Saturday, November 23, 2024
Latest:
Construction

“คมนาคม” พร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้รอยต่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนา Seminar 2022 By Transport Journal พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “THAILAND SEAMLESS : MOVING FORWARD & GO GREEN” มิติใหม่ “คมนาคม” ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้รอยต่อ เพื่อจะได้รับทราบแผนการลงทุนในระบบขนส่งคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศและระบบรางของกระทรวงคมนาคม ในอนาคตทั้งแผนระยะกลางและระยะยาว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยทั้งในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

แผนลงทุนระบบขนส่งคมนาคมทั้งระยะกลางและระยะยาว มุ่งพัฒนาระบบคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากนโยบายภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยทั้งในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้มีแผนที่จะลงทุนในอนาคตทั้งแผนระยะกลางและระยะยาว ในระบบขนส่งคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศและระบบราง ภายใต้รูปแบบการพัฒนาระบบคมนาคมที่คำนึงและเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมตามกรอบกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26)  ที่ประเทศไทยมีเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2608 

ด้วยเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงฯ จึงได้มุ่งมั่นพัฒนาระบบทางถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเร่งรัดการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เพื่อให้เป็นรูปแบบการเดินทางหลักสำหรับการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการขนส่งทางน้ำ และการขยายท่าอากาศยานให้รองรับ การเดินทางทางอากาศได้มากขึ้น โดยกระทรวงฯ ได้วางกรอบแนวทางการพัฒนาระบบการคมนาคมของไทยไปสู่อนาคต ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเดินทางในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

“ตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาในช่วงวิกฤต COVID-19 ถือเป็นความยากลำบากในการเดินทางแต่เป็นข้อดีในการที่จะได้ทำการก่อสร้างระบบขนส่งในประเทศตามแผนนโยบายของรัฐบาล และเมื่อวิกฤต COVID-19 คลี่คลายลง ประเทศไทยมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบที่ทางกระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ก็สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาแล้วในขณะนี้ประมาณ 12 ล้านคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”ศักดิ์สยาม กล่าว

เร่งสร้างวงแหวนรอบที่สามรอบกรุงเทพฯ แก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเร่งด่วน

สำหรับโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมมีดังนี้ 1.การพัฒนาระบบขนส่งทางบก ในส่วนการพัฒนาระบบขนส่งทางบก ได้ดำเนินการสร้างถนนและระบบรางไปพร้อมๆกัน และในบางเส้นทางมีการก่อสร้างที่เชื่อมต่อกัน ถึงแม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาจะมีข้อจำกัดเรื่องการก่อสร้างถนนและระบบรางมากมาย โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ แต่ในยุคนี้มีการวางแผนการสร้างระบบรางรถไฟกับถนนมอเตอร์เวย์สร้าง เพื่อตอบโจทย์บูรณาการร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการวาง 10 เส้นทางในประเทศไทย ระยะทางประมาณ 7,003 กิโลเมตรจากเหนือลงใต้ 3 เส้นทาง จากตะวันตกไปตะวันออก 6 เส้นทางและรอบกรุงเทพมหานครที่เป็นวงแหวนรอบที่สามอีก 1 เส้นทาง ซึ่งเป็นแผนที่ทางกระทรวงคมนาคมวางไว้

ทั้งนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้นำเงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาศึกษาเส้นทางในโครงการเหล่านี้อยู่ในขณะนี้ มีการพิจารณาความสำคัญว่าสายใดจะทำการก่อสร้างก่อนและหลัก ประกอบด้วย สายแรกที่ได้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างก่อนคือ วงแหวนรอบที่สาม รอบกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาหารจรจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน ส่วนอีก 2 เส้นทางที่คิดว่ามีความจำเป็นต้องทำ คือเส้นทางชุมพร-ระนอง สอดคล้องกับโครงการเมกกะโปรเจกต์ Landbridge ชุมพร-ระนอง ซึ่งโครงการนี้จะมีการที่จะช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการแก้ไข ไม่ใช่แค่การได้เปรียบแค่เรื่องการเดินทางทางน้ำเท่านั้น ในฝั่งทางชายฝั่งภาคตะวันตกของประเทศไทยที่จะขนส่งสินค้าและรับคนเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศทางแอฟริกา ยุโรป และไปทางตะวันออก ได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน เหล่านี้จะช่วยลดเวลาการเดินทางได้ไม่น้อยกว่า 4 วัน ต้นทุนการเดินทางลดลงในสถานการณ์ปัจจุบันในการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ประเทศมาเลเซียและประเทศไทย

