Sunday, November 24, 2024
Latest:
News

การรถไฟฯ เปิดขบวนรถไฟตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรของมูลนิธิโครงการหลวง จากภาคเหนือสู่ภาคใต้

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถไฟตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้ขนส่งผลิตผลโครงการหลวง จากภาคเหนือสู่ภาคใต้ โดยมีอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และคณะผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมพิธี ณ สถานีรถไฟลำพูน จังหวัดลำพูน

เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่การรถไฟฯ ร่วมมือกับ มูลนิธิโครงการหลวง และศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการพัฒนายกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ผลิตผลทางการเกษตรโครงการหลวงให้มีประสิทธิภาพ ผ่านขบวนรถไฟตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสูง ขณะนี้การรถไฟฯมีความพร้อมที่จะเริ่มขนส่งผลผลิตทางการเกษตรของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นขบวนแรก ในวันที่ 25 มกราคม 2567 โดยเริ่มจากสถานีลำพูน จังหวัดลำพูน ไปยังสถานีบางกล่ำ จังหวัดสงขลา จำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 8 ตัน ซึ่งมีผลิตผลทางการเกษตร อาทิ ผัก ผลไม้ ดอกไม้

การขนส่งด้วยขบวนรถไฟตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสูง ถือเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ สำหรับใช้ในการจัดเก็บและขนส่งผลิตผลทางการเกษตรตามโมเดลเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยลดการเน่าเสีย ลดต้นทุนการขนส่ง และยืดอายุของผลิตผลทางการเกษตร ที่สำคัญยังสามารถติดตาม ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์แบบเรียลไทม์ จึงถือเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ นำมาสู่โอกาสการขยายตลาดของมูลนิธิในอนาคต ตลอดจนช่วยยกระดับการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรทางรางให้มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ที่สามารถเชื่อมโยงจากแหล่งวัตถุดิบไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ทั่วประเทศสอดคล้องกับนโยบายของนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ที่สนับสนุนให้การรถไฟฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งให้กับภาคการเกษตร รองรับปริมาณการขนส่งสินค้า ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

“การรถไฟฯ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงข่าย เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้า พร้อมกับขยายการให้บริการขนส่งสินค้าหลายประเภทในหลายเส้นทาง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโต ยกระดับระบบการขนส่งทางรางของไทย สู่การเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพของภูมิภาคต่อไป” เอกรัช กล่าว