Saturday, November 23, 2024
Latest:
Construction

“NOVA BUILD” มหกรรม นวัตกรรม เพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย…

เนื่องจากปัจจุบันหลายองค์กรและหลายภาคส่วนให้ความสำคัญในเรื่อง Net Zero และ Carbon Neutrality ดร.เกชา ธีระโกเมน วศ.14 ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด จึงร่วมกับกลุ่มเพื่อนจัดงาน NOVA BUILD EXPO 2023” ขึ้นมา เพื่อแสดงนวัตกรรมอาคาร การออกแบบ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาคาร สิ่งปลูกสร้างยุคใหม่ รวมถึงร่วมแชร์ประสบการณ์ด้านอาคารให้ผู้ร่วมงานสามารถเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ และเป็นต้นแบบให้องค์กรต่าง ๆ รวมถึงผู้ลงทุนนำไปปรับปรุงพัฒนาโครงการของตน ลดการใช้พลังงาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ตอบโจทย์ 3 มิติสำคัญ (ESI) ได้แก่ อาคารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Eco System) อาคารที่ส่งเสริมความยั่งยืนของโลกและชุมชน (Sustainability) และอาคารที่ห่วงใยคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยและเพิ่มประสิทธิภาพของอาคารให้ดียิ่งขึ้น (Innovation for Well-Being) ซึ่ง ดร.เกชา จะมีแนวคิดและคาดหวังอะไรจากการจัดงานครั้งนี้บ้างไปรับฟังความเห็นกัน

ดร.เกชา ธีระโกเมน วศ.14
ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด

วิศวกรจากรั้วจุฬาฯ

ดร.เกชา จบการศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงชั้นปีที่ 2 กิจกรรมในมหาวิทยาลัยค่อนข้างเยอะและเป็นช่วง 14 ตุลาคม มีเรื่องการเมืองเกิดขึ้น และเป็นรุ่นแรก ๆ ที่เปลี่ยนการวัดผลการเรียนจากเปอร์เซ็นต์เป็นระบบเกรด และเป็นช่วงที่มีชุมนุมวิชาการของคณะวิศวฯ เกิดขึ้น ส่วนตัวจะเข้าไปอยู่ในชุมนุมวิชาการของคณะวิศวฯ และชมรมวิชาการของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งเพื่อน ๆ หลายคนในชมรมร่วมกันผลิตวารสารเมแคนิค และวารสารเทคนิค รวมถึงร่วมกันจัดตั้ง ซีเอ็ดยูเคชั่น ที่เรารู้จักกันดี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนาน

ประสบการณ์ทำงาน และความก้าวหน้าเรื่องวิศวกรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน

ช่วงที่จบจากคณะวิศวฯ จุฬาฯ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ผมว่างงานอยู่หลายเดือนในขณะที่เพื่อน ๆ เข้าทำงานใน กฟผ. และปูนซิเมนต์ไทย ค่อนข้างเยอะ น้าจึงแนะนำให้เข้าทำงานใน บริษัท กมลสุโกศล จำกัด ซึ่งในสมัยนั้นขายเครื่องปรับอากาศ GE, FEDDERS ซึ่งเจ้านายคือ คุณเจริญ จิรวิศัลย์ ต่อมาได้ถูกชักชวนให้เข้าทำงานด้านระบบดับเพลิงอัตโนมัติ Ansul ซึ่งช่วงนั้นมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ จากนั้นปี พ.ศ.2519 คุณเจริญ ชักชวนให้ไปทำงานกับ คุณชยันต์ ศาลิคุปต ซึ่งกำลังจะก่อตั้งบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา EEC ขึ้นมา ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า Environmental Engineering Consultant ดำเนินธุรกิจหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น การออกแบบ เขียนแบบ พิมพ์สเปค พิมพ์แบบ คุมงาน ประสานงาน ส่งเอกสาร และได้ทำงานที่นี่จนเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้