“โชคดีที่ประเทศเพื่อนบ้านได้พัฒนาโลจิสติกส์ด้วยเช่นกัน ทำให้การเดินทางน้ำเอื้อต่อประเทศไทยมากขึ้น และเมื่อการเดินทางลดลงก็จะทำให้การทำลายสิ่งแวดล้อมในการเดินทางลดลงด้วย พลังงานที่ใช้ในการเดินทางลดลง เรือที่เคยขนส่งสินค้าผู้โดยสารไม่ต้องใช้พลังงาน ลดการใช้การเดินทางเหลือเพียง 90 กิโลเมตร จะสร้างการลดปริมาณคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 2 ล้านล้านตัน” ศักดิ์สยาม กล่าว

เตรียมสร้างโครงการชุมพร-ระนอง และเส้นทางเชื่อมต่อนครราชสีมา-อุบลราชธานี

ขณะนี้โครงการชุมพร-ระนองได้ทำการศึกษาเรียบร้อยแล้ว อาจจะล่าช้ากว่าการศึกษาไปบ้างตามที่วางแผนไว้ว่าจะแล้วเสร็จสำหรับการศึกษาในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ.2565 แล้วก็มีการศึกษาในท่าเรือตูอัส ที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อปรับแก้และทบทวนแผนการศึกษา การบริหารท่าเรือน้ำลึกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการบริหารที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ( AI)  เพียงอย่างเดียวหรือไม่นั้น จะต้องมีการศึกษาและทำแผนงานที่ได้รายงานรัฐบาล เพื่อจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้การดำเนินให้ถูกต้อง โปร่งใส และยึดตามหลักธรรมาภิบาล

สำหรับสายที่สาม การดำเนินการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อนครราชสีมา-อุบลราชธานี ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการก่อสร้างทำมอเตอร์เวย์บางปะอิน -นครราชสีมา ทางรถไฟทางคู่ความเร็วสูงไทย-จีน รอเอาไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนแล้วเสร็จจะดำเนินการก่อสร้างต่อไปทาง ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการของ สปป.ลาว ที่เรียกว่าโครงการจีน-สปป.ลาว สำหรับเหตุผลที่กระทรวงฯ ดำเนินการก่อสร้างไปจังหวัดอุบลราชธานีนั้น เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชา เพื่อต่อยอดเติมเต็มต่อยอดโครงการที่รัฐบาลในอดีตทำมาเพื่อเป็นการเชื่อมต่อและเป็นศูนย์กลางในเรื่องระบบรางและการเดินทางบก สามารถที่จะเติมเต็มได้

ปิ๊งไอเดียทำให้ถนน เลนมีความปลอดภัย

ศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงฯจะทำให้การเดินทางทางถนนจำกัดความเร็วที่ 120 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ซึ่งขณะนี้การเดินทางทางถนน ที่กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดูแลมีประมาณ 200,000 กิโลเมตร แต่ทั้งประเทศมีประมาณ700,000 กิโลเมตร อีก 500,000 กิโลเมตร เป็นส่วนภาคเอกชนดูแล ซึ่งต้องดูมาตรฐานในการก่อสร้างและการดำเนินการ โดยโครงการของ ทล. จะเป็นการเชื่อมเส้นทางการเดินทางหลัก ส่วนทช. จะดูเส้นทางที่เป็นถนนรองลงมา สำหรับโครงข่ายที่เป็น 4 เลน ทั้งในส่วนของ ทล. และ ทช. มีประมาณ 12,000 กิโลเมตร แต่เมื่อดูถนนแล้วไปดูสถิติอุบัติเหตุแล้วพบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก จึงได้ไปดูเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย และให้ไปดูรถวิ่งแล้วไม่ทำให้เกิดการประสานงากัน ทำให้พบเหตุอุบัติเหตุจำนวนมาก จึงมีแนวคิดทำให้ถนน 4 เลนมีความปลอดภัย เมื่อถนนมีความปลอดภัย การเกิดอุบัติเหตุก็จะลดลง จึงได้มีการคิดค้นงานวิจัยทำถนนปลอดภัย นำยางพารามาผสมในการปูลาดถนน รวมทั้งสร้างเป็นแบริเออร์กั้นถนน เป็นต้น

นอกจากนี้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังเส้นทางภาคใต้ กระทรวงคมนาคมได้มีการพัฒนาโดยบูรณาการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับกรมทางหลวงในการที่จะทำการก่อสร้างเส้นทาง พระราม 3 ดาวคะนองและวงแหวนรอบนอก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร วงเงิน 31,244 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อโครงการดังกล่าว แล้วเสร็จจะช่วย แก้ปัญหาโครงการพระราม 2 ซึ่งมีคนตั้งสมญานามว่าเป็นถนน ตั้ง 7 ชั่วอายุคน ก็แก้กันจนได้

