Monday, November 25, 2024
Latest:
News

กทพ. จับมือ TCMA เดินหน้า ‘MISSION 2023’ นำร่อง 2 โครงการใช้ปูนลดโลกร้อน หนุนไทยลดก๊าซเรือนกระจกล้านตัน ภายในปี ’66

กรุงเทพฯ -25 เมษายน 2566: การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ กับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เพื่อขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ส่งเสริมใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทุกการก่อสร้างเครือข่ายระบบทางพิเศษ นำร่อง 2 โครงการทางพิเศษ ลดก๊าซเรือนกระจก 34,104 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุน Thailand Net Zero สู้วิกฤตเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างยั่งยืน

สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ.ตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับความปลอดภัยของผู้ใช้ทางพิเศษ ด้วยมาตรฐานระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 พร้อมนำแนวทาง Environment-Social-Governance (ESG) รวมถึงการลงทุนสีเขียว (Green Investment) การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานต่อสู้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “ระบบคมนาคมสีเขียว” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 ของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งเพื่อสนองตอบต่อนโยบายสำคัญของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่ได้ให้คำมั่นในการประชุมระดับผู้นำ COP 26

“กทพ. พร้อม Act Fast และ Act Now สนับสนุนนโยบายภาครัฐขับเคลื่อน Climate Action มุ่งสู่ Net Zero GHG Emission สำหรับการบูรณาการความร่วมมือลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง กทพ. และ TCMA ในครั้งนี้ เป็นการร่วมกันขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ในทุกงานก่อสร้างเครือข่ายระบบทางพิเศษ ตามมาตรฐานวิศวกรรมงานก่อสร้างที่กำหนด รวมทั้งยกระดับการพัฒนา กทพ. ให้เติบโตอย่างยั่งยืน” สุรเชษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ กทพ. ตั้งเป้าหมายเริ่มจาก 2 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี มูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 300,000 ตัน และ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก) ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 16,960 ล้านบาท ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 250,000 ตัน

จากทั้ง 2 โครงการ ประเมินว่า สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 34,104 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่าปลูกไม้พื้นเมืองเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 3,500,000 ต้น) นับเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในความสำเร็จของประเทศไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2566 และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

ด้านดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TMCA) กล่าวว่าประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 370 ล้านตันต่อปี สำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยอยู่ในินดับต้นๆของโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 67 ล้านตันต่อปี ดังนั้นสมาคม TMCA จึงสนับสนุนให้อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนลดโลกร้อน ซึ่งได้รับการทดสอบจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และสภาวิศวกรมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพการใช้งานทัดเทียมและสามารถใชัทดแทนปูนซีเมนต์แบบเดิม ที่สำคัญมีราคาเท่าปูนซีเมนต์แบบเดิม ที่ ดังนั้นโครงการต่างๆที่นำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้จึงไม่ต้องลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด

สมาคม TCMA พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐ Thailand Net Zero ให้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยความร่วมมือและสนับสนุนจากทุกภาคส่วน รวมถึงการเข้าใจในกลไกการทำงาน และเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งในระดับโลก ระดับนโยบายของประเทศ ระดับหน่วยงาน ระดับพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ซึ่งเป็นความตั้งใจร่วมมือกันดำเนินงาน ของภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ที่มุ่งมั่นให้เกิดผลเชิงประจักษ์ในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน

ล่าสุดสมาคมฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สะท้อนถึงความร่วมมือและการผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็งของทั้งสองหน่วยงาน ในการร่วมกันเดินหน้าสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use: IPPU) ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ในทุกโครงการก่อสร้างของ กทพ.

“TCMA ยินดีที่ กทพ. ที่เข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อน ‘MISSION 2023’ ให้บรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2566 จากนั้น ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคใหม่ที่ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจะเข้ามาเป็นปูนโครงสร้างหลักแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์แบบเดิม” ดร. ชนะ กล่าวทิ้งท้าย