ทล.ออกแบบทางหลวงแนวใหม่ เชื่อมจังหวัดกระบี่ – พังงา ลดระยะเวลาการเดินทาง – หนุน เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวพื้นที่ภาคใต้
กรมทางหลวง (ทล.) กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบโครงการก่อสร้างทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร ทางหลวงแนวใหม่ ระหว่างอำเภอปลายพระเยา จังหวัดกระบี่ – อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เนื่องจากปัจจุบันการใช้เส้นทางนี้ยังขาดโครงข่ายทางหลวงสายหลักที่เชื่อมต่อในแนวตะวันออก – ตะวันตก ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าไม่ได้รับความสะดวก ต้องเดินทางอ้อมเป็นระยะไกล อีกทั้งโครงข่ายปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นทางหลวงสายรองขนาด 2 ช่องจราจรผ่านพื้นที่เนินและพื้นที่เขา ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง . ทล. ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงออกแบบโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 44 บริเวณ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ต่อไปยัง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 4 รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายที่เชื่อมโยงกับทางหลวงหมายเลข 44 สายกระบี่ – ขนอม ซึ่งจะเป็นเส้นทางลัดในการเดินทางระหว่างจังหวัดพังงาและกระบี่ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ โดยครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ อำเภอปลายพระยาและอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และอำเภอทับปุด จังหวัดพังงา
จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บนทางหลวงหมายเลข 44 ประมาณ กม. ที่ 29+738 (ถนนเซาท์เทิร์น) บริเวณบ้านโคกเจียก อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ แนวเส้นทางจะวางแนวออกจากถนนเซาท์เทิร์นมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ อ้อมลงมาทางด้านใต้ของเขาบางหมวย ตัดผ่านพื้นที่สวนปาล์มและทางหลวงหมายเลข 4035 (ถนนอ่าวลึก – พระแสง) ที่บริเวณบ้านปากน้ำตัดผ่านถนนทางเข้าอ่างเก็บน้ำคลองหยาบริเวณร่องเขาเกราะ ผ่านพื้นที่บริเวณบ้านปากหยา บ้านศรีพระยา และบ้านควรเศียร ตัดผ่านทางหลวงชนบทหมายเลข กบ.1015 บริเวณบ้านช่องแบก ตัดอ้อมบริเวณด้านทิศใต้ของวัดเขาหัวสิงห์ ผ่านพื้นที่ตำบลนาเหนือบริเวณบ้านบางไทร และตำบลเขาใหญ่ บริเวณบ้านทุ่งสูง ตัดอ้อมไปทางด้านเหนือของวัดนาเหนือ ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 4040 (ถนนนาเหนือ – ปากลาว) ไปบรรจบกับแนวเส้นทางของโครงการทางเลี่ยงเมืองทับปุดที่เป็นของโครงการในอนาคตของ ทล. ที่มีการสำรวจและออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว บริเวณบ้านไสเสียด มีระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้างประมาณ 1,900 ล้านบาท โครงการได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้วเมื่อปีพ.ศ. 2563 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีพ.ศ. 2565 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2568
สำหรับรูปแบบถนนเป็นทางขนาด 4 ช่องจราจรไป-กลับ กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) มีเขตทางโดยทั่วไปกว้าง 60 เมตร ในบริเวณจุดกลับรถใต้สะพานมีทางคู่ขนานกำหนดเขตทางเป็น 90 เมตร ส่วนบริเวณจุดตัดทางแยกจะมีเขตทางกว้างกว่าช่วงปกติโดยเป็นไปตามลักษณะทางเรขาคณิตและระยะการมองเห็นที่ปลอดภัยบริเวณทางแยก ซึ่งในการออกแบบได้พิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศที่แนวเส้นทางตัดผ่าน สำหรับการออกแบบจุดตัดทางแยกตามแนวเส้นทางประกอบด้วย จุดตัดถนนโครงการกับทางหลวงหมายเลข 44 ที่ กม. 0+000 (จุดเริ่มต้นโครงการ) ทางหลวงหมายเลข 4035 ที่ กม. 5+490 ทางหลวงหมายเลข 4 ที่ กม. 22+233 ทางหลวงหมายเลข 4040 (เดิม) ที่ กม. 25+561
เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่ง อีกทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของพื้นที่และของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย