Sunday, November 24, 2024
Latest:
Construction

มาตรการเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19

ภาคการก่อสร้าง มีความสำคัญต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก แต่หากปราศจากการบริหารจัดการที่ดีแล้ว มาตรการปิดแคมป์อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว เนื่องจากจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดโครงการก่อสร้างคาดว่ามีถึงประมาณ 7 แสนคน และผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับค่าปรับตามสัญญาก่อสร้างและขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ เช่น การสั่งซื้อเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์มาใช้ในโครงการก่อสร้าง

คณะผู้เขียนจึงขอนำเสนอมาตรการระยะสั้น โดยเน้นที่การดูแลและเข้าถึงแรงงานข้ามชาติให้สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด ในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุด ดังนี้

1. การปิดแคมป์ด้วยหลัก 4อ (อาหาร อาการ อาศัย และอาชีพ) เพื่อให้สามารถยับยั้งการระบาดอย่างได้ผล ให้คนงานสามารถอยู่ในแคมป์ได้ตลอดระยะเวลากักตัว ดังนั้น จำเป็นต้องมีการจัดสรรพื้นที่ในแคมป์ให้เหมาะสม คนงานไม่ว่าสัญชาติใด และมีสถานะอย่างไร (รวมถึงแรงงานก่อสร้างคนไทยที่อยู่นอกระบบประกันสังคม) จำเป็นต้องได้รับอาหารที่เพียงพอและมีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและสามารถต้านทานเชื้อไวรัสได้ หรือหากติดเชื้อ ก็มีอาการไม่หนักจนต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล และต้องมีการตรวจหาเชื้อเพื่อคัดกรองเชิงรุกอย่างทั่วถึง หากพบเชื้อก็ต้องแยกตัวออก และหากมีอาการที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ก็ควรมีพื้นที่รักษาที่มีเครื่องมือพร้อมและเข้าถึงได้ตลอดเวลา ส่วนของที่พักอาศัยต้องลดความแออัดและโอกาสในการแพร่เชื้อ และที่สำคัญคือต้องให้สามารถประกอบอาชีพได้ หรือต้องมีเงินชดเชยการขาดรายได้ในอัตราที่เหมาะสมระหว่างที่ถูกปิดแคมป์ มิเช่นนั้นแล้วอาจไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนย้ายออกนอกแคมป์ได้

2. ไม่ใช้มาตรการเหมาโหล (one-size-fits-all) รัฐต้องทำความเข้าใจลักษณะที่อยู่ของแรงงานก่อสร้างเพื่อออกมาตรการควบคุมโรคให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ แคมป์คนงานแบ่งออกได้เป็นสามประเภท ได้แก่ 1) แคมป์ที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างดีกว่าประเภทอื่นและมักเป็นของบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ทำจากตู้คอนเทนเนอร์ คนงานในกลุ่มนี้น่าจะสามารถทำงานต่อไปได้ตามหลัก 4อ ข้างต้น เพราะคนงานส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานที่มีสุขภาพแข็งแรง แม้จะติดเชื้อก็ยังทำงานได้ตามปรกติ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าคนงานที่เริ่มมีอาการมากต้องให้หยุดงานและแยกตัวออกมาจากแคมป์ หรือแยกที่อยู่ภายในแคมป์ (รวมทั้งสมาชิกครอบครัวที่มีอาการหนักด้วย) เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของนายจ้างโดยตรง แต่รัฐควรให้บริการด้านการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน 2) แคมป์ชั่วคราวของผู้รับเหมาที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างที่มักเป็นเพิงสังกะสี หากนายจ้างได้ปรับปรุงสภาพที่พักอาศัยและจัดให้มีส่วนพยาบาลแล้ว ก็ควรให้ทำงานต่อได้ตามหลัก 4อ เช่นกัน และมีเงื่อนไขเรื่องแยกตัวคนงานที่ป่วยหนัก/สมาชิกครอบครัว ออกจากการอยู่อาศัยรวมกับผู้อื่น  3) แคมป์นอกพื้นที่ก่อสร้างของผู้รับเหมาช่วงหรือผู้รับเหมารายย่อยซึ่งแรงงานจะมาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับ แรงงานกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อในชุมชนที่พักอาศัย อาจพิจารณาโมเดล Bubble & Sealed สำหรับแรงงานที่พำนักในชุมชน เงื่อนไขสำคัญ คือ นายจ้างและผู้รับเหมาต้องทำข้อตกลงร่วมกับเจ้าหน้าที่ของศบค. ว่าจะดำเนินการป้องกันมิให้คนงานก่อสร้างในสังกัดและครอบครัวติดต่อพบปะกับบุคคลในชุมชน โดยมีมาตรการติดตามและควบคุมการเดินทาง เช่น รายงานตัวด้วย QR Code และมีรถรับส่งระหว่างที่พักและเขตก่อสร้าง มีข้าวและน้ำแจกเพียงพอกลับไปให้ครอบครัวในที่พักเพื่อไม่ให้แรงงานต้องแวะที่อื่น เงื่อนไขเหล่านี้ต้องปฏิบัติได้จริง โดยมีบทลงโทษต่อนายจ้างและลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อตกลง

การให้คนงานก่อสร้างที่แข็งแรงทำงานได้ตามปกติภายใต้เงื่อนไขข้างต้น นอกจากจะทำให้คนงานมีรายได้ ไม่ต้องพึ่งพาเงินชดเชย ยังจะช่วยให้ธุรกิจก่อสร้างและเศรษฐกิจดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก แม้รัฐและนายจ้างจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในด้านการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัย การแยกกักตัวและการรักษาเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งค่าเยียวยาชดเชยและค่าฉีดวัคซีนตามข้อเสนอข้อต่อไป แต่ประโยชน์สุทธิดังกล่าวย่อมสูงกว่าการปิดแคมป์ก่อสร้างแบบเหมาโหล รวมทั้งสามารถป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19 และลดการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ทบทวนการชดเชย แรงงานข้ามชาติที่นายจ้างนำส่งเงินสมทบประกันสังคมไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 50% เช่นเดียวกับแรงงานไทย แต่แรงงานข้ามชาติร้อยละ 70 ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือบางส่วนก็ยังสมทบไม่ถึงเกณฑ์จึงไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการชดเชย หรือแรงงานที่ได้รับเงินชดเชย 50% แรงงานเหล่านี้ล้วนแต่มีแรงจูงใจที่จะออกไปหางานทำที่อื่นเพราะจะมีรายได้จากการทำงานมากกว่าค่าชดเชยหากมีการปิดแคมป์และหยุดทำงาน ดังนั้น จึงควรให้แรงงานที่ไม่ติดเชื้อสามารถทำงานและรับค่าจ้างได้ โดยจัดการตามหลัก 4อ และ Bubble & Sealed ข้างต้น และให้เงินชดเชยกับแรงงานที่ตรวจพบเชื้อทุกคนไม่ว่าสัญชาติใดและมีสถานะใด เพื่อไม่ให้แรงงานออกจากพื้นที่ควบคุม โดยรัฐบาลอาจพิจารณาใช้อำนาจในการนำเงินจากกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 (3) หรือเพิ่มอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการรักษาการ พรก. การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว หรือแก้ไข พรก. ให้อำนาจในการนำเงินกองทุนฯ ดังกล่าวมาช่วยเยียวยาแรงงานข้ามชาติที่อยู่นอกระบบประกันสังคม

4. ผ่อนผันการจับกุม  แรงงานข้ามชาติจำนวนมากต้องเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19 ซึ่งส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งปิดตัว ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในพม่า และนโยบายปราบปรามแรงงานผิดกฎหมายในมาเลเซีย ทำให้แรงงานบางส่วนไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศไทย หลายคนต้องเปลี่ยนนายจ้าง กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หลุดออกจากระบบ หมดสิทธิประกันสังคมและประกันสุขภาพ ทั้งนี้ เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิดในคนกลุ่มนี้ ภาครัฐควรผ่อนผันเรื่องการจับกุม โดยที่ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้าสู่ระบบพร้อมการตรวจโรค ซื้อประกันสุขภาพ และทำใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ มาตรการผ่อนผันและเปิดโอกาสให้เข้าสู่ระบบต้องทำด้วยความรัดกุม ไม่ให้นำไปสู่การเกิด
วัฏจักรการลักลอบเข้าเมือง-จับกุม-ผ่อนผัน แบบเป็นวงจรไม่สิ้นสุด ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนเรื่องการนำเข้าแรงงานที่สะดวกและไม่เกิดค่าใช้จ่ายนอกระบบที่สูงมากแบบทุกวันนี้ โดยการปรับกฎเกณฑ์ในการอนุญาตนำเข้าแรงงานข้ามชาติ  ควบคู่กับการเอาจริงกับการป้องกันการลักลอบเข้าเมือง ซึ่งจะนำเสนอในมาตรการระยะยาวต่อไป

5. การสื่อสารทำความเข้าใจกับแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัจจุบันแรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมองว่าต้องการจับกุมหรือแสวงหาประโยชน์จากพวกเขา ภาครัฐจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการสื่อสาร ทั้งในแง่ภาษาที่เป็นมิตรและเข้าใจง่าย และการกระจายข่าวให้ทั่วถึงโดยการใช้ช่องทางการติดต่อสื่อสารของแรงงานข้ามชาติและองค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้เข้าใจตรงกัน

6. วัคซีนสำหรับทุกคน เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการฉีดวัคซีนในระดับให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยส่วนมากเป็นแรงงานที่ใช้แรงงานและอยู่ในงานที่มักต้องสัมผัสกับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่สามารถ Work From Home ได้ การฉีดวัคซีนเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันหมู่จึงจำเป็นต้องรวมแรงงานข้ามชาติเช่นกัน ทั้งนี้ อาจพิจารณาให้วัคซีนตามประเภทงานที่มีความเสี่ยงมากก่อนประเภทอื่น เช่น แรงงานข้ามชาติที่ทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ และครูหรือผู้ดูแลเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ควรได้รับการจัดสรรวัคซีนดังเช่นแรงงานไทย ซึ่งรัฐบาลอาจเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดสรรวัคซีน และร่วมแบกรับค่าใช้จ่ายด้านวัคซีนส่วนหนึ่งกับผู้ประกอบการ ซึ่งหลายคนน่าจะพร้อมออกค่าวัคซีนเพื่อให้กิจการกลับมาดำเนินตามปกติได้เร็วที่สุด

นอกจากข้อเสนอมาตรการในระยะสั้นดังที่กล่าวมาข้างต้น คณะผู้เขียนยังมีข้อเสนอมาตรการระยะยาวเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ การลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและออกใบอนุญาตทำงาน การถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเชื่อมต่อกับองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติ และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานและการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับ ซึ่งจะนำเสนอรายละเอียดในโอกาสถัดไป

โดย บุญวรา สุมะโน  นิพนธ์ พัวพงศกร  อุไรรัตน์ จันทรศิริ  ชวัลรัตน์ บูรณะกิจ