Friday, November 22, 2024
Latest:
Construction

ก.คมนาคมเร่งรัดการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง ให้แล้วเสร็จตามแผน แก้ปัญหาการจราจรและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) ของกรมทางหลวง (ทล.) โดยปัจจุบัน ทล. ได้จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) ให้แล้วเสร็จตามแผนการดำเนินงานในทุกๆเส้นทางเพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการประชุมขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมี ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง (ขร.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เข้าร่วมการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) ของ ทล. โดยปัจจุบัน ทล. ได้จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) แล้วเสร็จ จำนวน 10 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 6,980 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบรางมีระยะทางทั้งหมด 4,760 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวเหนือ – ใต้ จำนวน 3 เส้นทาง แนวตะวันออก – ตะวันตก จำนวน 6 เส้นทาง และแนวเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1 เส้นทาง ดังนี้

1. เส้นทาง MR1 เชียงราย – นราธิวาส ระยะทาง 2,125 กิโลเมตร

2. เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ – ชลบุรี (แหลมฉบัง) – หนองคาย (ด่านหนองคาย) ระยะทาง 886 กิโลเมตร โดยเป็นมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 196 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 690 กิโลเมตร

3. เส้นทาง MR3 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ) – สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) ระยะทาง 470 กิโลเมตร

4. เส้นทาง MR4 ตาก (ด่านแม่สอด) – นครพนม (ด่านนครพนม) ระยะทาง 840 กิโลเมตร

5. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ระยะทาง 832 กิโลเมตร

6. เส้นทาง MR6 กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน) – สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ระยะทาง 390 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 96 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 294 กิโลเมตร

7. เส้นทาง MR7 กรุงเทพฯ – ระยอง (มาบตาพุด)/ตราด (ด่านคลองใหญ่) ระยะทาง 467 กิโลเมตร โดยเป็นมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ – พัทยา – มาบตาพุด ที่เปิดให้บริการแล้ว 181 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 286 กิโลเมตร

8. เส้นทาง MR8 ชุมพร – ระนอง ระยะทาง 94 กิโลเมตร

9. เส้นทาง MR9 สุราษฎร์ธานี – ภูเก็ต ระยะทาง 185 กิโลเมตร

10. เส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะทาง 648 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 (ถนนกาญจนาภิเษก) เปิดให้บริการแล้ว 168 กิโลเมตร ส่วนที่ 2 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (แผนในอนาคต) 455 กิโลเมตร และส่วนที่ 3 เส้นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบที่ 2 และ 3 ได้แก่ ช่วงบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 25 กิโลเมตร) ช่วงบ้านแพ้ว – ปากท่อ 54 กิโลเมตร และช่วงบางปะอิน – สุพรรณบุรี 55 กิโลเมตร

ทล. ได้รายงานผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการนำร่อง จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ – ชลบุรี (แหลมฉบัง) – หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี เส้นทาง MR8 ชุมพร – ระนอง และเส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 4 – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการพัฒนา MR-Map และเห็นด้วยกับการเวนคืนพื้นที่เพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางพร้อมกันในคราวเดียว แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกันขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน และสนับสนุนให้สร้างได้จริงรวมทั้งให้ดำเนินการโดยเร็ว

ในส่วนของการบูรณาการโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี และถนนวงแหวนรอบที่ 3 (MR10) นั้น กทพ. ดำเนินงานออกแบบรายละเอียด โดยมีการบูรณาการร่วมกับ MR-Map ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยโครงการทางพิเศษของ กทพ. (ช่วงจตุโชติ – วงแหวนรอบที่ 3) มีระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร จะเชื่อมกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 (MR10) ของ ทล. ซึ่งมีการบูรณาการออกแบบที่ปรับรูปแบบจากเดิมทั้ง 2 โครงการจะมีทางขึ้น – ลงแยกกัน คนละตำแหน่ง เป็นก่อสร้างทางขึ้น – ลง บริเวณเดียวกันและใช้ทางแยกต่างระดับร่วมกัน (Combine Interchange) เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากการเวนคืนพื้นที่ และลดความสับสนในการเดินทางของผู้ใช้ทาง อีกทั้งทางแยกต่างระดับบริเวณดังกล่าว สามารถเชื่อมต่อกับแนวสายทางโครงข่าย MR3 ของ ทล. ได้ในอนาคต สถานะปัจจุบัน กทพ. และ ทล. ได้บูรณาการร่วมกันจนได้ข้อยุติเรื่องรูปแบบแล้ว อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดของงานช่วงดังกล่าว ทั้งนี้การปรับรูปแบบตามแนวทางบูรณาการจำเป็นต้องมีการทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดย กทพ. จะเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามแผนงานต่อไป

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังได้มีข้อสั่งการให้ ทล. จัดทำแผนการขับเคลื่อนโครงการและ Action Plan ให้ชัดเจน เพื่อให้สาธารณชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้รับทราบข้อมูลและแผนการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในด้านต่าง ๆ อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง และยังได้กำชับประเด็นการเชื่อมโยงกับ สปป. ลาว ผ่านทางจังหวัดหนองคายตามเส้นทาง MR2 โดยให้ รฟท. เร่งพัฒนาโครงการรถไฟช่วงขอนแก่น – หนองคาย ให้สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว – จีนได้อย่างต่อเนื่อง และเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงให้พิจารณาเส้นทาง MR8 (ชุมพร – ระนอง) เพื่อสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ให้มีเส้นทางที่สั้นที่สุดโดยพิจารณาแนวทางที่เป็นไปได้ เช่น การพิจารณาเทคนิคทางวิศวกรรม เพื่อลดข้อจำกัดด้านกายภาพในการก่อสร้างท่าเรือ พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียในทางเลือกต่าง ๆ และในประเด็นการพัฒนาแผนแม่บท MR-Map ขอให้พิจารณากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการต่อไป และยังได้ให้ กทพ. พิจารณาการพัฒนาจุดพักรถให้มีรูปแบบเป็นอาคารคร่อมบนทางพิเศษเพื่อลดปัญหาการใช้พื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทางทั้ง 2 ทิศทาง รวมถึงการใช้ระบบด่านเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น เพื่อลดปัญหาการติดขัดหน้าด่าน และพิจารณาแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงการในรูปแบบอื่น ๆ เช่น TFF หรือ PPP เพื่อลดภาระในการใช้งบประมาณของภาครัฐ รวมถึงให้พิจารณาการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาโครงการทางพิเศษ ตามแผน MR-Map เช่น ปัญหาที่จะเกิดขึ้นบริเวณจุดตัดบางปะอินในอนาคต เป็นต้น โดยเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนต่อไป