“ศ.ดร. อมร พิมานมาศ” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย สมัยที่ 2 “ชูนิยามสำคัญของ BIM ใน 7 มิติ”
ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี BIM หรือ Building Information Modeling เข้ามาใช้ในวงการสถาปัตยกรรม วิศวกรรมและงานก่อสร้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซี่งจะเห็น Cost/Benefit ที่ชัดเจน เนื่องจาก BIM สร้างแบบจำลองเสมือนจริงของอาคารที่จะก่อสร้าง สามารถคำนวณการใช้วัสดุก่อสร้างและราคา รวมไปถึงการวางแผนการก่อสร้าง อีกทั้งยังมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน พอถึงอายุการใช้งานก็จะเตือนให้เปลี่ยนอุปกรณ์ ทำให้สามารถบริหารทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถด้าน BIM ชื่อของ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะผู้บุกเบิกและจัดตั้งสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM) อีกทั้งยังดำรงนายกสมาคม TBIM คนแรก และเมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.อมร ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (Thailand Structural Engineers Association : TSEA) สมัยที่ 2 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และได้รับการเลือกตั้งให้กรรมการสภาวิศวกรสมัยที่ 8 ด้วย
จัดประชุมวิชาการด้านวิศวกรรมโครงสร้างแห่งชาติ ครั้งที่ 1 คาดมีผู้ร่วมงาน 1,000 คน
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย สมัยที่ 2 กล่าวว่า สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ก่อตั้งมาแล้วประมาณ 3 ปี เพื่อเป็นที่รวมตัวกันของวิศวกรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ยกระดับวิศวกรไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 900 คน กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ และตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5,000 คน
สำหรับภารกิจสำคัญของ TSEA ในปีนี้ คือ การจัดประชุมวิชาการด้านวิศวกรรมโครงสร้างแห่งชาติ (National Structural Engineering Conference : NSEC) ครั้งที่ 1 ขึ้น ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 โดยการจัดงานประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีหัวข้อหลักที่น่าสนใจ คือ องค์ความรู้เรื่องการเสริมกำลังโครงสร้าง เนื่องจากปกติวิศวกรจะคุ้นเคยกับการออกแบบโครงสร้างใหม่ แต่ปัจจุบันมีอาคารเก่าเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องเรียนรู้การซ่อมแซมและเสริมโครงสร้างเพื่อบูรณะอาคารเก่าๆ เหล่านั้นด้วย ต่อมาเป็นเรื่องขององค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างเหล็ก ที่ผ่านมาจะเน้นเรื่องโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเท่านั้น และเรื่องที่ 3 คือวัสดุใหม่ๆ เช่น คอนกรีต และเหล็กเสริม ซึ่งมีกำลังสูงมากและช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งหลักการออกแบบและการคำนวณ 3D Printing
โดยรูปแบบการจัดงานอาจจะจัดในรูปแบบไฮบริด คือมีทั้ง On Site และแบบ Online คาดว่าทั้ง 2 ระบบจะมีผู้ร่วมงานประมาณ 1,000 คน ไฮไลท์ที่สำคัญคือ จะมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเป็น Keynote Speaker อาทิ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย และ ศ.ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ เป็นต้น
สมาคม TBIM มีผลงานด้าน BIM 3 เรื่องสำคัญ
สำหรับการทำงานด้าน BIM ศ.ดร.อมร เล่าว่า ได้เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยทำงานเป็นเลขาธิการสภาวิศวกร สมัยที่ 6 ซึ่งนอกจากจะมีการฟอร์มทีมจัดตั้งสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้ง สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association : TBIM) ในปลายปี พ.ศ.2562 เพื่อช่วยสร้างกรอบการทำงาน และมาตรฐาน BIM ในไทยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยศ.ดร. อมร สวมหมวก 2 ใบ ทั้งตำแหน่งนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทยคนแรก และนายกสมาคม TBIM คนแรกในเวลาเดียวกัน
ปัจจุบันสมาคม TBIM ได้ดำเนินงานด้าน BIM ไปแล้ว 3 เรื่องได้แก่ การจับมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และบริษัท SCG จัดทำมาตรฐาน BIM Objects ประเทศไทย เพื่อจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ BIM (Building Information Modeling) ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเป็นสากล ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีการนำมาใช้ในแล้วในช่วงเมษายน พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (สมอ.) เป็นหน่วยงานกำกับ Standard นับเป็นมาตรฐาน BIM ฉบับแรกๆที่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ
ที่ผ่านมา สมาคม TBIM ได้เซ็น MOU กับสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยและสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ถึง 11 เมษายน 2568 เพื่อร่วมจัดทำโครงการความร่วมมือเชิงวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้ด้าน BIM ได้รับการปูพื้นฐานไปสู่นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
และนอกจากนี้ สมาคม TBIM กำลังจะได้จัดให้มีการลงนามความร่วมมือกับ 6 ประเทศด้วยกัน อาทิ ประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม เพื่อให้เกิดความร่วมมือนานาชาติและขยายขอบเขตการทำงานร่วมกันทางด้าน BIM ระหว่างประเทศไทยต่างๆ
ทำความรู้จัก BIM ใน 7 มิติ
ศ.ดร.อมร อธิบายว่า BIM เป็นเรื่องของการเปลี่ยนความคิด (Mindset) เกี่ยวกับเรื่องแบบก่อสร้าง แต่เดิมเราเคยมียุคเปลี่ยนผ่านมาแล้ว จากการเขียนแบบด้วยมือหรือแบบพิมพ์เขียวเป็นการเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์หรือ Autocad แต่ก็เพียงเปลี่ยนมือเขียนแบบเท่านั้น แต่วิธีคิดยังคงเดิม ในขณะที่ BIM เปลี่ยนวิธีคิดอย่างสิ้นเชิง คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่า BIM เป็นเพียงการเขียนแบบ 3 มิติ แต่จริงๆ แล้วประโยชน์ของ BIM มีถึง 7 มิติ ซึ่งในอนาคตข้างหน้ามีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีมิติอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่าการเขียนแบบAuto CAD เป็นการเขียนแบบ 2 มิติ ส่วน BIM เป็นการเขียนแบบ 3 มิติ โดยมิติที่ 3 หมายถึงมิติทางรูปทรงของสิ่งของต่างๆ ที่มีขนาดกว้าง ยาว สูง ซึ่งถ้าเรามีแบบ 3 มิติ ก็จะเห็นภาพ (Visualization)ได้ สามารถที่จะทำเป็น 3D Model ที่ดูได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร สามารถเข้าไปดูในแต่ละห้องได้ มิติที่ 4 ในการสร้าง BIM Model เราจะทราบว่า objects ไหนมาก่อนหลัง เช่นจะต้องใส่ฐานรากก่อนเสา และใส่เสาตอม่อก่อนเสาชั้นถัดไป ซึ่งจะเห็นทันทีว่าชิ้นส่วนไหนมาก่อนมาหลัง และเมื่อมีโครงสร้างแล้ว ก็จะเป็นวัสดุทางสถาปัตยกรรมและวัสดุตกแต่ง ภายใจและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
“BIM ทำให้เห็นชัดเจนว่าอะไรมาก่อนหลัง ทำให้วางแผนขั้นตอนการก่อสร้างและการแบ่งงวดงานได้ด้วย” ศ.ดร.อมร กล่าว
มิติที่ 5 เมื่อเรามี Objects ต่างๆใน BIM Model เช่น หลอดไฟ LED 13 วัตต์ มีกี่หลอด หรือว่าคานที่ใส่เข้าไป สามารถที่จะคำนวณเป็นปริมาตรคอนกรีตได้เท่าใด เป็นต้น ซึ่งถ้ารู้ปริมาตรของวัสดุหรือชิ้นส่วนที่จะใช้ว่ามีทั้งหมดเท่าใด ก็จะสามารถคำนวณเป็นราคาได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของ BOQ (Bill of Quantities) คือ บัญชีรายการวัสดุและค่าแรงก่อสร้าง หมายความว่าเมื่อทำโมเดลเสร็จจะรู้ BOQ ทันที โดยไม่ต้องมานั่งทำ BOQ อีกในภายหลัง
มิติที่ 6 BIM ไม่ใช่แค่ Objects 3 มิติเท่านั้น แต่เป็น Objects 3 มิติ ที่มีข้อมูล (Data) ฝังอยู่ เช่น หลอดไฟมีค่าการใช้พลังงานไฟฟ้า ค่าความส่องสว่าง ก็สามารถที่จะนำไปวิเคราะห์การใช้พลังงาน และมิติที่ 7 คือ การบริหารทรัพย์สิน ( Assets Management) ในอาคาร ถ้ารู้ว่ามี Assets อะไรบ้าง เช่น มีหลอดไฟ มีแอร์ และมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอายุการใช้งาน พอถึงค่าอายุการใช้งานโปรแกรมก็จะเตือนให้เปลี่ยน ทำให้บริหารจัดการทรัพย์สินได้
“ตรงนี้เป็นข้อดีของ 7 มิติ ที่วิศวกรและสถาปนิกเห็นถึงประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของเจ้าของโครงการอีกด้วย ย่างน้อยที่สุดก็มิติที่ 3 ที่จะได้เห็นภาพ รู้ระยะเวลาการก่อสร้าง รู้ราคา และนำไปวิเคราะห์ และนำไปบริหารทรัพย์สินได้” ศ.ดร.อมร กล่าว
BIM เป็น Walk-through Model โปร่งใส ถอดแบบได้อย่างชัดเจน
ประโยชน์หลักๆ ของการใช้เทคโนโลยี BIM คือ สามารถตรวจพบปัญหาในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะไป ก่อสร้างหน้างาน ถ้าไปเจอปัญหาหน้างานแล้ว จะไม่ใช่แค่การแก้ไขที่แบบอย่างเดียว แต่จะทำให้งานล่าช้าและเป็นต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น แต่ BIM สามารถที่จะเข้าไปตรวจสอบได้ก่อนการก่อสร้าง เป็น Walk-through Model ที่จะเดินดูเข้าไปในอาคาร เพื่อดูว่าการก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญ BIM มีความโปร่งใส สามารถที่จะถอดแบบ คำนวณปริมาณวัสดุสิ่งของในแต่ละโครงการได้อย่างชัดเจน ซึ่งนับจากนี้ BIM จะเข้ามามีบทบาทในงานก่อสร้างในอนาคตมากขึ้น และหากผู้ประกอบการที่ไม่มีความรู้เรื่อง BIM ก็อาจจะพลาดโอกาสในการเข้าถึงการประมูลงานก่อสร้างต่างๆได้
โครงการขนาดใหญ่ใช้ BIM แบบครบวงจร ช่วยลดต้นทุนได้มาก
ศ.ดร.อมร กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้ BIM มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่จะนำไปใช้แบบครบวงจร เนื่องจากเห็น Cost Benefit ชัดเจน หากโครงการมีมูลค่ามาก เพราะการใช้ BIM ช่วยประหยัดต้นทุนได้มาก โดยมีโครงการในกรุงเทพฯ และเริ่มมีบ้างแล้วในต่างจังหวัด แต่ถ้าเป็นโครงการขนาดเล็กก็สามารถที่จะนำ BIM ไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยในหลายๆ เรื่อง ทำให้ให้ทราบถึงรูปแบบการก่อสร้างเสมือนจริง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก BIM ยังมีราคาสูง ทำให้โครงการขนาดเล็กมีน้อยแต่ก็เริ่มเห็นบ้างในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่านับจากนี้ประมาณ 5 ปี โครงการเล็กจะใช้ BIM เพิ่มขึ้น 30-40% ซึ่งถึงเวลานั้นน่าจะมีการผลิตบุคลากรด้าน BIM ขึ้นมารองรับด้วยเช่นกัน
เผยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ – ภาครัฐ เริ่มใช้ BIM มากขึ้น
ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐเริ่มมีการนำ BIM มาใช้บ้างแล้ว เช่น กรมธนารักษ์ นำ BIM ใช้ในการจัดการพื้นที่และทรัพย์สินที่ดูแลทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งการก่อสร้างใหม่ และอาคารที่มีอยู่เดิม โดยนำข้อมูลของอาคารเดิม มาสร้างเป็นแบบจำลอง BIM เพื่อที่จะใช้ในการจัดการทรัพย์สิน ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ เช่น การเคหะแห่งชาติ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย มีการนำ BIM ไปใช้ในโครงการต่างๆ เช่นกัน เมื่อมีความต้องการใช้ BIM มากขึ้น ก็จะมีการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับทางด้านนี้มากขึ้นตามมา
3 สมาคม ผนึกกำลังอบรมและผลิตบุคลากรด้าน BIM ปีละ 1,000 คน
สำหรับการเตรียมบุคลากรด้าน BIMศ.ดร.อมร มองว่าทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องคนไปด้วยกัน ในส่วนของสมาคมฯ พร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องการจัดหัวข้อสัมมนา BIM ที่เกี่ยวข้องให้วิศวกรเข้าร่วมอบรม ซึ่งคาดว่าใน 3 ปีจากนี้ สมาคม TBIM จะร่วมกันอบรมและผลิตบุคลากรด้าน BIM ทั้งวิศวกรและสถาปนิกได้ปีละ 500-1000 คน
ส่วนการสนับสนุนองค์ความรู้เรื่อง BIM ในหลักสูตรการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัยนั้น คาดว่าจะสามารถนำไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ เพื่อช่วยให้การเขียนแบบจากกระดาษสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติ และเมื่อนิสิตนักศึกษาออกสู่ตลาดแรงงานก็จะมีบุคลากรทางด้าน BIM เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการ เจ้าของโครงการก็จะมีโอกาสเลือกเฟ้นหาคนเข้าทำงาน BIM ได้มากขึ้น ที่สำคัญจะทำให้ราคาซอฟต์แวร์ด้าน BIM ถูกลง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกๆ รายเข้าถึงมากขึ้นด้วย
“โลกทุกวันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก แล้วไม่มีอะไรที่จะไม่เปลี่ยน เช่นเดียวกับ BIM ซึ่งอาจจะตอบยากว่า BIM จะมาช้าหรือเร็ว ดังนั้นจำเป็นจะต้องเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้ เพราะเราไม่รู้ว่า BIM จะมาเร็วขนาดไหน ต้องเรียนรู้ให้ได้และเรียนรู้ทัน ถ้าไม่เรียนรู้และไม่ปรับตัวรับสิ่งใหม่ๆ เราก็อาจจะอยู่ในระบบนี้ต่อไปไม่ได้ ถือได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณให้วิศวกรและสถาปนิกเร่งเตรียมตัวและปรับตัวรับ BIM ที่จะเข้ามาเปลี่ยนการทำงานสำหรับงานก่อสร้างในอนาคตอันใกล้นี้” ศ.ดร.อมร กล่าวทิ้งท้าย