Sunday, November 24, 2024
Latest:
Construction

ก.คมนาคม เร่งศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) พร้อมคัดเลือกเส้นทางนำร่อง 10 เส้นทาง

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่าย MR-MAP โดย ทล. ได้ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 จะสิ้นสุดสัญญาจ้างในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อจัดทำโครงข่ายและคัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โดยผลการคัดเลือกเส้นทางนำร่องจาก 10 เส้นทาง ประกอบด้วย

  1. เส้นทาง MR1 ตาก (ด่านแม่สอด) – นครพนม (ด่านนครพนม) มี 5 ช่วงสายทาง ดังนี้ 1) ด่านแม่สอด – พิษณุโลก 2) พิษณุโลก – เพชรบูรณ์ (หล่มสัก) 3) เพชรบูรณ์ (หล่มสัก) – ขอนแก่น 4) ขอนแก่น – มุกดาหาร และ 5) มุกดาหาร – นครพนม
  2. เส้นทาง MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) มี 3 ช่วงสายทาง ดังนี้ 1) ด่านเจดีย์สามองค์ – นครสวรรค์ 2) นครสวรรค์ – นครราชสีมา และ 3) นครราชสีมา – อุบลราชธานี
  3. เส้นทาง MR3 กาญจนบุรี (ด่านน้ำพุร้อน) – สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) มี 3 ช่วงสายทาง ดังนี้ 1) ด่านน้ำพุร้อน – กาญจนบุรี 2) กาญจนาภิเษก – สระแก้ว และ 3) สระแก้ว – อรัญประเทศ
  4. เส้นทาง MR4 ชลบุรี ตราด (ด่านคลองใหญ่) มี 2 ช่วงสายทาง ดังนี้ 1) ชลบุรี – ระยอง และ 2) ระยอง – ตราด
  5. เส้นทาง MR5 ชุมพร – ระนอง
  6. เส้นทาง MR6 ภูเก็ต – สุราษฎร์ธานี
  7. เส้นทาง MR7 เชียงราย (ด่านเชียงของ) – สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) มี 13 ช่วงสายทาง ประกอบ ด้วย 1.ด่านเชียงของ – เชียงราย 2. เชียงราย – เชียงใหม่ 3. เชียงใหม่ – พิษณุโลก 4. พิษณุโลก – นครสวรรค์ 5. นครสวรรค์ – สระบุรี 6. นครสวรรค์ – สุพรรณบุรี 7. สระบุรี – นครปฐม 8. นครปฐม – ชะอำ 9. ชะอำ – ชุมพร 10. ชุมพร – สุราษฎร์ธานี 11. สุราษฎร์ธานี – สงขลา 12. สงขลา – ด่านสะเดา และ 13. สงขลา – นราธิวาส
  8. เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – แหลมฉบัง มี 3 ช่วงสายทาง ดังนี้ 1) ขอนแก่น – หนองคาย 2) นครราชสีมา – ขอนแก่น และ 3) นครราชสีมา – แหลมฉบัง
  9. เส้นทาง MR9 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ) – สุรินทร์ (ด่านช่องจอม)
  10. เส้นทาง MR10 สระบุรี – สมุทรปราการ – สมุทรสาคร

นอกจากนี้ได้พิจารณา 3 เส้นทางที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย 1. เส้นทาง MR5 ชุมพร ระนอง ระยะทาง 108 กม. ซึ่งมีทางเลือกในการพัฒนาโครงข่าย จำนวน 3 ทางเลือก โดยการศึกษาจะสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาความเหมาะสมโครงการ Land bridge ของกระทรวงคมนาคม 2. เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา แหลมฉบั ระยะทาง 288 กม. โดยเบื้องต้น ทล. คาดว่าการพัฒนาจะประกอบด้วย ด่านเข้า – ออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 11 แห่ง อุโมงค์ 3 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง และ3. เส้นทาง MR9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กม. โดยเบื้องต้น ทล. คาดว่าการพัฒนาจะประกอบด้วย ด่านเข้า – ออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 9 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง

สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป ทล. จะได้เร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงฯ โดยจะได้ขยายงานศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น ให้ครอบคลุมโครงข่าย MR-MAP ทั้งหมดด้วย ทั้งนี้ ได้กำชับให้ ทล. เร่งจัดทำรายละเอียดผลการศึกษาให้มีความชัดเจน โดยให้นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใน 1 เดือน และจะมีการเชิญประชุมเพื่อเสนอแนวคิด การออกแบบ และจัดทำร่างแผน MR-MAP ก่อนจะรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2564 ต่อไป