ปูนซีเมนต์นครหลวง ผนึกพันธมิตรร่วมเก็บขยะชายหาด ปลูกต้นโกงกาง เพิ่มอากาศบริสุทธิ์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนบนโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุหนึ่งเกิดจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบนชายฝั่งเกิดจากปัญหาขยะในทะเลที่มีเป็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณริมชายหาด และใต้ท้องทะเล จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการ INSEE Green Heart Plus Club ของกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงซึ่งเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
นายมนตรี นิธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจปูนซีเมนต์ของประเทศไทย บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ ปูนอินทรี เปิดเผยว่า ปูนซีเมนต์นครหลวง ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งมั่นดำเนินงานตลอด 55 ปี ของการก่อตั้งธุรกิจในประเทศไทย ทั้งการสร้างคุณค่าด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่า และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมเก็บขยะชายหาดและปลูกป่าชายเลน ภายใต้โครงการ INSEE Green Heart Plus เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ ปูนซีเมนต์นครหลวง ให้ความสำคัญและจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยสร้างความตระหนักในการรักษาความสมดุลของธรรมชาติ ลดปริมาณขยะไม่ให้หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมผ่านการนำขยะที่ได้เข้าสู่ในกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing) และเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานเชื้อเพลิง (Refuse derived fuel : RDF) อีกทั้งมุ่งสร้างจิตสำนึกการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน
จากรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เผยข้อมูลตัวเลขขยะตกค้างชายฝั่งที่จัดเก็บส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกมากถึง 81% ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ ในปี 2564 พบในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีขยะมูลฝอย ปริมาณ 10.89 ล้านตัน จำนวนนี้เป็นขยะที่กําจัดอย่างไม่ถูกต้องมากถึง 2.66 ล้านตัน
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งให้ความสำคัญและลงมือทำ โดยกลุ่มบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง มุ่งมั่นในแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นสร้างความมีส่วนร่วมของพนักงาน และภาคีเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินงานด้านปัญหาขยะ ควบคู่ไปกับการจัดการที่ถูกต้อง ตามเป้าหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างต่อเนื่องในทุกกิจกรรมของบริษัท เพื่อสร้างความยั่งยืนในการอยู่ร่วมกันกับชุมชน สังคม และกับทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2573” นายมนตรี กล่าว
กิจกรรมเก็บขยะชายหาดและปลูกป่าชายเลน ภายใต้โครงการ INSEE Green Heart Plus ได้ดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยเป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุน และร่วมมือกันจากหลายฝ่ายจากภาครัฐและเอกชน ทั้งผู้บริหารและพนักงานจิตอาสากลุ่ม บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง พร้อมด้วยพันธมิตรจาก สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด, บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) 240 คน ลงพื้นที่เก็บขยะชายหาดบริเวณปากน้ำประแส เป็นระยะทางยาวกว่า 1.5 กิโลเมตร รวมทั้งกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะใต้ท้องทะเล นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันปลูกต้นโกงกาง 550 ต้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี ปูนซีเมนต์นครหลวง
โดยป่าชายเลนปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง เป็นพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขนาด 6,000 ไร่ นับเป็นผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคตะวันออกที่เคยถูกทำลายจากการบุกรุกของนากุ้งและการขยายตัวของชุมชนจนเป็นป่าเสื่อมโทรม ภาครัฐจึงได้ร่วมมือกับชุมชนและภาคเอกชน ทำการฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งป่าชายเลนเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในระยะตัวอ่อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหาร หลบภัย และสืบพันธุ์ให้กับสัตว์น้ำนานาชนิด การปลูกป่าชายเลนนี้จะช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง รักษาความสมดุลของระบบชายฝั่ง และระบบนิเวศใกล้เคียง และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
สำหรับขยะที่จัดเก็บจะนำมารวมกันแล้วทำการชั่งน้ำหนักในปีนี้ ได้ปริมาณรวมกว่า 862 กิโลกรัม คัดแยกเป็นขยะที่เผาไหม้ได้ประมาณ 166 กิโลกรัม โดยบริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ผู้นำด้านการให้บริการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ และการบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จะนำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ (non-recyclable) มาใช้เป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse derived fuel : RDF) โดยเข้าสู่ในกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing) ได้ซึ่งจะทำให้ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และขยะตกค้างสะสมที่อาจหลุดรอดสู่ทะเลมีปริมาณที่น้อยลง