ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการ Landbridge เน้นการพัฒนาเพื่อดึงดูดเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ หันมาใช้เส้นทางในอนาคต
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings
โดยมีชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนกรมทางหลวง กรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวภายหลังการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการว่าที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการศึกษาโครงการ โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญคือ การคัดเลือกตำแหน่งท่าเรือที่เหมาะสมของฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน โดยพิจารณาจากเกณฑ์การคัดเลือกที่ตั้งท่าเรือ ในด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการลงทุน และด้านสังคม โดยคัดเลือกพื้นที่ศักยภาพที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือแห่งใหม่ของประเทศไทย รองรับเรือขนส่งสินค้าจากฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร และฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง ซึ่งนอกจากจะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือแล้ว แนวเส้นทางเชื่อมต่อทั้ง 2 ท่าเรือ ต้องมีระยะทางที่สั้นและตรงที่สุด รวมถึงประหยัดเวลาในการเดินทางมากที่สุด ยังส่งผลดีในการดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้เส้นทางขนส่ง Landbridge ในอนาคต
โดยจะทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงแนวทางในการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ สอดคล้องกับตำแหน่งท่าเรือและแนวเส้นทางครอบคลุมครบทุกมิติ และนำตำแหน่งที่ตั้งท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ดำเนินการจัดทำการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อพิจารณาผลตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ต่อไป
นอกจากนี้จากการศึกษารูปแบบและปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศพบว่าการขนส่งสินค้าทางทะเล มีมากถึง 80% ของการขนส่งสินค้าของโลก หรือคิดเป็นปริมาณสินค้าเท่ากับ 11.1 พันล้านตัน และมีการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกามากถึง 1 ใน 4 ของการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลก โดยหนึ่งในประเภทสินค้า
ที่มีการขนส่งทางช่องแคบมะละกามากที่สุด คือการขนส่งสินค้าประเภทน้ำมัน (Tanker) ซึ่งการพัฒนาเพื่อดึงดูดให้เรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ และเรือขนส่งสินค้า ให้หันมาใช้เส้นทาง Landbridge ในอนาคต จะเป็นโจทย์สำคัญของการศึกษาโครงการ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาท่าเรือและด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศ ด้านการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษ รถไฟเชื่อมท่าเรือ และการขนส่งทางท่อ ด้านการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและกฎหมาย และด้านการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้การดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันของกระทรวงคมนาคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยที่จะส่งเสริมให้สายการเดินเรือต่าง ๆ มาใช้บริการโครงการ Landbridge ได้ รวมถึงให้พิจารณาการเพิ่มของปริมาณการนำเข้า – ส่งออกทางน้ำ ภายหลังจากมีการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) รวมถึงเปรียบเทียบแนวทางเลือกการเชื่อมต่อระหว่างฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ระหว่างการทำอุโมงค์แยกระหว่างรถไฟและรถยนต์ และการทำอุโมงค์รวมทั้งรถไฟและรถยนต์ โดยเปรียบเทียบข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบด้าน ตลอดจนศึกษาการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ให้คำนึงถึงชุมชน วิถีชีวิต และปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านด้วย