Friday, November 22, 2024
Latest:
News

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

Daily Markets Update with Krungthai Global Markets

วันที่ 27 มีนาคม 2567

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.33 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.33 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.29 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.24-36.37 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีการเคลื่อนไหวผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังในช่วงแรกราคาทองคำปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทดสอบโซนแนวต้าน ก่อนที่จะเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องและจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กดดันให้ย่อตัวลงกลับสู่โซนแนวรับก่อนหน้าอีกครั้ง (เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางราคาทองคำกว่า 75%ในช่วงนี้) อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ก็ออกมาผสมผสาน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดย Conference Board ออกมาแย่กว่าคาด ส่วนดัชนีกิจกรรมภาคการผลิตและภาคการบริการในพื้นที่ของเฟดสาขาต่างๆ ส่วนใหญ่ก็สะท้อนการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ มากขึ้น ขณะที่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) และดัชนีราคาบ้านสหรัฐฯ นั้นปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการทยอยขายทำกำไรหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดยหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง Nvidia  -2.6% อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare ยังพอปรับตัวขึ้นบ้างและช่วยลดทอนแรงกดดันจากการขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.28%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.24% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน หลังนักวิเคราะห์เริ่มทยอยปรับคำแนะนำเป็นซื้อในหุ้นกลุ่มนี้ อาทิ BNP +2.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงขายทำกำไรบ้าง หลังดัชนี STOXX600 ได้ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง นอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาน้ำมันดิบก็มีส่วนกดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงานยุโรป อาทิ BP -1.2%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนใกล้ระดับ 4.24% โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ก็ออกมาผสมผสาน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ปลายสัปดาห์นี้ ทำให้การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งนี้ เราคงมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว โดยในส่วนของบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ เรามองว่า จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สูงกว่าระดับ 4.20% จะเปิดโอกาสในการทยอยซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวได้ ด้วย Risk-Reward ที่มีความคุ้มค่าพอสมควร

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ช่วงวันศุกร์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.0-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แรงขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ รวมถึงจังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อ ทะลุแนวต้านไปได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงกลับสู่โซนแนวรับ 2,170-2,180 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทองคำก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนทั้งแข็งค่าและอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก ทว่า บทเรียนความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสวิตฯ (SNB) ที่ผ่านมา ทำให้เรามองว่า ควรจับตา ผลการประชุมธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank) เพราะแม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะมองว่า Riksbank อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.00% แต่หากมีการลดดอกเบี้ย เซอร์ไพรส์ ตลาด หรือ มีการส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมลดดอกเบี้ยลง ก็อาจกดดันให้เงินโครนสวีเดน (SEK) ผันผวนอ่อนค่าลง และหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ (SEK มีน้ำหนักราว 4% ในการคำนวณดัชนีเงินดอลลาร์ DXY)

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคต

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในช่วงนี้ ก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในช่วงวันศุกร์ ซึ่งจะทำให้เงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัลที่ในช่วงสองวันที่ผ่านมา กราฟเงินบาทรายวัน ได้เกิดแท่งเทียนลักษณะ Spinning Top ถึงสองแท่ง สะท้อนถึงความไม่แน่ใจของผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจผันผวนอ่อนค่าไปได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมัน ทองคำ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือน ทว่า การอ่อนค่าก็อาจจำกัดและไม่น่าจะอ่อนค่าเกินแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ง่าย ขณะที่ โซนแนวรับของเงินบาทในช่วงนี้ ก็อาจยังอยู่ในช่วง 36.20-36.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยหากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยบ้าง ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสวีเดิน (Riksbank) ในช่วงราว 15.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เพราะหาก Riksbank ลดดอกเบี้ยเซอร์ไพรส์ตลาด หรือส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยที่ชัดเจน ก็อาจกดดันให้เงินโครนสวีเดน (SEK) และบรรดาสกุลเงินหลักฝั่งยุโรปผันผวนอ่อนค่าลง หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสวิตฯ (SNB)

อนึ่ง เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.20-36.50 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย