบาท

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ..2565 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดังนี้

  1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมในกรอบวงเงิน 1,548.77 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)
  2. เห็นชอบให้ รฟท. กู้ยืมเงินตามนัยมาตรา 39 (4) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ภายในกรอบวงเงิน 1,548.77 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) เพื่อดำเนินโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า

โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมที่ รฟท. ขออนุมัติในครั้งนี้จะเลือกใช้อุปกรณ์โครงข่ายรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพและมีความทันสมัยตามเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของเนื้องานตามที่ รฟท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดการดำเนินงานและออกแบบระบบไว้ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งสามารถรองรับกับภารกิจของ รฟท. ในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับ รฟท. ได้พิจารณาทบทวนโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโครงข่ายโทรคมนาคมร่วมกับโครงการอื่น ๆ ของ รฟท. เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โดยโครงการดังกล่าวมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1.ขอบเขตของงาน ประกอบด้วย งานจ้างติดตั้งระบบโครงข่าย เช่น ติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายและระบบโทรศัพท์ควบคุมการเดินรถและระบบโทรศัพท์พื้นฐาน งานจ้างติดตั้งสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ติดตั้งสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (48 แกน) แขวนบนเสาโทรเลขตามแนวรางทั่วประเทศ และ งานจ้างที่ปรึกษา จ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน

2.แผนการดำเนินงาน

การดำเนินงานติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมจะดำเนินการติดตั้งสถานีโทรคมนาคมให้ครอบคลุมสถานีรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 443 สถานี และศูนย์โทรคมนาคม จำนวน 2 แห่ง โดยทำหน้าที่ควบคุมและเฝ้าระวังระบบสื่อสารโทรคมนาคมทั่วประเทศ ซึ่งทั้ง 2 แห่ง สามารถทำงานทดแทนกันได้และติดตั้งโครงข่ายเคเบิลสายใยแก้วนำแสงเพื่อเชื่อมโยงสัญญาณการสื่อสารระหว่างสถานีทั้งหมดตลอดแนวเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 โครงการระยะเร่งด่วน วงเงิน 1,548.77 ล้านบาท [เสนอดำเนินการในครั้งนี้] เป็นการก่อสร้างระบบโทรคมนาคมแกนหลักสำหรับติดต่อสื่อสารข้อมูลและเสียงให้ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเน้นภารกิจในการเดินรถและการติดต่อสื่อสารระหว่างภาคพื้นดินทุกพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งจะดำเนินการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การติดตั้งสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพื่อเชื่อมสถานีรถไฟทั่วประเทศ ระบบโทรศัพท์ควบคุมการเดินรถ โทรศัพท์พื้นฐานและระบบการรับส่งข้อมูล
  • ระยะที่ 2 โครงการระยะกลาง วงเงิน 5,500 ล้านบาท เป็นการขยายโครงข่ายระบบโทรคมนาคมให้สามารถรับ – ส่งข้อมูลด้วยความเร็วที่สูงขึ้น โดยจะดำเนินการติดตั้งระบบโครงข่ายสื่อสัญญาณ DWDM (Dense Wavelength Division Multiplexing) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งข้อมูลผ่าน Fiber Optic ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และติดตั้งส่วนขยายของโครงข่าย IP Backbone ซึ่งจะขยายพื้นที่ติดตั้งระบบให้เชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ทุกอาคาร และหน่วยงาน เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย และจำนวนอุปกรณ์ปลายทางที่มากขึ้น รวมถึงการทำโครงข่ายสำรองเพื่อให้ระบบโครงข่ายโทรคมนาคมมีเสถียรภาพในการทำงานสูง
  • ระยะที่ 3 โครงการระยะยาว วงเงิน 7,400 ล้านบาท เป็นการติดตั้งระบบสื่อสารไร้สาย GSM – R (Global System for Mobile Communications – Railway) โดยเชื่อมต่อเข้ากับระบบโครงข่ายโทรคมนาคมที่ติดตั้งเสร็จในระยะที่ 2 เพื่อการติดต่อระหว่างภาคพื้นดินกับขบวนรถไฟได้ทุกขบวน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานการเดินรถทั้งหมด ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวเป็นระบบที่สามารถรองรับการทำงานของระบบรถไฟความเร็วสูงและระบบการควบคุมการเดินรถมาตรฐานสากลได้

