Friday, November 22, 2024
Latest:
News

รมว.คมนาคม เร่งแก้ไขปัญหาการให้บริการภาคพื้นสนามบินสุวรรณภูมิ ลดความแออัดผู้โดยสาร หวังดันสุวรรณภูมิ ติด 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุด

กรุงเทพฯ – 12 กุมภาพันธ์ 2567 : สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการให้บริการของผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ร่วมกับบริษัทผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น ผู้ประกอบการสายการบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้เชิญผู้ประกอบการสายการบิน ผู้ให้บริการภาคพื้น คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการให้บริการภาคพื้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น จำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท Bangkok Flight Services (BFS) ซึ่งที่ผ่านมาได้รับข้อร้องเรียนจากนักธุรกิจ และสายการบินว่าไม่ได้รับความสะดวกในการให้บริการภาคพื้น รวมทั้งฟังปัญหาจากทุกฝ่าย และผู้แทนสายการบินที่ใช้บริการภาคพื้นจากการบินไทย ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน พบปัญหาอุปกรณ์ที่นำมาให้บริการไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย รวมทั้งปัญหาด้านบุคลากรมีการลาออกบ่อย และบุคลากรที่เข้ามาปฏิบัติงานแทนไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน

อีกหนึ่งปัญหาที่พบ คือ หลุมจอดเครื่องบินที่มีสะพานเทียบอยู่ติดกับอาคารที่พักผู้โดยสาร (Contact Gate) มีจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากมีการซ่อมในทางขับ (Taxiway) เพื่อให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน สำหรับปัญหาหลุมจอดไม่เพียงพอ มีแนวทางการแก้ปัญหาโดยให้สายการบินไปใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 หรืออาคาร SAT-1 ซึ่งสายการบินมีความกังวลเรื่องระบบการจัดการสัมภาระ จึงได้มอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น หารือร่วมกันถึงแนวทางแก้ปัญหา และพิจารณาหาข้อสรุปในการย้ายไปใช้อาคาร SAT-1 ภายใน 2 สัปดาห์และรายงานให้กระทรวงฯ ทราบ โดยเน้นย้ำทุกเที่ยวบินต้องเข้าใช้งานหลุมจอด ปัจจุบันอาคาร SAT-1 มีเที่ยวบินใช้บริการ 82 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่ง ทอท. มีเป้าหมายผลักดันสายการบินให้ใช้บริการ เพิ่มขึ้นเป็น 200 เที่ยวบินต่อวัน โดยเพิ่มสัปดาห์ละ 25 เที่ยวบินต่อวัน ภายใน 1 เดือนจะมีการเพิ่มเที่ยวบินอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอาคาร SAT-1 จะมีหลุมจอดเพียงพอที่จะรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น

“จากนี้มีการประเมินคุณภาพการให้บริการการบินไทยเป็นรายเดือน ว่าได้ดำเนินการปรับปรุงการให้บริการและแก้ไขปัญหาอย่างไร หากไม่ปรับปรุงการให้บริการภาคพื้นดีขึ้น และกระทรวงฯ ยังได้รับเรื่องร้องเรียนด้านการให้บริการที่ไม่เพียงพอตามความต้องการของสายการบินอื่น อาจมีการยกเลิกสัญญากับการบินไทย” สุริยะ กล่าว

สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น กรณีที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัท ไม่มีความพร้อมในการให้บริการภาคพื้นได้เพียงพอ จะให้บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จํากัด (AOTGA) เข้ามาช่วยดำเนินการให้บริการภาคพื้นเป็นการชั่วคราว โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ประกอบการทั้ง 2 บริษัทก่อน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการจัดหาผู้ร่วมลงทุนบริการภาคพื้นรายใหม่ ซึ่งเป็นรายที่ 3 อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือนเมษายน ศกนี้

สุริยะ กล่าวต่อว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคนั้น การทำให้ไปถึงเป้าหมายจะต้องมีการดำเนินงานหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งคือความพร้อมของสนามบิน ระบบจัดการสัมภาระ และกระบวนการให้บริการภาคพื้นต่าง ๆ ซึ่งการเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ และการปรับปรุงการให้บริการเพิ่มประสิทธิภาพของสนามบินในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสาร จะทำให้มีเที่ยวบินมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และกลับมาอยู่ในอันดับ 20 ของสนามบินที่ดีที่สุด