ความก้าวหน้าเรื่องวิศวกรรมศาสตร์ในช่วงนั้นจะเป็นยุคของการเรียนการสอนแบบเดิม และโชคดีอาจารย์ที่เก่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศได้ไม่นาน อาจารย์เหล่านี้ได้ช่วยสนับสนุนให้ผลการเรียนดีขึ้นในช่วงที่ผมเกรดไม่ดี และในฐานะกรรมการสภาวิศวกรเราค่อนข้างเป็นห่วงการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และสภาวิศวกรได้มีการปรับวิชาบังคับในหลักสูตร เพราะเข้าใจว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ และต้องเปลี่ยนไปในลักษณะ Outcome Based ซึ่งสภาวิศวกรตอนนี้ก็กำลังจะส่งเสริมในเรื่อง Outcome Based ทำในเรื่องของการรับรองมาตรฐานการศึกษาที่เรียกว่า TABEE จะเป็นลักษณะ Globalization เพราะต่อไปจะต้องทำในเรื่องวิศวกรข้ามชาติ ซึ่งเป็นขบวนการที่เรากำลังทำอยู่ และเราอยากให้การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเป็นไปในลักษณะ Outcome Based เช่นกัน หลักสูตรเน้นไปทางด้านรับรองมาตรฐานการเรียนการสอนที่เป็นสากลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ABET หรือ TABEE ซึ่งอยากให้เป็นไปในทิศทางนี้ และในบางครั้งอาจารย์ที่จบจากต่างประเทศเองอยากสอนนิสิตในสิ่งที่ท่านได้เรียนมา ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานเท่าที่ควร อยากให้มหาวิทยาลัยมองว่าแรงงานอุตสาหกรรมวิศวกรในประเทศไทยมีความต้องการวิศวกรทางด้านไหนบ้าง และควรจะผลิตวิศวกรออกมาให้ตอบโจทย์กับความต้องการของอุตสาหกรรม เพราะหากผลิตออกมาไม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมจะทำให้นักศึกษาเสียโอกาสด้วย

EEC Academy ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ

EEC Academy ดำเนินธุรกิจมาหลายสิบปี มีผลงานทางด้านวิศวกรรมค่อนข้างเยอะ ผมขอยกตัวอย่างผลงานสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ถ.ศรีอยุธยา (ระบบ VAV แห่งแรก) โรงแรม Royal Orchid Sheraton (ระบบ Primary/ Secondary แห่งแรก) Seacon Square/ Future Park (ระบบ DCS/OAU/ Fire Standard Fire Safety ยุคแรก) โรงพยาบาลศิริราช สยามินทร์ (ห้องผ่าตัดติดเชื้อต่ำยุคแรก) โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์/ HMD กาตาร์ (Modern Hospital ยุคแรก) ศูนย์ราชการ (DCS เต็มรูปแบบ/DOAS/TES/Floor cooling ยุคแรก EE/AQ Champion) The Forestias (บุกเบิก Green, Sustainability/Smart City) และอาคาร EEC Academy, RIH (After COVID Hospital) เป็นต้น

จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการสมาคมวิชาชีพ

ดร.เกชา ได้เข้าสู่วงการสมาคมวิชาชีพในช่วงเริ่มก่อตั้งสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย ที่ ชยันต์ ศาลิคุปต มีบทบาทสำคัญ ซึ่งสมาคมให้เข้าไปช่วยงานและต่อมาก็ได้รับตำแหน่งเลขาธิการ ช่วงนั้นเริ่มมีมาตรฐานในเรื่องเครื่องปรับอากาศเข้ามา และได้มีโอกาสพบกับ ดร.ชำนาญ ห่อเกียรติ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ชักชวนให้เข้ามาร่วมในการผลักดันกฎหมายการตรวจสอบอาคาร และจัดทำมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย และเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จัก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งได้เข้ามาช่วยจัดทำมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัยนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในสมาคมวิชาชีพ

ความเป็นมาของ Nova BUILD EXPO 2023

ดร.เกชา เล่าว่างานนี้เริ่มต้นจาก กิตติคุณ คชเสนี อุปนายกสมาคม TFMA และ EEC Academy ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันในปีที่ผ่านมาค่อนข้างเยอะและมีเป้าหมายแบบเดียวกัน กิตติคุณ คชเสนี จึงชักชวน ชานนท์ เอกรัตนากุล ซึ่งมีประสบการณ์ในการจัด Event ให้เข้ามาปรึกษาหารือกัน และมองเห็นถึงศักยภาพของ EEC Academy ที่มีความมุ่งมั่นและแนวคิดดี ๆ หลายด้านในเรื่องของนวัตกรรมทางวิศวกรรม จึงอยากให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน Nova BUILD EXPO 2023 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้

ส่วนตัวมีความสนใจเรื่องนี้อยู่แล้วอยากนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ เรื่องวิศวกรรมและโครงการต่าง ๆ แต่รู้สึกว่ามีความยากและต้องใส่ความพยายามในการนำเสนอ เพราะคนส่วนใหญ่ยังลังเลไม่ค่อยยอมรับกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น และคิดว่ายังเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น รวมถึงกลัวในเรื่องการลงทุน จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ ๆ จะเข้าไปมีส่วนร่วมทำให้คนเข้าใจ เข้าถึงมากขึ้น และรู้สึกว่าการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยาก”

Nova BUILD EXPO 2023 ใช้หลักการ ESI ตอบโจทย์ 3 มิติสำคัญ ได้แก่ Eco system, Sustainability, และ Innovation for Well-being นอกจากนี้เรายังอยากบอกกับผู้ร่วมงานให้เกิดความรู้สึกว่า “การนำนวัตกรรมออกมาใช้งานให้เกิดผลจริง และคุ้มค่ากับการลงทุนหรือที่เรียกว่า Value ของ Project ที่กำลังทำอยู่ไม่ใช่เรื่องยากและไม่มีความเสี่ยงอย่างที่หลายคนคิด จึงเลือกใช้คำว่า ESI และช่วงนี้หลายองค์กรประกาศเป้าหมายและให้ความสำคัญเรื่อง ESG, Sustainability, Go Green หรือ Net Zero หากไม่นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ยังคิดแบบเดิม ไม่ลงมือทำ ไม่มีทางที่จะไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้”

EEC Academy ดำเนินธุรกิจวิศวกรที่ปรึกษาและสร้างโครงการใหญ่ ๆ มากมาย มีโอกาสนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้จริง เราคิดว่าอย่างน้อยสิ่งที่ทำอาจเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งเรามีความคิดในด้านวิศวกรรมใหม่ ๆ ที่เยอะมาก ๆ และอยากแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ให้ทุกคนได้เห็นมากขึ้น

รายละเอียดในงาน Nova BUILD EXPO 2023

เมื่อเราได้ประชาสัมพันธ์ NOVA Build EXPO 2023 มหกรรมที่นำเสนอเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาคารออกไปมีพันธมิตรและเพื่อน ๆ ที่อยู่ในวงการไม่ว่าจะเป็นสภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องมากกว่า 30 องค์กร ให้การตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจในการจัดงานครั้งนี้ และได้ปรึกษาหารือกับหลายท่านทำให้ได้ไอเดียเพิ่มขึ้น รวมไปถึงกิจกรรมก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีกิจกรรมหลัก ๆ ที่เราทำร่วมกับพันธมิตรมากมาย เช่น ESI Talk โดยกูรู เช่น ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร เป็นต้น Forum เพื่อระดมความคิดในการแก้ปัญหาเมือง โครงการมอบรางวัลเกียรติคุณนวัตกรรมดีเด่น NOVA Award กิจกรรมของสมาคม องค์กรพันธมิตร ในส่วนของพื้นที่แสดงนวัตกรรม จัดให้มี Innovation Pavilion, Clean Air Pavilion, Asso Pavilion และ Main Stage รวมไปถึงกิจกรรมไฮไลท์อื่น ๆ อาทิ โครงการประชุมโต๊ะกลมของวิชาชีพในแง่มุมต่าง ๆ (Round Table Forum) การอบรมและเสวนาเกี่ยวกับนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ (Innovation Conference) โครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตนักศึกษา (Pitching Innovation) โครงการร่วมมือกับองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างและอาคาร (Association Sharing & Activities) โครงการข้อตกลงพันธะสัญญาของพหุองค์กร (Building Summit) และโครงการรวบรวมความคิดอ่านของผู้ร่วมงาน (Public Survey)

Form Go To Reality คือเป้าหมายของงาน

เราต้องการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ออกมาได้จริง ๆ ในงาน Nova BUILD EXPO 2023 อยากเห็นโครงการตัวอย่างและโมเดลใหม่ ๆ ที่ผู้ชมงานเห็นแล้วสามารถนำไปเป็นตัวอย่างได้ เช่น Sandbox 2 แห่ง ที่สุขุมวิท 101 และพื้นที่บริเวณเอ็มควอเทียร์ที่เรากำลังจะเริ่ม หากประสบความสำเร็จอย่างไรเราก็จะนำไปเสนอในงานนี้ด้วย รวมถึงกรณีศึกษาจากโครงการต่าง ๆ ที่เราสามารถนำเข้ามาได้เพื่อให้ผู้ชมงานรู้สึกมั่นใจขึ้น เช่น การนำห้องน้ำสำเร็จรูปของ SCG ที่สร้างจากโรงงานมาแสดงในงานนี้ให้ผู้ชมงานได้เห็นตัวอย่างว่าสามารถที่จะทำได้จริง ซึ่ง Nova BUILD EXPO 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 กันยายนนี้ ณ ฮอลล์ 103-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

สุดท้ายนี้ “ผมรู้สึกว่าการที่ทุกคนมีเป้าหมายที่ในเรื่อง Net Zero และ Sustainability เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีใจที่ทุกคนให้ความสนใจและตระหนักในเรื่องวิกฤตของสภาพแวดล้อมโลก และอยากบอกว่าเราจะใช้วิธีการเดิม ๆ ไม่ได้ ต้องใช้นวัตกรรมซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก หรือซับซ้อน เป็นเรื่องของการทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานนี้ จะย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรทำให้ดีขึ้น นวัตกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”