3.ความเหมาะสมด้านเทคนิค

โครงข่ายโทรคมนาคมของ รฟท. จะใช้สายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ขนาด 48 แกน ซึ่งปัจจุบันนิยมนำสายใยแก้วนำแสงมาเป็นสายหลักของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและระบบโครงข่ายโทรศัพท์ มาเป็นสายสัญญาณหลัก โดยจะติดตั้งแบบแขวนตามแนวเส้นทางรถไฟตลอดเส้นทางทั่วประเทศ ทั้งนี้ โครงข่ายดังกล่าวจะใช้เทคโนโลยี Metro Ethernet ในการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟทั่วประเทศเข้ากับศูนย์โทรคมนาคมซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่และสามารถรองรับการใช้งานอื่น ๆ เช่น ระบบสื่อสารด้วยเสียง VoIP (Voice over Internet Protocol) ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ระบบบัญชีและระบบ e-Document รวมถึงรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบควบคุมการเดินรถของโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และโครงการอื่น ๆ ในอนาคต

นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังได้รับการออกแบบเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นโครงข่ายสำรองในอนาคตได้อีกด้วย โดยจะใช้เป็นการเชื่อมต่อสายใยแก้วนำแสงจากโครงข่ายระบบโทรคมนาคมของ รฟท. ไปยังโครงข่ายของผู้ให้บริการอื่นเพื่อทำหน้าที่สำรองระบบเพื่อให้ระบบโทรคมนาคมยังคงทำงานได้ต่อเนื่องในกรณีที่เกิดปัญหาสายใยแก้วนำแสงขาดเนื่องจากอุบัติเหตุ

4.ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน

รฟท. ได้วิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในกรณีที่ปรับลดกรอบวงเงินโครงการฯ จากเดิม 2,055.198 ล้านบาท คงเหลือ 1,548.77 ล้านบาท ซึ่งพบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

4.1 ผลตอบแทนทางการเงิน กรณีการใช้/ร่วมพัฒนาโครงข่ายเดิม (หมายถึง การพัฒนาโครงข่ายของ รฟท. พร้อมกับการใช้/พัฒนาคู่ขนานร่วมกับโครงข่ายเดิมที่มีอยู่ (ผลการศึกษารายละเอียดแนวทางการดำเนินการภายหลังโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟหมดสัญญาสัมปทานในปี พ.ศ. 2554 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2552) : วงเงินเดิม 2,055.198 ล้านบาท วงเงิน ใหม่1,548.770 ล้านบาท กรณีร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงข่ายในตลาดค้าส่งโทรคมนาคม (หมายถึง การพัฒนาโครงข่ายของ รฟท. พร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงข่ายในตลาดค้าส่งโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ในการเป็นโครงข่ายสำรอง หรือพัฒนาร่วมกับโครงข่ายโทรคมนาคมของหน่วยงานอื่นที่มีโครงข่ายอยู่แล้วเพื่อใช้เป็นโครงข่ายสำรอง เช่น โครงข่ายทางถนนของ คค.) :วงเงินเดิม 2,055.198 ล้านบาท วงเงินใหม่ 1,548.770 ล้านบาท

