Thursday, November 21, 2024
Latest:
Construction

ทล. ขยาย 6 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 36 สายกระทิงลาย – ระยอง แล้วเสร็จตลอดสาย เพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่งภาคตะวันออก

กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 36 สายกระทิงลาย – ระยอง เป็น 6 ช่องจราจร (ไป – กลับ) แล้วเสร็จตลอดสาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่งภาคตะวันออก

สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล. ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 36 สายกระทิงลาย – ระยอง เป็น 6 ช่องจราจร (ไป – กลับ) แล้วเสร็จตลอดสาย สอดรับนโยบายของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันออกหรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับนักลงทุน และส่งเสริมให้ภูมิภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียน

สำหรับทางหลวงหมายเลข 36 กระทิงลาย – ระยอง เริ่มต้นจากจุดตัดถนนสุขุมวิทบนทางหลวงหมายเลข 3 บริเวณแยกกระทิงลาย ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี สิ้นสุดที่บริเวณจุดตัดถนนสุขุมวิทบนทางหลวงหมายเลข 3 บริเวณแยก IRPC ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร ปัจจุบันประชาชนนิยมใช้เป็นเส้นทางสัญจรในพื้นที่เชื่อมโยงการคมนาคมและขนส่งระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออก และเป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบังสู่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออกในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง โดย ทล. เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงมอบหมายสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างขยายช่วงสุดท้าย คือ ระหว่าง กม. ที่ 33+000 – 57+021 รวมระยะทาง 24 กิโลเมตร จากเดิมเป็นมาตรฐานชั้นทางพิเศษ 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ) เพิ่มเป็นมาตรฐานชั้นทางพิเศษ 6 ช่องจราจร (ไป – กลับ) ผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร และปรับปรุงเกาะกลาง งบประมาณ 2,143,500,129 บาท นอกจากนี้ ทล. ยังมีโครงการก่อสร้างทางต่างระดับปรับปรุงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 36 กับทางหลวงหมายเลข 331 บริเวณแยกเขาไม้แก้ว งบประมาณ 591,000,000 บาท เพื่อรองรับการสัญจรของผู้ใช้ทางในบริเวณทางแยกดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2566

ทั้งนี้เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จตลอดสาย สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่สูงขึ้น ประชาชนสามารถใช้เส้นทางขนส่งสินค้าและการเดินทางสู่จังหวัดระยองได้สะดวกรวดเร็ว จากการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งเชื่อมกับพื้นที่โดยรอบสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญรวมถึงขยายการรองรับการเติบโตของการขนส่งทุกรูปแบบ