Saturday, November 23, 2024
Latest:
News

ครม.มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2565 ที่มีพล..ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ  ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม.มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว (ร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ) เพื่อให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ กับเอกชน ผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอร่วมลงทุนต่อไป ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ

                    สาระสำคัญของเรื่อง

    1.เรื่องนี้เดิมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2563 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในรูปแบบการให้เอกชนบริหารจัดการโดยให้สิทธิสัมปทาน ระยะเวลาโครงการ 30 ปี หลังจากวันที่สิ้นสุดสัญญาในฐานะที่เป็นโครงการใหม่ ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (เนื่องจากในขั้นตอนการเสนอโครงการยังอยู่ในช่วงที่พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ยังมีผลใช้บังคับอยู่) ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรม โดย กนอ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยที่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ มีความเห็นว่าไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีประมูล เนื่องจากหากมีเอกชนผู้ร่วมลงทุนรายใหม่เข้ามาดำเนินโครงการฯ แทนผู้รับสัมปทานรายเดิมจะทำให้การดำเนินโครงการฯ ขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และทำให้ภาครัฐสูญเสียประโยชน์มากกว่ากรณีให้เอกชนรายเดินดำเนินการต่อไป คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ จึงได้ดำเนินการตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โดยเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2564) ให้ความเห็นชอบให้ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโดยไม่ใช้วิธีประมูล และได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2565 ด้วยแล้ว

        2. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติดังกล่าวข้างต้น กนอ. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ จนเสร็จสิ้นแล้ว และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว โดย กนอ. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 มาใช้ประกอบการดำเนินการด้วย ซึ่งรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญไว้ในสัญญาร่วมลงทุนฯ จากนั้น กนอ. ได้ส่งร่างสัญญาร่วมทุนฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ซึ่ง กนอ. แจ้งว่า กนอ. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้ปรับแก้ไขร่างสัญญาตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความเห็นชอบต่อผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ และเงื่อนไขสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวด้วยแล้ว ในครั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนฯ เพื่อให้ กนอ. ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ กับเอกชน ผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอร่วมลงทุนต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

         3.กนอ. ยืนยันว่า ในการเจรจาเงื่อนไขสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ กับเอกชนคู่สัญญา กนอ. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้ดำเนินการตามกรอบของสาระสำคัญของโครงการฯ ที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2563 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไว้ โดย กนอ. ประมาณการว่าจะได้รับผลตอบแทนจากค่าให้สิทธิการร่วมลงทุน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านท่า ส่วนแบ่งรายได้จากการดำเนินโครงการฯ (ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 5) และค่าบริการสาธารณูปโภค รวมตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี คิดเป็นมูลค่า 20,236.68 ล้านบาท หรือเท่ากับปีละ 676.26 ล้านบาท