Friday, November 22, 2024
Latest:
Construction

มูลนิธิรามาธิบดีฯ เดินหน้าก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี เพิ่มพื้นที่ใช้สอยของอาคารมากกว่าเดิมเกือบ 3 เท่า

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดีในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมสานต่อภารกิจแห่งการให้ผ่าน “โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี” เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับการรักษาผู้ป่วย เป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และเพิ่มศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นรองรับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของโรค ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงยกระดับวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย  โดยอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่นี้จะมีความสูง 25 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม มีขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา และมีพื้นที่ใช้สอย 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยของอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า

.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ด้วยอาคารหลักของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ใช้ให้บริการทางการแพทย์มากว่า 58 ปี ทำให้อาคารรองรับผู้ป่วย ประชาชนและอื่นๆที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์มีความแออัด ไม่สะดวก การปรับปรุงพื้นที่ค่อนข้างยากและจำกัดในการปรับปรุงเพื่อนำเทคโนโลยีระบบทางการแพทย์ต่างๆเข้ามาติดตั้งให้บริการเพิ่มเติม ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดีในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ ภายใต้ “โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี” เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับการรักษาผู้ป่วย รองรับการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ เพิ่มศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ รวมทั้งเป็นแหล่งคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นพร้อมรองรับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของโรคทั้งในปัจจุบันและอนาคต

สำหรับการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีในช่วงปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการประมาณ 2,300,000 ครั้ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผลิตนักศึกษาแพทย์ปีละ 200 คน ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่า 40-50 คน รวมถึงมีการผลิตพยาบาลปีละ 250 คน และในปี พ.ศ.2566 นี้ มีแพทย์จะเพิ่มการผลิตพยาบาลปีละ 300 คน โดยพยาบาลที่ผลิตนั้นจะเน้นพยาบาลเฉพาะทางเป็นหลัก นอกจากนี้มีการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และมีนักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์ ปีละ 40 คน ซึ่งปี พ.ศ.2566 นี้จะเพิ่มเป็นปีละ 60 คน และนักศึกษาสื่อความหมาย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงมีห้องปฏิบัติการ มีห้องวิจัยที่ทันสมัย

สำหรับอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่นี้จะมีความสูง 25 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม มีขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา และมีพื้นที่ใช้สอย 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยของอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า สามารถรองรับผู้ป่วยที่สายสิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างเต็มศักยภาพเทียบเท่าอาคารเดิม แต่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษา  โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อน ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นต้นแบบทางการรักษาให้กับโรงพยาบาลอื่นๆต่อไป ในส่วนอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีหลังเดิม จะมีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นศูนย์ตรวจร่างกาย เป็นศูนย์การแพทย์ที่ผู้ป่วยสามารถมาใช้บริการจุดเดียวและรักษาได้โดยที่ไม่ต้องเดินไปหลายๆ ห้องแต่จะรวมการบริการไว้จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย 

ศ.ดร.พญ.อติพร  อิงค์สาธิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในด้านศักยภาพของการบริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่เพิ่มขึ้นนั้นผ่านการออกแบบโดยคำนึงถึงแนวคิด “เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน” เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด  เช่น หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) จำนวน 4 ชั้น ห้องตรวจจำนวน 325 ห้อง มีศูนย์ “Imagine Center” ที่บริการตรวจด้วยเครื่อง X-ray ให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง เพื่อลดระยะเวลารอคอยการตรวจผู้ป่วยในจำนวน 826 เตียง โดยออกแบบเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว ลดความแออัด และควบคุมหรือลดการแพร่เชื้อได้ดียิ่งขึ้น ห้อง ICU จำนวน 240 เตียงจากเดิม 100 เตียง  ซึ่งออกแบบตามแนวคิด Healing Environment ให้ผู้ป่วยมองเห็น สภาพแวดล้อมภายนอก ช่วยเสริมสร้างกำลังใจและกระตุ้นให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น รองรับการเจ็บป่วยในสถานการณ์ผู้สูงอายุ ห้องผ่าตัด จำนวน 52 ห้อง รองรับการผ่าตัดโรคซับซ้อน พร้อมนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดและห้องสวนหลอดเลือดหัวใจ รองรับผู้ป่วยวิกฤตที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ 

สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธีให้ความสำคัญกับการแพทย์ศักยภาพและยกระดับคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ โดยขณะนี้ได้ออกแบบแล้วเสร็จและอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการสร้างในปี พ.ศ. 2566 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ 2571 แม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ยังขาดงบประมาณด้านการก่อสร้างอาคารประมาณ 3,000 ล้านบาท และการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่มีมูลค่าสูงประมาณ 6,000 ล้านบาท

ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นผู้ให้ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุน การให้ครั้งนี้ เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ และเพิ่มโอกาสในการรักษาทุกชีวิต