Wednesday, December 4, 2024
Latest:
Construction

ทล.ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 33 บ้านภาชี – บ้านหินกอง จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วเสร็จ รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

กรมทางหลวง (ทล.) โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 33 สายอำเภอบางปะหัน – อำเภอนครหลวง – อำเภอภาชี – บ้านหินกอง ตอนบ้านภาชี – บ้านหินกอง แล้วเสร็จ ระยะทาง 26.72 กิโลเมตร ในพื้นที่อำเภอนครหลวงและภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ รวมทั้งพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 33 มีความสำคัญทางด้านการคมนาคมและทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 340 จังหวัดสุพรรณบุรี ไปสิ้นสุดที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว (เขตแดนไทย/กัมพูชา) รวมระยะทาง 299 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ในช่วงจังหวัดสุพรรณบุรี – ป่าโมก – ถนนสายเอเชียเป็นทาง 4 ช่องจราจร มีเพียงช่วงเขตบางปะอิน – นครหลวง – ภาชี – หินกอง ที่เป็นทาง 2 ช่องจราจร ซึ่งไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างสะดวก และปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทาง ทล. จึงได้ศึกษาถึงความเหมาะสมและความจำเป็นดังกล่าวได้พิจารณาปรับปรุง และกำหนดมาตรฐานการออกแบบชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง

โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 33 สายอำเภอบางปะหัน – อำเภอนครหลวง – อำเภอภาชี – บ้านหินกอง ตอนบ้านภาชี – บ.หินกอง อยู่ในพื้นที่อำเภอนครหลวงและภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี เดิมทางสายนี้เป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ไป – กลับ แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้ทำการขยายช่องจราจร โดยก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร ระหว่าง กม. ที่ 54+273 – 81+000 ระยะทาง 26.72 กิโลเมตร ขยายคันทางจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร (ไป – กลับ ข้างละ 2 ช่องจราจร) กว้างช่องละ 3.5 เมตร ผิวทางและไหล่ทางเป็นคอนกรีตไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณจราจร ไฟกะพริบบนทางหลวงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด งบประมาณ 1,257,757,580 บาท

ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะเป็นทางหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย เพื่อให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และมีความปลอดภัยในการใช้ทางมากยิ่งขึ้น ช่วยส่งเสริมศักยภาพการกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน