ทล. เร่งขยายถนนสาย 202 ช่วง จ.ยโสธร – บ.น้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ คืบหน้า 95 % คาดแล้วเสร็จ เม.ย.นี้
กรมทางหลวง (ทล.) เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 202 สาย ยโสธร – อำนาจเจริญ ตอน ยโสธร – บ.น้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ ระยะทาง 32.79 กิโลเมตรให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2565 รองรับการเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ตามแนวคิด การเป็นฐานการผลิตของประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นประตูเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล.โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 2 จึงเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าวระหว่าง กม. 267+630 – กม.300+423 ระยะทางรวม 32.78 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ในพื้นที่ ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร สิ้นสุดที่ บ.น้ำปลีก ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 ระหว่าง กม.267+630-กม.283+980 ระยะทาง 16.35 กิโลเมตร และตอนที่ 2 ระหว่าง กม.283+980-กม.300+423 ระยะทางรวม 16.43 กิโลเมตร โดยขยายจาก 2 ช่องจราจรเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร) คันทางเดิม 10 เมตร ขยายเป็น 24.10 เมตร ผิวทางเป็นแอสฟัลต์คอนกรีตช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 2.50 เมตร มีเกาะกลางแบบเป็นราวหรือกําแพงกั้น (Barrier Median) รวมงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลองอีก 9 แห่ง และก่อสร้างศาลาทางหลวงในบริเวณสองข้างทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนจำนวน 45 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง งบประมาณรวม 1,271 ล้านบาท
ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 95 % คาดว่าจะก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือน เมษายน ปี พ.ศ.2565 โดยกรมทางหลวงเปิดให้บริการบางส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไปแล้วระยะทาง 16.35 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ทางหลวงหมายเลข 202 สาย ชัยภูมิ–เขมราฐ เป็นทางหลวงแผ่นดินแนวตะวันตก-ตะวันออก มีระยะทางตลอดทั้งสาย 392.32 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสายสำคัญผ่านจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ติดกับ สปป.ลาว และประเทศกัมพูชา มีจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนรวม 9 แห่ง ส่งผลให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอินโดจีน และเมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะช่วยยกระดับความปลอดภัยในการเดินทาง แก้ไขปัญหาการจราจร เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่าง สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สนับสนุนการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน ช่วยกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคตามแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน