News

นักวิจัยม.มหิดลสร้างนวัตกรรมแบบจำลองประเมินความเสียหายแผ่นดินไหวด้วยพหุฟิสิกส์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หากไม่ได้ “สมการเคลื่อนที่” (Equation of Motion) บรรดาตึกสูงชื่อดังระดับโลกในปัจจุบันคงไม่อาจสู้แรงสั่นสะเทือนของเหตุแผ่นดินไหว  ในเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะทำงานของศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) กล่าวถึง “แบบจำลองประเมินความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวด้วยพหุฟิสิกส์” (Multiphysics) ว่า สร้างขึ้นตามระบบกายภาพที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และนำหลายระบบมาพิจารณาพร้อมๆ กัน ทำให้ได้แบบจำลองที่มีประสิทธิภาพสูง  ช่วยประเมินความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวด้วยพหุฟิสิกส์ (Multiphysics) จะช่วยป้องกันความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวได้ผ่านการทำงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย และเชิงพาณิชย์

สำหรับหลักการออกแบบอาคารเพื่อป้องกันแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไห  ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของ “โครงสร้าง” มาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ “เสา” และ “คาน”  ซึ่งอาจกลายเป็น “จุดอ่อนแอที่สุด” ของโครงสร้างอาคารได้ เมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งหากอาคารได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม แม้ส่วนอื่นๆ ของอาคารจะได้รับความเสียหาย แต่โครงสร้างก็ยังจะคงอยู่

ปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยี “แดมเปอร์” (Damper) ซึ่งเหมือนกับการ “ติดตั้งระบบสลายพลังงาน” ให้กับอาคาร ช่วยป้องกันแรงสั่นสะเทือน สร้างความมั่นใจได้ถึงความสามารถในการช่วยลดความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างมาก

แบบจำลองประเมินความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในระดับเมืองจะทำให้เกิดการ “เตรียมความพร้อมอยู่เสมอ” เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน นอกจากนี้ ยังจะทำให้เกิดสมดุลระหว่าง “ความปลอดภัย” และ “ต้นทุน” ในการก่อสร้างอาคาร ตลอดจนสามารถต่อยอดคำนวณค่าความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในการประกอบการประกันภัยได้ต่อไปอีกด้วย

หากทุกคนตระหนักถึง “ความเสี่ยง” ที่ต้องร่วมเฝ้าระวัง การออกแบบและก่อสร้างอาคารเพื่อป้องกันเหตุแผ่นดินไหวก็เช่นกัน ไม่ว่าเหตุการณ์ในวันข้างหน้าจะเป็นเช่นไร หากทุกคน และทุกฝ่ายมีการเตรียมพร้อมที่ดี ประกอบกับมีองค์ความรู้ที่สามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้คน เชื่อว่าจะสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์ด้วยความปลอดภัย และยั่งยืนได้