Thursday, November 21, 2024
Latest:
Construction

“SYS” จับมือ 4บริษัทชั้นนำของไทยรังสรรค์ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ Landmark ระดับ Masterpiece

เปิดให้บริการเรียบร้อยแล้วสำหรับ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่ที่ยิ่งใหญ่และอลังการกว่าเดิม พร้อมรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบ นอกจากเบื้องหน้าที่ต้องเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ แล้ว เบื้องหลังของความสำเร็จที่ทำให้โครงการระดับประเทศแห่งนี้ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีตามโจทย์ของเจ้าของโครงการ และสามารถเปิดดำเนินการได้ตามกำหนดนั้น ซึ่งมาจากความร่วมมือของบริษัทชั้นนำของประเทศ ทั้ง บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการ บริษัท เบคา (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ออกแบบ บริษัท นันทวัน จำกัด หรือ Thai Obayashi ผู้รับเหมาก่อสร้าง และ บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ในฐานะผู้ผลิตเหล็กโครงสร้าง คุณภาพสูงของไทย ที่ช่วยให้โครงการสำเร็จได้ตามกำหนดเวลา

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่ มีพื้นที่อาคารที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า โดยโถงกลางของอาคารมีดีไซน์ทันสมัยไร้เสากลาง ซึ่งไม่เพียงชูความสวยงามให้โดดเด่น แต่ยังสามารถปรับใช้พื้นที่ให้รองรับการจัดงานได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้น โครงสร้างหลังคาจึงมีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแต่มีความแข็งแกร่งทนทาน แต่ต้องออกแบบพิเศษให้มีขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้ความสูงของอาคารเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และบริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กโครงสร้าง ต้องร่วมกันหาโซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับการก่อสร้างให้สำเร็จได้ตามโจทย์ และโครงการแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด

วิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการ กล่าวว่า โจทย์ของการปรับโฉมศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์คือ การเพิ่มศักยภาพของศูนย์ฯ ให้สามารถรองรับการจัดงานประชุมและอีเว้นท์ระดับเวิลด์คลาสได้ทุกรูปแบบ ด้วยพื้นที่เกือบ 300,000 ตร.ม. มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า ซึ่ง เราต้องการให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของศูนย์การประชุมในประเทศไทยต่อไป อีกทั้งยังให้ความสำคัญด้านคุณภาพและความปลอดภัยในการพัฒนาโครงการ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การรองรับการเป็นอาคารสีเขียว

วานิช นพนิราพาธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบคา (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่าโจทย์ที่ได้รับมาค่อนข้าง Challenge มาก ด้วยตัวอาคารที่จะเป็น Landmark ในอนาคต แม้จะไม่ใช่อาคารสูง แต่เป็นอาคารที่มีขนาดกว้าง โล่ง และต้องออกแบบโถงกลางให้ปราศจากเสา เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในตัวอาคารได้หลากหลายรูปแบบ ผนวกกับข้อกำหนดทางกฎหมายที่ห้ามอาคารสูงเกิน 27 เมตรแล้ว ทำให้เราต้องออกแบบให้โครงหลังคาเหล็กนี้มีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก แต่สามารถทำช่วงเสาได้กว้างถึง 110 เมตร ด้วยการใช้เหล็กกำลังสูงอย่างเหล็ก SM520

ด้านวิวัฒน์ ลิมานนท์ดำรงค์ ผู้จัดการโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บริษัท นันทวัน จำกัด หรือ Thai Obayashi กล่าวว่า หลังจากที่บริษัทฯ รับแบบการก่อสร้างโครงการมาแล้ว ได้ทำการศึกษาและพบว่าการก่อสร้างด้วยวิธีการแบบปกติจะใช้เวลานานประมาณ 36 เดือน หรือ 3 ปี แต่เจ้าของโครงการต้องการให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนเวลาดังกล่าว เนื่องจากมีแผนที่จะเปิดให้บริการทันรองรับการประชุม APEC ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ทำให้ทีมก่อสร้างต้องหาวิธีที่จะทำให้งานเสร็จสมบูรณ์เร็วกว่าการก่อสร้างตามปกติ จึงเลือกใช้การก่อสร้างแบบ Top down ซึ่งเป็นการทำงานฐานราก ควบคู่ไปกับงานโครงสร้างหลังคาด้านบน โดยใช้เทคนิคการสไลด์ Super Truss ซึ่งโครงเหล็ก Super Truss นี้ เราได้ทาง ST Frame ประกอบชิ้นส่วนมาจากโรงงาน และทำ Mock up ความยาว 110 เมตร ความสูง 7 เมตร ความกว้าง 9 เมตร ลักษณะเหมือนสะพานข้ามแม่น้ำแคว 1 ตัว แต่ทั้งหมดที่ใช้ในงานศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะเท่ากับมีถึง 22 ตัว ซึ่งค่อนข้างเป็นงานที่ท้าทายในการก่อสร้างโครงหลังคาที่ใหญ่ขนาดนี้

“สิ่งสำคัญที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี คือทีมเวิร์คที่ดีของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับ SYS ที่สามารถผลิตเหล็กเอชบีมที่มีคุณภาพได้ตามขนาด และความยาวที่ต้องการใช้สำหรับโครงการนี้โดยเฉพาะ ” วิวัฒน์ กล่าว

ด้านพงษ์ศักดิ์ แห่ล้อม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ผู้ผลิตเหล็กเอชบีม ไวด์แฟลงก์ มานานกว่า 25 ปี กล่าวว่า ความท้าทายของโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นี้ คือการพัฒนาเหล็กเอชบีมขนาดใหญ่พิเศษ และเป็นเหล็กกำลังสูง หรือ เกรด SM520 เพื่อใช้เป็นเหล็กโครงสร้างหลังคาของโครงการนี้โดยเฉพาะ อีกทั้ง SYS ยังผลิตเหล็กความยาวพิเศษ หรือเหล็กที่มีความยาวตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งจะมีทั้งความยาวที่มากกว่าหรือน้อยกว่าความยาวปกติ หากเป็นเหล็กที่สั้นกว่าความยาวของเหล็กปกติทั่วไป ก็จะทำให้ไม่ต้องเสียเศษ เป็นการประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น

เนื่องจาก SYS เป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทย ดังนั้นการส่งเหล็กเข้าไปยังไซต์งานก่อสร้าง จึงสามารถทำได้ตามตารางเวลา ไม่เกิดความล่าช้า อีกทั้งยังได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ จนถึงการก่อสร้าง จึงทำให้โครงการระดับชาติแห่งนี้ สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และสำเร็จภายในเวลาที่กำหนด

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย การได้เป็นส่วนหนึ่งของงานระดับชาติครั้งนี้ SYS ภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่เหล็กของ SYS นอกจากจะตอบโจทย์เรื่องของขนาดและความยาวพิเศษ รวมถึงความรวดเร็วในการก่อสร้างแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะ SYS ใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต และเหล็กเอชบีมของ SYS ก็สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือ Recycle ได้อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอรตี้ ที่ต้องการให้อาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แห่งนี้เป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” พงษ์ศักดิ์ กล่าว

สำหรับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้เปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับงานประชุมและงานแสดงสินค้าต่างๆ ของประเทศไทย และในเดือนพฤศจิกายน 2565 ศูนย์ประชุมระดับชาติแห่งนี้จะถูกใช้เป็นพื้นที่จัดงานใหญ่ระดับโลกอย่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกด้วย