ขณะนี้ลักษณะกายภาพก็ต้องมี 14 เลน ข้างบนมี 6 เลน รวมเป็น 20 เลน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2568 และมีการต่อขยายทางพิเศษระหว่างเมือง สาย บางขุนเทียน-เอกชน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 27.4 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,206 ล้านบาท คาดว่าปี พ.ศ.2568 จะเปิดให้ใช้บริการได้ แต่โครงการนี้มีการก่อสร้างระยะทางไปถึงแยกวังมะนาวกว่า 90 กิโลเมตรแล้ว

คาดสะพานไทยมิตรภาพแห่งที่ 5 จังหวัดบึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซแล้วเสร็จ เดินทางไปเมืองดานัง เวียดนามสะดวกยิ่งขึ้น

ศักดิ์สยาม กล่าวว่าในขณะที่มีการดำเนินการก่อสร้างถนนภายในประเทศนั้น ได้ก่อสร้างถนนระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน ขณะนี้กำลังเร่งการก่อสร้างสะพานไทยมิตรภาพแห่งที่ 5 จังหวัดบึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ จังหวัดบึงกาฬ ระยะทาง 13 กิโลเมตร ซึ่งวางศิลาฤกษ์ไป เมื่อปลายปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา และเมื่อไปตรวจสอบเส้นทางการก่อสร้างก็พบว่าดำเนินการก่อสร้างเร็วกว่าแผน คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้การเดินไปเมืองดานัง ประเทศเวียดนามได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เส้นทางก่อสร้างนี้เมื่อแล้วเสร็จก็จำสามารถไปเชื่อมต่อกับเส้นทางบึงกาฬ จากบึงกาฬมาอุดรธานี อุดรธานีมาขอนแก่น นครราชสีมาแล้วเชื่อมต่อมายังท่าเรือแหลมฉบัง ชลบุรีได้ นอกจากนี้ยังมีเส้นจากบึงกาฬ เชื่อมต่อมายังจังหวัดสุรินทร์ที่ช่องจอม เพื่อเชื่อมไปยังประเทศกัมพูชา ซึ่งคาดว่าปี พ.ศ.2567 น่าจะได้เปิดให้บริการได้

สำหรับการก่อสร้างเชื่อมต่อ ศูนย์ซ่อมท่าอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างไม่ใช่เฉพาะเรื่องรางไปเรื่องถนน เรื่องท่าอากาศยานก็จะเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเมื่อใดที่มีโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยความสะดวกนักลงทุนก็จะเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้น อาจจะมีไปทำนิคมอุตสาหกรรม และอื่นๆในอนาคตเพิ่มเติมเมื่อมีความพร้อม มีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในเส้นทางโลจิสติกส์มากขึ้น

โครงข่ายมอเตอร์เวย์ในอนาคต เส้นทาง

กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงข่ายระหว่างเมือง 6 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทาง M8 นครปฐมปากท่อ ส่วนที่จะเข้าเส้นทางจังหวัดเพชรบุรียังไม่อยากให้กระทบกับการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน จึงขอทำการศึกษาและสำรวจเส้นทางอีกสักระยะ แล้วค่อยทำโครงการออกมา เพื่อให้พี่น้องประชาชนพร้อม 2.เส้นทาง M5 ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์จะขยายไปชน M6  ขณะนี้ อยู่ในระหว่างเสนอคณะกรรมการ PPP ทำการพิจารณา 3.วงแหวนรอบ ด้านตะวันออก ทล.305 ถึงทางพิเศษฉลองรัช อีก3 เส้นทาง ประกอบด้วยเส้นทางภาคตะวันออก -EEC เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือขยายไปประเทศเพื่อนบ้าน และเส้นทางภาคเหนือ อยู่ในระหว่างรอครม.อนุมัติ

“มีหลายคนถามว่ารัฐบาลจะหมดอายุแล้วทำไมมาเสนออีก ที่เสนอนั้นเพราะเป็นตามกรอบนโยบายของยุทธศาสตร์ชาติ คณะทำงานใหม่เข้ามาจะได้สานต่อได้ทันทีโครงการใหญ่ๆของกระทรวงคมนาคม เช่น โครงการบางซื้อเริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เริ่มเปิดปี พ.ศ.2564 เป็นระยะเวลา 14 ปี เป็นเรื่องการพัฒนาโลจิสติกส์ ไม่ว่ากันแต่การพิจารณาการพัฒนา จะให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ” ศักดิ์สยาม กล่าว

ตั้งเป้าให้บริการ  EV BUS ครอบคลุมทุกเส้นทาง พร้อมวางแผนฟื้นฟูรถขสมก. กว่า 2,000 คัน มาเป็นEV BUS