  • 1) อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ( คู่มือแนวทางและหลักเกณฑ์การวิเคราะห์โครงการ พ.ศ. 2555 (ฉบับปรับปรุง) ของ สศช. แนะนำว่า สำหรับการวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านการเงินของโครงการ อัตราผลตอบแทนด้านการเงินของโครงการ (Financial Internal Rate of Return: FIRR) ควรมากกว่าอัตราเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักต้นทุนเงินลงทุนของโครงการ (Weighted Cost of Capital: WACC) ในขณะที่การวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ของโครงการ ที่ผ่านมา สศช. ได้กำหนดเกณฑ์อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 9 – 12% แล้วแต่ลักษณะของโครงการ) กรณีการใช้/ร่วมพัฒนาโครงข่ายเดิม : วงเงินเดิม 3% วงเงินใหม่ 4.21% กรณีร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครง ข่ายในตลาดค้าส่งโทรคมนาคม : วงเงินเดิม 24.4% วงเงินใหม่ 31.66%
  • 2) มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ณ อัตราคิดลด 10% กรณีการใช้/ร่วมพัฒนาโครงข่ายเดิม: วงเงินเดิม – 661.050 ล้านบาท วงเงินใหม่ – 461.346 ล้านบาท กรณีร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงข่ายในตลาดค้าส่งโทรคมนาคม: วงเงินเดิม 1,628.559 ล้านบาท วงเงินใหม่ 1,828.722 ล้านบาท

4.2 ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

กรณีการใช้/ร่วมพัฒนาโครงข่ายเดิม: วงเงินเดิม 2,055.198 ล้านบาท วงเงิน ใหม่ 1,548.770 ล้านบาท กรณีร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงข่ายในตลาดค้าส่งโทรคมนาคม วงเงินเดิม2,055.198 ล้านบาท วงเงิน ใหม่ 1,548.770 ล้านบาท

  • 1)อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) กรณีการใช้/ร่วมพัฒนาโครงข่ายเดิม : วงเงินเดิม 127% วงเงินใหม่ 160.55% และกรณีร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโครงข่ายในตลาดค้าส่งโทรคมนาคม : วงเงินเดิม 244.7% วงเงินใหม่ 308.59%
  • 2) มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ณ อัตราคิดลด 10% กรณีการใช้/ร่วมพัฒนาโครงข่ายเดิม : วงเงินเดิม 28,864.672 ล้านบาท วงเงินใหม่ 29,427.293 ล้านบาท และกรณีร่วมมือกับผู้ประกอบการ ที่เป็นเจ้าของโครง ข่ายในตลาดค้าส่งโทรคมนาคม: วงเงินเดิม 31,326.573 ล้านบาท วงเงินใหม่ 34,713.101 ล้านบาท

คค. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า (1) รฟท. จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงข่ายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมของ รฟท. เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ เพื่อความคล่องตัวในการปรับปรุงและขยายโครงข่ายการดำเนินกิจการขนส่งทางรถไฟ และยังมีความเสี่ยงสูงหากนำโครงข่ายที่ใช้งานร่วมกับเอกชนที่ถูกนำไปหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ไปบูรณาการโครงข่ายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในด้านการใช้ประโยชน์สาธารณะและภารกิจของหน่วยงานของรัฐ เช่น ด้านความมั่นคงและด้านภัยพิบัติในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของชาติตามมติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 และ (2) เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า รฟท. ไม่สามารถดำเนินธุรกิจกิจการโทรคมนาคมได้ เนื่องจากไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักขององค์กรตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ซึ่งหน่วยงานราชการ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เคยยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยตามเรื่องเสร็จที่ 340/2549 เรื่องการดำเนินธุรกรรมของ กฟผ. สรุปได้ว่าหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐที่ไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม ไม่สามารถดำเนินกิจการโทรคมนาคมได้ ดังนั้น รฟท. จึงไม่มีสิทธิในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ได้

5.ระยะเวลาดำเนินการ กรอบวงเงิน และแหล่งที่มา

โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของ รฟท. มีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 2 ปี ภายในกรอบวงเงินลงทุน 1,548.77 ล้านบาท แต่เนื่องจากไม่ใช่การดำเนินการในส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสนับสนุนตามหลักการการอุดหนุนโครงการของ รฟท. และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2563 รฟท. จึงจะกู้เงินตามนัยมาตรา 39 (4) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดย รฟท. จะเป็นผู้รับภาระเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน และให้ กค. เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในการกู้เงินต่อไป

6.ประโยชน์จากการดำเนินการ

6.1 ด้านการเดินรถ สามารถรองรับระบบงานที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการเดินรถ เช่น ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟสี ระบบควบคุมการเดินรถ ระบบวิทยุสื่อสาร ระบบติดตามการเดินรถ ระบบเครื่องกั้น ระบบกล้องวงจรปิด รวมถึงเทคโนโลยีการเดินรถสมัยใหม่และระบบรถไฟความเร็วสูง

6.2 ด้านการให้บริการ สามารถรองรับเทคโนโลยีไร้สายที่สนับสนุนการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและความบันเทิงบนขบวนรถแก่ผู้โดยสาร นอกจากนี้ยังรองรับโครงข่ายในลักษณะ VPN (Virtual Private Networks) และระบบข้อมูลข่าวสารที่ฉับไว ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน รวมถึงระบบการขายตั๋วโดยสารออนไลน์และทางอินเทอร์เน็ต

6.3 ด้านการสื่อสารภายใน จะช่วยสนับสนุนให้การสื่อสารข้อมูลในทุกรูปแบบระหว่างหน่วยงานภายในของ รฟท. ให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพทั้งในส่วนของระบบโทรศัพท์พื้นฐานและระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เช่น ระบบจัดเก็บข้อมูล (Data Center) ระบบการประชุมทางไกล รวมถึงระบบงานที่ใช้วางแผนทรัพยากรขององค์กร หรือ ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning)

6.4 ด้านการพัฒนาโครงข่ายในอนาคต สามารถรองรับการปรับปรุงและ/หรือขยายโครงข่ายตามเส้นทางรถไฟที่เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งยังรองรับการเชื่อมโยงกับโครงข่ายผู้ให้บริการด้านรถไฟในประเทศเพื่อนบ้าน

6.5 ด้านสังคม สนับสนุนกิจกรรมทางสังคมทั้งในด้านการศึกษา การแพทย์ ภูมิศาสตร์และการเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อการคมนาคมระบบรางของประเทศ และส่งเสริมกระจายความเจริญจากศูนย์กลางไปสู่ภูมิภาค

7. ผลกระทบด้านต่าง ๆ

7.1 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของ รฟท. ไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2555 และไม่จัดอยู่ในประเภทโครงการ หรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

7.2 ผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน

โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของ รฟท. ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการ เนื่องจากดำเนินการอยู่ในเขตที่ดินของ รฟท. ทั้งหมด

คค. แจ้งเพิ่มเติมว่า

1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ รฟท. ดำเนินโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม โดยมีความเห็นและข้อสังเกตเพิ่มเติม

2. รฟท. มีความพร้อมในการดำเนินโครงการ โดยได้จัดทำข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Term of Reference: TOR) โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม และจัดจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการ แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ขอรับจัดสรรเป็นรายเดือนไว้แล้ว สามารถดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ยังได้พิจารณาทบทวนการลงทุนในส่วนของการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมภายใต้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่อีกครั้ง และกำหนดขอบเขตงานไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับงานเดินสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในงานแต่ละโครงการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและภาระการลงทุนของภาครัฐโดยรวมเรียบร้อยแล้ว

3. คค. ได้พิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์โครงข่ายนอกเหนือจากกิจการเดินรถระบบขนส่งทางราง เพื่อใช้ในประโยชน์ของสาธารณะและภารกิจของหน่วยงานของรัฐตามความเห็นของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว โดยเห็นควรให้ใช้ในภารกิจของ คค. เพื่อใช้ประโยชน์ในการรับส่งข้อมูลสารสนเทศของระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการให้บริการประชาชนและสนับสนุนการปฏิบัติราชการกับหน่วยงานในสังกัดส่วนกลาง รวมถึงเชื่อมโยงการรับส่งข้อมูลสารสนเทศระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์และใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตผ่าน Internet Gateway ของ คค.