ขณะนี้กระทรวงฯ มีเเผนดำเนินการในการเชื่อมโยงโครงข่าย ในระดับภูมิภาคหลายแห่งในระดับจังหวัด ซึ่งมีความร่วมมือกัน 3 หน่วยงาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เช่น สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ที่จังหวัดสงขลา ระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นสะพานเชื่อมแห่งที่ 3 จากจังหวัดสงขลามายังจังหวัดพัทลุงที่เกาะใหญ่ จะเปิดใช้ประมาณ ปี พ.ศ.2569 ลดการเดินทางจากเดิมที่ต้องใช้ระยะทางถึง 90 กิโลเมตร และสะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ช่วยการเดินทางให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมในอนาคต กระทรวงฯได้แก้ปัญหา เช่น การนำถประจำทางไฟฟ้า EV BUS มาใช้บริการแล้วประมาณ 318 คัน จากการที่ดำเนินการประกอบและทำให้ถูกต้องตามระเบียบของ ขสมก. 1,200 คัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้นำมาใช้งานจริงแล้วในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา

“ เป้าหมายทางกระทรวงคมนาคมอยากแก้ปัญหาให้วิ่งได้ให้มากที่สุด เพื่อรองรับประชาชนให้ได้มากกว่า 3,000,000 คนต่อวัน เพื่อลดการเกิดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงน้ำมันและลดการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก เพราะรถ ขสมก. เก่ามากแล้วที่ใช้อยู่ เพราะถ้ารถร่วมบริการที่เข้ามารับสิทธิสัมปทานจากทาง ขสมก. ทำได้ ทาง ขสมก. ก็ต้องทำได้ เรื่อง EV BUS เป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการทำงานให้ละเอียดรอบคอบ ส่วนในแง่ที่ไม่ดีคือ เสียโอกาสในการดำเนินการต้องรอการทำประชาพิจารณ์และอื่นๆประกอบในการดำเนินโครงการแต่ละโครงการ สิ่งเหล่านี้ต้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมายต่างๆ ซึ่งในปี พ.ศ.2566 นี้ตั้งเป้าจะนำรถ EV BUS มาให้บริการให้ครอบคลุมให้ได้ทุกๆเส้นทาง และกำลังมีแผนการปรับดำเนินการฟื้นฟูรถ ขสมก. ทีมีประมาณกว่า 2,000 คัน มาเป็นรถ EV BUS” ศักดิ์สยาม กล่าว

ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 11 สาย ระยะทางรวม 212 กิโลเมตร

กระทรวงฯ มีนโยบายในการมุ่งส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางราง ทั้งการเดินทางในเมือง การเดินทางระหว่างเมือง และการขนส่งสินค้า โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้ว จำนวน 11 สาย ระยะทางรวม 212 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 4 สาย ระยะทางรวม 114 กิโลเมตร อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน และจะเปิดประมูลอีก 4 สาย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2574 ในอนาคตมีแผนดำเนินการเพิ่มเติมอีก 8 สาย อาทิ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง การพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ และช่วงนครปฐม – ชุมพร รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ช่วงบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม การพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

(ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แก้ไขปัญหาจราจร และปัญหามลพิษ

พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางน้ำ ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางน้ำศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้เร่งผลักดันการพัฒนาท่าเรือ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งทางน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรืออัตโนมัติ (Automated Container Terminal) การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ โครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญ (Marina) ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย และโครงการเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งกระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้ผลักดันการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบัน มีเรือโดยสารไฟฟ้าที่ให้บริการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 51 ลำ และจะเพิ่มเป็น 69 ลำ ในปี พ.ศ. 2566

เพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางอากาศ รองรับปริมาณการเดินทางทางอากาศ ให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ในส่วนของการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางอากาศ กระทรวงฯ มีแผนในการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางอากาศให้มากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางทางอากาศ และเพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าสู่ประเทศไทยว่าจะมีสูงถึง 200 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2574 กระทรวงฯ จึงมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยาน ดังนี้ 1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โดยเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี 2.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15.9 ล้านคนต่อปี 3. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2570 และ 4. การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เพื่อขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงฯ มีวงเงินลงทุนทั้งในและนอกงบประมาณภาคคมนาคม จำนวน 124,839 ล้านบาท สามารถจำแนกตามแหล่งเงินได้เป็น เงินงบประมาณ 35,396 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ เช่น รายได้รัฐวิสาหกิจ เงินกู้ และ PPP จำนวน 89,443 ล้านบาท

จากแผนการลงทุนตามแผนปี พ.ศ. 2566 จะทำให้เกิดการจ้างงาน 154,000 ตำแหน่ง และมีการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 2.35% GDP หรือ 4 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มศักยภาพให้เกิดการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน ยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไป